Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ASEAN Connectivity
ไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity หรือแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียน ที่มาของแนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity นี้ เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทย เมื่อปลายปี 2009 โดยมองว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 นั้น ประชาคมอาเซียนจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ใน Master Plan ได้มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ สำหรับช่วงปี 2011 ถึง 2015 เพื่อเชื่อมอาเซียนใน 3 ด้าน ด้านแรกเรียกว่า physical connectivity คือการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ ด้านที่ 2 institutional connectivity เป็นการเชื่อมโยงกันทางสถาบัน และด้านที่ 3 people-to-people connectivity คือการเชื่อมโยงกันในระดับประชาชน

สำหรับในด้าน physical connectivity นั้น อุปสรรคสำคัญคือ เส้นทางคมนาคม เครือข่ายถนนที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงเส้นทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่าเรือและสนามบิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสารสนเทศด้วย ดังนั้น ในแผนแม่บทจึงได้มีมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นในเรื่องของการจัดสร้างระบบคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สำหรับโครงการสำคัญคือ การจัดทำเครือข่าย ASEAN Highway Network และการจัดทำเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ถึงคุนหมิง

สำหรับในด้าน institutional connectivity นั้น มีอุปสรรคในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน อาเซียนจึงจะต้องมีการจัดการกับอุปสรรคที่มิใช่ภาษี และจัดทำข้อตกลงในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการขนส่ง ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่า physical connectivity นั้น เน้นในเรื่องของ hard infrastructure ส่วน institutional connectivity นั้นเน้น soft infrastructure

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การจัดทำ Master Plan ในครั้งนี้ ถือเป็นความคืบหน้าและเป็นความสำเร็จในการเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 และถือเป็นไฮไลท์และความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ ถ้าผมจำไม่ผิด ไทยเป็นคนที่ริเริ่มและผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้ตอกย้ำ การที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเน้นดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ด้าน ด้านแรกคือ การเร่งบูรณาการของอาเซียน เพื่อที่จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนมีความเข้มข้น และอาเซียนจะได้เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมได้ ด้านที่ 2 เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคในกรอบต่างๆ ทั้งอาเซียน+1 อาเซียน+3 EAS ARF และ ADMM Plus

สำหรับในกรอบอาเซียน+1 นั้น ในการประชุมครั้งนี้ มีความสำเร็จและความคืบหน้าหลายด้านกับประเทศคู่เจรจา โดยได้มีการประชุมสุดยอดและข้อตกลงหลายเรื่องกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่

• ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียขึ้น ในวันที่ 30 ตุลาคม
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนนั้น ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแปลงปฏิญญาร่วมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะครอบคลุมช่วงปี 2011-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ สำหรับหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย สำหรับปี 2010-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น มีการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับปฏิญญาโตเกียวในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย นอกจากนั้น ได้มีการจัดประชุม Mekong-Japan Summit เป็นครั้งที่ 2 ด้วย
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี มีการจัดทำปฏิญญาร่วมการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
• ในวันที่ 30 ตุลาคม ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2
• ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 2 ที่มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก เมื่อปลายเดือนกันยายน

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 นั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำว่า อาเซียน+3 จะยังคงเป็นกลไกหลักในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเป็นเป้าหมายระยะยาว

สำหรับในกรอบการประชุม East Asia Summit หรือ EAS นั้น ที่ประชุมได้เชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAS อย่างเป็นทางการ โดยในการประชุมครั้งนี้ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เข้าร่วมประชุม EAS ด้วย
ผมมองว่า จากการประชุมครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า อาเซียนได้เดินหน้าในการที่จะผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยได้มีความเคลื่อนไหวและความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียน+1 อาเซียน+3 และ EAS

ปัญหาพม่า
ปัญหาพม่าเป็นประเด็นร้อนทุกครั้งในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ ก็ให้ความสนใจว่า อาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรต่อการที่พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เมื่อดูจากเอกสารผลการประชุม พอคาดเดาได้ว่า อาเซียนคงจะมีถ้อยคำที่ประนีประนอม ซึ่งผลการประชุมก็ออกมาในทำนองนี้ คือ อาเซียนยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าที่จะให้มีการเลือกตั้ง และขอให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเน้นว่า พม่าควรจะร่วมมือกับอาเซียนและ UN ต่อไป จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำของเอกสารการประชุม ภาษาที่ใช้ค่อนข้างจะอ่อนมาก และไม่ได้มีการกดดันพม่าแต่อย่างใด

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในการประชุมครั้งนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือหมู่เกาะ สแปรตลีย์ ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นมา ในช่วงเดือนกรกฎาคมในการประชุม ASEAN Regional Forum โดยสหรัฐได้เป็นคนจุดชนวนประเด็นนี้ขึ้นมา และทำให้จีนไม่พอใจประกาศซ้อมรบและทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของฝ่ายต่างๆ คือ ต้องการที่จะลดความตึงเครียดในเรื่องนี้ลง และพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเจรจา ในเอกสารผลการประชุม อาเซียนได้ตอกย้ำความสำคัญของปฏิญญาในการแก้ปัญหานี้ ระหว่างอาเซียนกับจีน ที่ได้ลงนามกันไปเมื่อปี 2002 และอาเซียนหวังว่า ทุกฝ่ายจะยึดมั่นในปฏิญญาดังกล่าว และเดินหน้าสู่การจัดทำ code of conduct ในการแก้ไขปัญหานี้ อาเซียนรู้สึกยินดีต่อแนวโน้มในทางบวกระหว่างอาเซียนกับจีน เพราะกำลังจะมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับจีนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอด EAS Hillary Clinton ได้เดินหน้าต่อ ในการจุดประเด็นความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดย Clintonได้ย้ำว่า ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ และเมื่อเกิดความขัดแย้งในเรื่องนี้ สหรัฐก็มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธีด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม Clinton ได้กล่าวในเชิงบวกว่า เห็นด้วยที่จีนกำลังจะเจรจากับอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจา code of conduct และสหรัฐก็ได้แสดงจุดยืนว่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองว่า สหรัฐยังคงพยายามเดินหน้าเปิดประเด็นในเรื่องนี้ต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นจุดอ่อนของจีน และจะเป็นจุดที่สหรัฐจะเข้ามาเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการปิดล้อมจีน อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้ว อาเซียนก็ไม่อยากให้ปัญหานี้บานปลาย ต้องการให้ความตึงเครียดลดลง จีนเองก็คงไม่อยากจะให้เกิดความตึงเครียดมากไปกว่านี้ จึงยอมที่จะกลับมาเจรจากับอาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น: