Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนจบ)

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2553 - วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่า ผมจะสรุปเหตุการณ์สถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะเลือกมา 10 เรื่อง และจัดอันดับเป็นสถานการณ์โลก Top 10 สิบเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด โดยหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับคือ จะวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ใด จะมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุด ตอนที่แล้วได้สรุปอันดับที่ 6-10 ไปแล้ว ตอนนี้จะมาสรุปต่อ ตั้งแต่อันดับที่ 5 จนถึงอันดับ 1

อันดับที่ 5 การประชุม UN เรื่อง MDG
เมื่อปี 2000 ได้มีการประชุมที่เรียกว่า Millennium Summit ที่ UN และได้มีการจัดทำ Millennium Development Goals หรือ MDG ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายช่วยเหลือประเทศยากจน ภายในปี 2015
สำหรับการประชุมสุดยอดของ UN เรื่อง MDG ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน โดยได้มีการประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายต่างๆ และมีการกำหนดมาตรการเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย MDG ผมมองว่า เรื่องการประชุม MDG ในครั้งนี้ และผลการประชุม ถือเป็นข่าวดีเพียงเรื่องเดียวใน 10 เรื่องทั้งหมด คือ เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อคนในโลกในทางบวก แต่อีก 9 เรื่อง มีผลกระทบต่อโลกในทางลบทั้งสิ้น
•การแก้ปัญหาความยากจน : MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะลดจำนวนคนจนและคนอดอยากหิวโหยลงให้ได้ครึ่งหนึ่งจากจำนวนของปี 1990 โดยในปี 2005 มีคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน อยู่ประมาณ 1,400 ล้านคน แต่ในปี 2015 จะลดลงเหลือ 920 ล้านคน การประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ธนาคารโลกได้ประกาศเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ประเทศยากจน เป็นเงิน 6,000-8,000 ล้านเหรียญต่อปี ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า
•การศึกษาขั้นประถม : MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะทำให้เด็กทุกคนในโลกมีการศึกษาอย่างน้อยขั้นประถม ในปี 2000 มีเด็กที่มีการศึกษาขั้นประถมในอัฟริกา จำนวน 58% แต่ในปี 2007 เพิ่มขึ้นเป็น 74% แต่คงเป็นสิ่งยากมากที่จะบรรลุเป้าหมาย MDG และในการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ธนาคารโลกประกาศให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานในอัฟริกาเพิ่มขึ้นอีก 750 ล้านเหรียญ
•สุขภาพของมารดาและเด็ก : MDG ตั้งเป้าว่า จะลดจำนวนการเสียชีวิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ให้ได้ 2 ใน 3 และลดจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากการคลอดบุตร ให้ลดลง 3 ใน 4 ภายในปี 2015 ในการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์สุขภาพอนามัยของผู้หญิงและเด็ก เป็นเงิน 4 หมื่นล้านเหรียญภายใน 5 ปีข้างหน้า เงินช่วยเหลือดังกล่าว จะสามารถช่วยชีวิตผู้หญิงเละเด็กได้จำนวน 16 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ผมประเมินว่า การบรรลุเป้าหมาย MDG ในปี 2015 ยังคงเป็นเรื่องยากมาก ทั้งนี้เพราะ ประเทศร่ำรวยไม่ได้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประเทศยากจน มาตรการส่วนใหญ่ของการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ก็เป็นเงินช่วยเหลือเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่คงจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย MDG ได้

อันดับที่ 4 การเจรจาภาวะโลกร้อน
ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลก แต่การประชุมที่โคเปนเฮเกน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ประสบความล้มเหลว มี 4 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรกคือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2012 ออกไป แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่สองคือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนต้องการให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศา แต่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่สามคือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 ส่วนประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซ และเรื่องที่สี่คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยต้องช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่าย 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยไม่ยอมรับเป้าดังกล่าว
สำหรับในปีนี้ ได้มีการประชุมภาวะโลกร้อนที่เมือง Cancun ประเทศเม็กซิโก ในช่วงต้นเดือนธันวาคม การประชุมก็จบลงด้วยความล้มเหลวอีกครั้ง ถึงแม้จะมีการจัดตั้ง Green Climate Fund ในวงเงิน 1 แสนล้านเหรียญต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน แต่จำนวนเงินดังกล่าว ก็น้อยกว่าที่ประเทศยากจนเรียกร้องคือ 1% ของ GDP ของประเทศร่ำรวย และสำหรับในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่มีความคืบหน้าใดใด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อตกลง แม้ว่าประเทศยากจนจะพยายามผลักดันการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่ยอม การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกก็ยังตกลงกันไม่ได้ สำหรับการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจกนั้น กลายเป็นถอยหลังลงคลอง เพราะจาก Copenhagen Accord กลายเป็นว่า แต่ละประเทศไปกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจกกันเอาเอง ตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ด้วยหลักของความสมัครใจ แทนที่จะเป็นการตั้งระดับที่จะใช้กับทุกประเทศ เหมือนกับพิธีสารเกียวโต ความล้มเหลวของการประชุมที่ Cancun สาเหตุหลักมาจาก แต่ละประเทศมองในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ จุดยืนของทุกประเทศจึงเหมือนกันหมด คือ พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบน้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด

อันดับที่ 3 Wikileaks
ข่าวการรั่วไหลข้อมูลลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางเวปไซท์ชื่อ Wikileaks กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการทูตโลก วงการทูตโลกก็ปั่นป่วนไปหมด เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อโลก เป็นอันดับ 3
โดยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม Wikileaks ได้เปิดเผยว่า มีไฟล์ข้อมูลลับ 250,000 ไฟล์ ซึ่งเป็นไฟล์โทรเลขรายงานข้อมูลลับของสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1966 ถึง ปี 2010 โดยหลังจากได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง Hillary Clinton บอกว่า ขอประณามการเปิดเผยข้อมูลลับอย่างผิดกฎหมาย การกระทำดังกล่าว ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ถือเป็นการโจมตีสหรัฐฯ และเป็นการโจมตีต่อประชาคมโลกด้วย
จากการเปิดเผยข้อมูลลับของ Wikileaks ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการทูตและการเมืองโลก มีข้อมูลหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น Wikileaks ได้เปิดเผยถึงการที่สหรัฐฯ พยายามเข้าไปแทรกแซงในเรื่องนิวเคลียร์ของปากีสถาน ทำให้ในอนาคต สหรัฐฯ คงจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการเจรจากับปากีสถาน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในกรณีของเยเมน ที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ ที่รัฐบาลเยเมนสนับสนุนให้สหรัฐฯ โจมตีขบวนการก่อการร้ายในประเทศ นอกจากนั้น ข้อมูลลับยังได้เปิดเผยถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียๆ หายๆ จากนักการทูตสหรัฐฯ ต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในกรณีของอิหร่าน ข้อมูลลับได้เปิดเผยว่า ผู้นำอาหรับหลายประเทศได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ โจมตีอิหร่าน เพื่อยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น ผลกระทบในระยะยาวคือ ในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะระมัดระวัง โดยเฉพาะการเปิดเผยความลับให้กับนักการทูตสหรัฐฯ ฟัง นอกจากนี้ นักการทูตสหรัฐฯ เอง ก็คงจะระมัดระวังและไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในกรณี Wikileaks ในครั้งนี้ คงเป็นสัญญาณเตือนนักการทูตทั่วโลก โดยในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ คงจะระมัดระวังเป็นพิเศษในการติดต่อสื่อการกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความลับ

อันดับที่ 2 สงครามค่าเงิน
สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อโลกเป็นอันดับ 2 คือ เรื่องสงครามค่าเงิน ซึ่งพัวพันไปกับวิกฤติของระบบการเงินโลก เรื่องหลักคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในเรื่องค่าเงินหยวน โดยสหรัฐฯ มองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก
ในช่วงปีนี้ สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการในการกดดันจีนอย่างหนัก โดยขู่ว่า จะประกาศให้จีนเป็น currency manipulator หรือ รัฐบาลที่มีการแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อเดือนกันยายน สภาคองเกรส ได้มีมติรับร่างกฎหมายที่จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้จีน โดยมองว่า การแทรกแซงค่าเงินของจีนนั้น ถือเป็นมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ ในการกดดันจีน โดยเฉพาะจาก EU และมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และกดดันทั้งในการประชุม IMF และ G20 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ความขัดแย้งดังกล่าวได้กลายเป็นสงครามค่าเงิน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบค่าเงินโลก โดยหลายประเทศมีแนวโน้มจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้า และมีมาตรการแทรกแซงค่าเงินของตนเลียนแบบจีน ระบบการเงินโลกก็ปั่นป่วน นำไปสู่การเกิดวิกฤติการเงิน ในยุโรปหลายประเทศ นอกจากนี้ สงครามค่าเงินได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เงินทุนโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป ไหลทะลักเข้าสู่เศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่า จะทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ไทยก็ได้รับผลกระทบ โดยค่าเงินบาทได้เพิ่มค่าสูงขึ้นมาก และมีการไหลทะลักของเงินทุนต่างชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่า การจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในระดับโลก จะเป็นหนทางในการป้องกันการทะลักการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในไทยได้

อันดับที่ 1 การผงาดขึ้นมาของจีน
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญอันดับ 1 ในปีนี้ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับมหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ อย่างหนัก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวม เข้าทำนองช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในปีนี้ ได้เข้าสู่จุดวิกฤติ โดยได้เกิดความขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม ที่บริษัท Google ได้ประกาศถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่า ถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ ทั้ง Clinton และ Obama ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ต่อมาเมื่อปลายเดือนมกราคม ได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จากการที่รัฐบาล Obama ประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน มูลค่า 6,000 ล้านเหรียญ รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง และประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทหาร และประกาศคว่ำบาตรบริษัทที่ขายอาวุธให้กับไต้หวัน โดยเฉพาะบริษัท Boeing และความสัมพันธ์ได้เสื่อมโทรมลงไปอีก หลังจากที่ Obama ได้พบกับ Dalai Lama ที่ทำเนียบขาว ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลจีนได้โจมตีรัฐบาล Obama อย่างรุนแรง โดยบอกว่า การพบปะดังกล่าว เป็นแทรกแซงกิจการภายในของจีน และได้ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวจีนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ จีนโจมตีสหรัฐฯ ว่ามีมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น จีนเป็นเหยื่อของมาตรการที่ไม่เป็นธรรม สงครามการค้าก็เกิดขึ้น และสงครามค่าเงินก็ได้เกิดขึ้นตามมา ซึ่งผมได้วิเคราะห์ไปแล้ว (อันดับที่ 2)
นอกจากนี้ จีนยังขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในปัญหาสำคัญของโลกหลายเรื่อง เช่น เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่า จีนไม่ให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกับเรื่องพม่า (อันดับที่ 7) และเกาหลีเหนือ (อันดับที่ 6) นอกจากนี้ การผงาดขึ้นมาของจีนและพฤติกรรมที่แข็งกร้าวเพิ่มขึ้นของจีน ยังได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาของโลกและปัญหาในภูมิภาคอีกหลายเรื่องที่ผมได้วิเคราะห์ไปแล้ว อาทิ เรื่องการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (อันดับที่ 9) ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ (อันดับที่ 10) จีนได้ขัดแย้งกับญี่ปุ่น ในกรณี เกาะ Diaoyu หรือ Sensaku และความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดียก็ปะทุขึ้นในปีนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: