Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 31 ธันวาคม 2553

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2554 ซึ่งน่าจะมีเรื่องที่จะต้องจับตามองอยู่ 5 เรื่อง ดังนี้

การผงาดขึ้นมาของจีน
สำหรับในปี 2554 ผมคิดว่า เรื่องที่น่าจะส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุดคือ การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับมหาอำนาจต่างๆ

ในปี 2554 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่จุดวิกฤติ โดยในปีนี้ ก็ขัดแย้งกันหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่อง Google ถอนตัวออกจากจีน การขายอาวุธให้กับไต้หวัน การที่โอบามา พบกับ ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เสื่อมโทรมลง กลายเป็นสงครามการค้าและสงครามค่าเงิน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมองว่า จีนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน พม่า เกาหลีเหนือ เรื่องรางวัลโนเบลสันติภาพ และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และในทะเลเหลือง

ในปี 2554 ความขัดแย้งน่าจะยังคงยืดเยื้อบานปลายต่อไป โดยอาจขยายตัวขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกันคือ การผงาดขึ้นมาของจีน ในอนาคตจีนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในขณะที่จีนผงาดขึ้นมา อำนาจของสหรัฐฯ ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ สหรัฐฯ กำลังกลัวว่าจีนจะมาแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกจากตนไป ในขณะที่จีน ก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต ทำให้จีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ มากขึ้น ปัจจัยนี้ จึงจะทำให้จีนกับสหรัฐฯ จะยังคงขัดแย้งกันไปอีกนาน และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในปีหน้า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็อาจจะทรุดหนักลงเช่นเดียวกัน เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปีนี้ ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยประเด็นความขัดแย้ง เป็นการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Sensaku ส่วนจีนเรียกว่า Diaoyu โดยสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งคือ การแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการปิดล้อมจีน

ในปี 2554 มีแนวโน้มว่า จีนกับอินเดียก็จะมีความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น โดยจีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด สองประเทศมีลักษณะเป็นคู่แข่งกันและกำลังจะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความขัดแย้งจะลามไปในหลายมิติ ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางพรมแดน ความขัดแย้งในมหาสมุทรอินเดีย และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ

จุดอันตรายอีกจุดหนึ่ง สำหรับในปีหน้าคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือ หมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งอาจลุกลามใหญ่โตกลายเป็นสงครามในอนาคตได้

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งในปีนี้ ถูกจุดชนวนด้วยการให้รางวัลโนเบลสันติภาพ แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจีน ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ทำให้จีนตกเป็นเป้าในแง่ลบในสายตาประชาคมโลก ทำให้ประชาคมโลกหันมามองเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน และกลายเป็นภาพลบที่สุดของจีน ในปีหน้า มีแนวโน้มว่า ตะวันตกคงจะใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนโจมตีจีนอย่างต่อเนื่อง และเราคงต้องจับตามองกันต่อว่า ในปีหน้า พัฒนาทางการเมืองของจีน โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในอนาคต การทูตจีนทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี คงต้องเผชิญกับการหยิบยกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือ รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ คงจะถูกกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว Liu Xiaobo ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นขัดแย้งหนักในปีหน้าก็ได้

ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะขายไอเดียเรื่อง การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในหลายๆ เรื่อง ได้ทำลายภาพลักษณ์ของจีน โดยเฉพาะสโลแกนเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก พฤติกรรมของจีนได้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของจีน เริ่มหวั่นวิตกถึงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้นของจีน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน ซึ่งเราน่าจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปีหน้านี้ โดยญี่ปุ่นได้ประกาศว่า จีนจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และญี่ปุ่นกำลังจะปรับนโยบายการป้องกันประเทศใหม่ ส่วนสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ก็มีแนวโน้มจะไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อที่จะให้สหรัฐฯ มาถ่วงดุลทางทหารกับจีน และเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงต่อภัยคุกคามจากจีนในอนาคต

สงครามค่าเงิน

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โลก เรื่องที่น่าจะมีความสำคัญเป็นอันดับสองในปีหน้าคือ สงครามค่าเงิน ซึ่งพัวพันกับวิกฤติการเงินโลก เรื่องหลักคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเรื่องค่าเงินหยวน ในปีนี้ สหรัฐฯ ได้กดดันจีนอย่างหนัก โดยขู่ว่าจะประกาศให้จีนเป็น currency manipulator สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้จีน สหรัฐฯ พยายามหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ ในการกดดันจีน ทั้งใน IMF และ G 20 แต่ก็ไม่สำเร็จ

แต่ในปีหน้า สหรัฐฯ น่าจะยังคงเดินหน้ากดดันจีนต่อไป และอาจจะมีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น สงครามค่าเงินได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ซึ่งน่าจะทอดยาวขยายตัวยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า ปี 2554 เราอาจจะเห็นประเทศต่างๆ เพิ่มมาตรการปกป้องทางการค้ามากขึ้น และมีมาตรการแทรกแซงค่าเงินของตนเลียนแบบจีนมากขึ้น ระบบการเงินโลกยังน่าจะอยู่ในสภาวะปั่นป่วน โดยเฉพาะวิกฤติการเงินในยุโรป และปัญหาการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่เศรษฐกิจเกิดใหม่ อาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นได้

ภาวะโลกร้อน

เรื่องที่สามคือ ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลกต่อไปอีกนาน แต่ในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ การประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนของ UN ก็ประสบความล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง คือ ทั้งที่โคเปนเฮเกน และที่แคนคูน

ปีหน้า จะมีการประชุมใหญ่ที่อัฟริกาใต้ในช่วงปลายปี แต่ความหวังที่การประชุมจะประสบความสำเร็จก็น้อยเต็มที ทั้งนี้เพราะมี 4 เรื่องใหญ่ที่น่าจะยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรกคือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่สอง ประเทศยากจนต้องการกำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1 องศา แต่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่สาม ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซ เรื่องที่สี่ ประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินให้กับประเทศยากจน 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยไม่ยอมรับเป้าหมายดังกล่าว ผมคาดการณ์ว่า การประชุมที่อัฟริกาใต้ ปลายปีหน้า ก็คงจะล้มเหลวอีก สาเหตุหลัก มาจากแต่ละประเทศมองในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ จุดยืนของทุกประเทศก็เหมือนกันหมดคือ พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบน้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด

เกาหลีเหนือ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โลกปีหน้า อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ เมื่อตอนเดือนพฤศจิกายน เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ถล่มฐานทัพทางทหารของเกาหลีใต้รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนที่เกาะ Yeonpyeong ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 1953 ที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่สู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือน ดังนั้น คำถามสำคัญในปีหน้าคือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีจะลุกลามใหญ่โตเป็นสงครามเกาหลีครั้งใหม่หรือไม่ คำตอบของผมคือ สงครามเกาหลีครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพราะทั้ง 2 เกาหลีรู้ดีว่า หากเกิดสงคราม ทั้ง 2 ประเทศจะประสบกับหายนะ และแหลกลาญกันไปทั้ง 2 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ในปี 2554 ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีน่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้เพราะการเจรจาไม่สามารถหาสูตรที่ลงตัวได้ คือ เกาหลีเหนือต้องการเจรจากับสหรัฐฯ โดยต้องการสนธิสัญญาสันติภาพ และหลักประกันความมั่นคงว่า จะไม่โจมตีหรือโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขว่า จะเจรจาก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ไม่มีทางยอม ดังนั้นวิกฤติในคาบสมุทรเกาหลีคงจะมีต่อไป โดยเป็นไปได้ว่า ขั้นต่อไปของเกาหลีเหนือเพื่อกดดันและเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ คือ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 การทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจมีการโจมตีเกาหลีใต้ครั้งใหม่ก็เป็นไปได้

พม่า

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่จะต้องจับตามองในปีหน้าคือ สถานการณ์ในพม่า ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง คือ การเมืองภายหลังการเลือกตั้ง บทบาทของออง ซาน ซูจี และข้อกล่าวหาเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

หลังจากถูกกดดันจากนานาชาติมานาน รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงถึง 80% คือ พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้น ผู้นำทหารหลายคนลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของพรรค เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็คงจะเป็นรัฐบาลทหารเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดทหารมาเป็นชุดพลเรือนเท่านั้น และในขณะที่ทั่วโลกกำลังวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งในพม่า รัฐบาลทหารก็ใช้ยุทธศาสตร์ที่แยบยลเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ภายหลังการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

ดังนั้น ในปีหน้านี้ คำถามสำคัญคือ แนวโน้มอนาคตการเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมมองว่า รัฐบาลใหม่ของพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ก็มีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้น ในปีหน้า กระแสต่อต้าน การกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรน่าจะลดลง

ส่วนอีกประเด็นคือ บทบาทของออง ซาน ซูจี ในอนาคต ยังมีความไม่แน่นอนว่า นางจะมีบทบาทต่อไปอย่างไร แต่การที่รัฐบาลทหารพม่ายอมปล่อยตัวนางออกมา เพราะรัฐบาลมองว่า นางจะไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไป ถึงแม้ ซูจี จะตอกย้ำว่า จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป แต่มีคำถามหลายคำถามว่า นางจะทำได้หรือไม่ แผนที่จะหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ กว่า 30 พรรค อาจจะไม่สำเร็จ รัฐบาลทหารพม่าคงจะจับตามองความเคลื่อนไหวของซูจี อย่างใกล้ชิด และคงจะไม่ปล่อยให้นางมีอิสระเสรีภาพให้นางทำอะไรได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การปล่อยตัว ซูจี ในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อการเมืองพม่า

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องจับตามองในปีหน้าคือ ข้อสงสัยว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และการที่เกาหลีเหนือได้แอบช่วยพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากหลายแหล่งข่าว แต่โดยสรุปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้คือ กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยจะต้องมีกลไกในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งอาจจะเป็น IAEA เพราะหากพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดกับพม่า ซึ่งล่าสุด ได้มีข่าวว่า ทาง IAEA ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลพม่า เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบในเรื่องโรงงานนิวเคลียร์แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่า รัฐบาลพม่าจะยอมให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ เราคงจะต้องจับตาติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปในปีหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: