Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังนี้

ผลการประชุม
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus (ADMM-Plus) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก ในอดีต เคยมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการประชุม ADMM-Plus ขึ้นนั้น น่าจะเป็นเพราะในภูมิภาคยังไม่มีเวทีหารือในระหว่างรัฐมนตรีกลาโหม ในอดีต มีเวที ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือเรื่องความมั่นคง แต่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่มีรัฐมนตรีกลาโหมเข้าร่วม

อีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ผมมองว่า สหรัฐคงจะไม่สบายใจที่รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มาประชุมสุมหัวรวมกันโดยไม่มีสหรัฐ ในด้านการทหารนั้น สหรัฐเน้นมากในการเป็นแกนกลางในการครอบงำและครองความเป็นเจ้าทางทหาร โดยระบบที่สหรัฐใช้มาตลอดเรียกว่า hub and spokes โดยมีสหรัฐเป็น hub และพันธมิตรทางทหารต่างๆ เป็น spokes หรือเป็นซี่ล้อ ผมเดาว่า สหรัฐคงเรียกร้องที่จะเข้ามาประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ดังนั้น จึงได้มีการหารือกันในหลายสูตร สูตรแรกน่าจะเป็น ADMM+1 แต่จะมีปัญหาว่า ถ้าจะเป็นการประชุมกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว จะดูไม่เหมาะ แต่ถ้าจะขยายออกไป ก็จะหาข้อยุติได้ยาก หากขยายออกไปเป็น ADMM+3 หรือ ADMM+6 ก็จะไม่มีสหรัฐ ซึ่งสหรัฐคงไม่ยอมแน่ ในที่สุดจึงต้องขยายออกไปเป็น ADMM+8 โดยมีสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย

สำหรับผลการประชุมนั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำความสำคัญของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม ADMM-Plus และที่ประชุมมองว่า ADMM-Plus จะเป็นกลไกสำคัญของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค

ที่ประชุมมองว่า ขณะนี้มีสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงที่มีลักษณะข้ามชาติและซับซ้อน อาทิ เรื่องภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาชญากรรมข้ามชาติ และโรคระบาด โดยที่ประชุมเน้นที่จะร่วมมือกันในการบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม สำหรับในเรื่องการก่อการร้าย ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้นประเทศสมาชิก ADMM-Plus จึงควรร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่าย และเสริมสร้างสมรรถนะในการต่อสู้กับภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย

ที่ประชุมได้ตกลงที่จะร่วมมือกันใน 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการด้านการรักษาสันติภาพ และด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้จัดตั้ง ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting–Plus (ADSOM-Plus) และให้มีการจัดตั้ง Experts’ Working Groups (EWG) หรือคณะทำงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 5 ด้าน โดยเวียดนามกับจีนได้แสดงความสนใจที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ส่วนมาเลเซียและออสเตรเลียเสนอที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านความมั่นคงทางทะเล และฟิลิปปินส์กำลังหารือกับนิวซีแลนด์ในคณะทำงานด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
ท่าทีของสหรัฐ

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ Robert Gates ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และแน่นอนในความเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่ง สหรัฐพยายามแสดงบทบาทนำในการประชุมครั้งนี้ โดยในสุนทรพจน์ของ Gates ได้เน้นว่า สหรัฐเป็นประเทศในแปซิฟิกและเป็นมหาอำนาจในเอเชีย ในอดีต สหรัฐได้เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มาโดยตลอดและจะเกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต ดังนั้น สหรัฐจะร่วมมือในการเผชิญกับสิ่งท้าทายทางด้านความมั่นคงร่วมกัน สหรัฐเน้นว่า ความสัมพันธ์ในแบบทวิภาคีจะต้องได้รับการเสริมด้วยสถาบันพหุภาคี โดย Gates ได้เน้นถึงหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาคว่าต้องประกอบด้วย การค้าเสรี ระเบียบระหว่างประเทศที่เน้นสิทธิและความรับผิดชอบของประเทศต่างๆ เสรีภาพในการเข้าถึงน่านน้ำและน่านฟ้าสากล รวมถึงหลักการในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลัง สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่สำคัญคือ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด การแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งทางพรมแดน การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

ท่าทีของจีน
ประเทศมหาอำนาจอีกประเทศที่ถูกจับตามองคือ จีน ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จีนได้พยายามที่จะลดกระแสความตื่นตระหนกของประเทศในภูมิภาคอันเกิดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายคู่กรณี โดยเฉพาะกับสหรัฐในเรื่องเกาหลีเหนือ ทะเลเหลือง และทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะ Sensaku/Diaoyu ในสุนทรพจน์ของนายพล Liang Guanglie รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ได้พยายามที่จะลดกระแสความตึงเครียดในภูมิภาค โดยให้หลักประกันต่อประเทศในภูมิภาคว่า จีนพร้อมที่จะร่วมมือ โดยนายพล Liang ได้กล่าวย้ำว่า จีนมีนโยบายป้องกันประเทศที่มีลักษณะเป็นนโยบายในเชิงรับ การพัฒนาทางทหารของจีนก็ไม่ได้ที่จะไปคุกคามประเทศใด และจีนต้องการที่จะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
แต่เรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นมา เมื่อ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้จุดประเด็นในเรื่องนี้ในระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งท่าทีของสหรัฐที่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ทำให้จีนไม่พอใจมาก จีนจึงได้ประกาศซ้อมรบและประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า หมู่เกาะ สแปรตลีย์เป็นของจีน ซึ่งก็ได้ทำให้สหรัฐรีบจับมือกับเวียดนามและเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทำให้บรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคตึงเครียดขึ้นมา

ในเอกสารผลการประชุม ADMM-Plus ได้มีการกล่าวว่า บางประเทศได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และที่ประชุมยินดีต่อความพยายามของฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ในสุนทรพจน์ของรัฐมนตีรกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า สหรัฐไม่ได้เข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน แต่ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขอย่างสันติวิธี และยินดีที่จะได้มีการหารือกันในการจัดทำ Code of Conduct สหรัฐสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบพหุภาคี และพร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว จุดยืนของสหรัฐในเรื่องนี้ชัดเจนคือ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินเรือ ดังนั้นสหรัฐจึงมีพันธกรณีที่จะปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรในเรื่องนี้
แต่ในส่วนของจีนนั้น รัฐมนตรีกลาโหมของจีนได้กล่าวไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหรัฐ โดยบอกว่า ความขัดแย้งไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขในแบบพหุภาคี โดยทางจีนมองว่า ADMM-Plus น่าจะร่วมมือกันในประเด็นปัญหาที่ไม่ละเอียดอ่อน

จีนพยายามที่จะไม่ให้เอาเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เข้าสู่ที่ประชุม แต่ก็มีหลายประเทศที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศอาเซียนอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: