Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 6)

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 6)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 51 วันศุกร์ที่ 10 - วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ความขัดแย้งจีน – สหรัฐ โดยได้วิเคราะห์ความขัดแย้งทางทหารไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งทางทะเล ดังนี้

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการสายเหยี่ยวของสหรัฐชื่อ Robert Kaplan ได้เขียนบทวิเคราะห์ชื่อว่า “The Geography of Chinese Power” โดยได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีน สรุปได้ดังนี้

Kaplan มองว่า จีนกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค โดยขณะนี้ จีนมีความทะเยอทะยานและนโยบายที่ก้าวร้าว เหมือนกับที่สหรัฐเคยเป็นเมื่อศตวรรษที่แล้ว ความก้าวร้าวของจีนเกิดมาจากความต้องการพลังงานและแร่ธาตุสำคัญเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยในแคว้นซินเจียง ซึ่งมีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ทองคำ และเหล็ก รัฐบาลจีนจึงมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะครอบครองดินแดนดังกล่าว โดยใช้วิธีการส่งชาวจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน (คนพื้นเมืองที่ซินเจียงเป็นชาวเติร์ก) จีนใช้นโยบายที่อาจจะเรียกว่า นโยบายกลืนชาติ

สำหรับมองโกเลีย ก็กำลังจะถูกคุกคามจากจีนเช่นเดียวกัน จีนนั้นได้ครอบครองดินแดนที่เรียกว่า Outer Mongolia ไปแล้ว ขณะนี้ จีนต้องการที่จะครอบงำมองโกเลีย โดยเฉพาะทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในมองโกเลีย

สำหรับในบริเวณตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งอยู่เหนือจีนขึ้นไปนั้น มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล คิดเป็น 2 เท่าของทวีปยุโรป แต่มีประชากรเบาบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน นโยบายของจีนคือ การครอบงำทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านประชากร โดยการส่งคนจีนเข้าไปในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก Kaplan วิเคราะห์ว่า ทั้งนี้เพราะ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบไปด้วยรัฐเล็กๆ ที่อ่อนแอ จึงไม่สามารถต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนได้ ขณะนี้ จีนใช้อาเซียนเป็นตลาดในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีน ในขณะเดียวกัน ก็นำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากอาเซียน

สำหรับในคาบสมุทรเกาหลี จีนก็มีแผนที่จะเข้าครอบงำเช่นเดียวกัน

ที่กล่าวข้างต้น เป็นยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทางบก แต่สำหรับภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทางทะเลนั้น จีนกำลังประสบกับสภาวะแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นภัยคุกคามสูง โดยจีนมองว่า จีนกำลังถูกปิดล้อมทางทะเล ไล่มาตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ความรู้สึกถูกปิดล้อมทางทะเล จึงทำให้จีนก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคม ปี 2009 เรือรบจีนได้เผชิญหน้ากับเรือรบสหรัฐในทะเลจีนใต้

จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะรวมชาติกับไต้หวัน ซึ่ง Kaplan มองว่า หากสหรัฐทอดทิ้งไต้หวัน ก็จะทำให้พันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคหมดความเชื่อมั่นในสหรัฐ และอาจจะทำให้พันธมิตรของสหรัฐหันไปใกล้ชิดกับจีนแทน ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของจีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในตอนท้ายของบทความ Kaplan ได้เสนอว่า สหรัฐควรสร้างแสนยานุภาพทั้งทางอากาศและทางทะเลในภูมิภาค และมองว่า การผงาดขึ้นมาของจีนทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยสหรัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค

ผมมองว่า แนวคิดของ Kaplan นั้น เป็นแนวคิดของนักวิชาการสายเหยี่ยว สำนักสัจนิยม ซึ่งมองความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวคิดของ Kaplan จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางทหาร ซึ่งทางฝ่ายทหารและทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐกำลังผลักดันยุทธศาสตร์นี้อยู่

ความขัดแย้งทางทะเล
ดังนั้น ในขณะนี้ ศูนย์กลางทางความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐกับจีน จึงเป็นความขัดแย้งทางทะเลซึ่งมีอยู่หลายจุด
จุดแรกคือ ไต้หวัน ซึ่งในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า ในรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ มองว่า จีนกำลังเสริมสร้างกำลังทางทหารโดยมุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน

จุดที่สองคือ ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งในคอลัมน์ตอนที่แล้ว ก็ได้วิเคราะห์ไปแล้วเช่นเดียวกัน โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม Hillary Clinton ได้ประกาศว่า สหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ ท่าทีของสหรัฐทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจีนจึงได้ซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และสหรัฐได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับเวียดนาม

จุดที่สามคือ บริเวณทะเลเหลืองหรือ Yellow Sea ซึ่งได้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนขึ้น โดยเริ่มมาจากการที่เกาหลีเหนือจมเรือ Cheonan ของเกาหลีไต้ แต่จีนไม่ได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการลงโทษเกาหลีเหนือ จึงทำให้เกาหลีใต้ดึงสหรัฐเข้ามา โดยได้มีการซ้อมรบร่วมในคาบสมุทรเกาหลีและในทะเลเหลือง มีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington มาร่วมซ้อมรบด้วย ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก (การซ้อมรบของสหรัฐในทะเลเหลือง ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับจีนไปซ้อมรบในอ่าวเม็กซิโก) นอกจากนั้น การซ้อมรบร่วมเกาหลี-สหรัฐมีญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย

จุดที่สี่คือ มหาสมุทรอินเดีย ถึงแม้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียโดยหลักแล้ว จะเป็นการแข่งขันทางทหารระหว่างจีนกับอินเดีย แต่สหรัฐเองก็พยายามจะมีบทบาทในบริเวณดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกองทัพเรือจีนในมหาสมุทรอินเดียก็อาจจะตีความได้ว่า เป็นการตอบโต้ความเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐในทะเลจีนไต้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข่าวออกมาว่า มีเรือรบของจีน 2 ลำ ได้ไปเทียบท่าที่พม่า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรือรบจีนไปเยือนพม่า การไปเยือนพม่าเป็นเวลา 5 วันของเรือรบทั้ง 2 ถือเป็นการส่งสัญญาณการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับพม่า นอกจากนี้ ผู้นำพม่าหรือ นายพลตาน ฉ่วย ก็กำลังจะเดินทางไปเยือนจีน ในช่วงวันที่ 7 – 11 กันยายนนี้ โดยในระหว่างการเยือนจีน นายพลตาน ฉ่วย จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจีย เป่า ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: