Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

สงครามลิเบีย (ตอนที่ 2)

สงครามลิเบีย (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 1 – วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2554

สงครามลิเบีย ได้ผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่า จะจบลงได้อย่างไร แนวโน้ม
ขณะนี้ คือ น่าจะกลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของตะวันตก และจะทำให้สงครามยืดเยื้อ คือ ความแตกแยกระหว่างประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ท่าทีของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสงครามลิเบีย ดังนี้

• ฝรั่งเศส : ซึ่งเป็นประเทศตะวันตกที่มีบทบาทมากที่สุดมาตั้งแต่แรก ฝรั่งเศสได้สนับสนุน
อย่างเต็มที่ ที่จะให้มีการแทรกแซงทางทหารเพื่อล้มรัฐบาล Gaddafi มีบทบาทสำคัญในการชักชวนให้สันนิบาตอาหรับสนับสนุนข้อเสนอเขตห้ามบินของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสก็เป็นประเทศแรก ที่ยิงกระสุนนัดแรกโจมตีลิเบีย ในวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นการเปิดฉากสงครามลิเบีย และเล่นบทชัดเจนในความพยายามเป็นผู้นำในสงครามครั้งนี้

นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองรัฐบาลของฝ่ายกบฏ ซึ่งมีชื่อว่า Libya
Interim Transitional National Council หรือที่เรียกสั้นๆว่า Interim Governing Council โดยสาเหตุหลักที่ฝรั่งเศสพยายามออกมาเล่นบทเป็นพระเอกในสงครามครั้งนี้ ก็เพราะ ยุทธศาสตร์ซ่อนเร้น ที่ฝรั่งเศสมีความทะเยอทะยานที่จะกลับมาเป็นมหาอำนาจที่เคยโดดเด่นในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งเศสมีเป้าหมายที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน

• อังกฤษ : ซึ่งร่วมมือกับฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด โดยนายกรัฐมนตรี David Cameron ได้ประกาศ
ต่อสภา ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า ได้ขอให้ฝ่ายทหารจัดทำแผนการเขตห้ามบินเหนือลิเบีย และได้ร่วมกับฝรั่งเศสในการเสนอข้อมติ UNSC ที่ 1973 ประกาศเขตห้ามบิน และอนุมัติให้มีการใช้กำลังทางทหารต่อลิเบีย Cameron มีบทบาทสำคัญในการหว่านล้อมให้สหรัฐฯเข้าร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศส โดยเมื่อเกิดสงคราม อังกฤษมีบทบาทอย่างมาก ทั้งในการใช้เรือดำน้ำยิงขีปนาวุธ และใช้เครื่องบินรบโจมตีกองกำลังของ Gaddafi

• สหรัฐฯ : ภายในรัฐบาล Obama มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งต้องการโค่น
Gaddafi แต่อีกฝ่ายไม่ต้องการให้สหรัฐฯก่อสงครามในโลกมุสลิมอีก โดยฝ่ายที่ต้องการให้สหรัฐฯเข้าร่วมกับอังกฤษ และฝรั่งเศส ตัวแสดงสำคัญ คือ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมี Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เป็นตัวหลัก มองว่า การประกาศเขตห้ามบิน ในที่สุด จะนำสหรัฐฯถลำลึกเข้าสู่สงครามยืดเยื้อ เหมือนกับสงครามในอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก อย่างไรก็ตาม ในที่สุด Obama ได้ตัดสินใจสนับสนุนแนวคิดของฝ่ายแรก คือ การเข้าร่วมกับอังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ก็ยังกังวลว่า สงครามจะยืดเยื้อ จึงประกาศจะไม่เป็นผู้นำในสงครามครั้งนี้ โดยให้ฝรั่งเศสและอังกฤษ เล่นบทเป็นพระเอกแทน สหรัฐฯจะพยายามเกี่ยวข้องกับสงครามให้น้อยที่สุด Obama ประกาศจะไม่ส่งกองกำลังทหารบกเข้าไปในลิเบีย

ดังนั้น เป้าหมายของสหรัฐฯ จึงแตกต่างจากเป้าหมายของฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล Gaddafi โดยเป้าหมายของสหรัฐฯ คือ ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งกับสงครามอย่างเต็มตัว แม้ว่า ในตอนแรก สหรัฐฯจำเป็นต้องเล่นบทเป็นผู้นำในการโจมตีทางทหาร แต่ตอนหลัง ได้โอนบทบาทดังกล่าวให้กับนาโต้ ดังนั้น ความแตกแยกระหว่างสหรัฐ กับอังกฤษและฝรั่งเศส จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ของการทำสงครามในครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากสงครามในอดีต โดยเฉพาะ สงครามในเซอร์เบีย และโคโซโว

• เยอรมนี : ความแตกแยกสำคัญในโลกตะวันตก เกิดขึ้นเมื่อเยอรมนี ไม่เห็นด้วยกับอังกฤษและ
ฝรั่งเศสในการทำสงครามครั้งนี้ โดยเยอรมนี ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก ในการที่ตะวันตกจะไปแทรกแซงทางทหารในลิเบีย โดยมองว่า การแทรกแซงทางทหาร มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้น เยอรมนี ในฐานะสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC จึงงดออกเสียง ไม่สนับสนุนข้อมติของอังกฤษและฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี Angela Markel ได้ออกมาพูดคัดค้านท่าทีของฝรั่งเศส และท่าทีของ Sarkozy หลายครั้ง โดย Markel ได้แสดงความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมากต่อแนวคิดเขตห้ามบิน โดยผู้นำเยอรมัน ก็คงจะอ่านกระแสของชาวเยอรมันในขณะนี้ได้ชัด โดย 2 ใน 3 ของชาวเยอรมัน ไม่เห็นด้วย ต่อการที่เยอรมนีส่งกองกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน ดังนั้น รัฐบาล Markel ก็คงจะไม่อยากที่จะเข้าร่วมกับสงครามครั้งใหม่อีก เยอรมนีได้ปฏิเสธที่จะส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศสในสงครามลิเบีย

• อิตาลี : ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของลิเบีย จึงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับลิเบีย
โดยเฉพาะ การนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากลิเบีย นายกรัฐมนตรีอิตาลี คือ Silvio Berlusconi ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Gaddafi ดังนั้น อิตาลี จึงไม่อยากสนับสนุนการแทรกแซงทางทหารต่อลิเบีย ท่าทีของอิตาลี คือ หากจะมีมาตรการทางทหาร ก็ควรดำเนินในกรอบของนาโต้

• BRIC : ส่วนท่าทีของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเรียกกลุ่มนี้ว่า BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil,
Russia, India, China เริ่มที่จะมีท่าทีขัดแย้งกับตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัสเซียกับจีน ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทางทหารต่อลิเบีย ซี่งบราซิลกับอินเดีย ก็สนับสนุนท่าทีของ รัสเซียและจีน โดยทั้ง 4 ประเทศ งดออกเสียงในการลงมติข้อเสนอการใช้กำลังทางทหารต่อลิเบีย ใน UNSC

อย่างไรก็ตาม ในตอนแรก ตะวันตกกังวลว่า รัสเซียกับจีน อาจจะใช้สิทธิยับยั้ง วีโต้ข้อมติของ
ตะวันตก แต่ในที่สุด ก็เพียงแค่งดออกเสียง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้ ยังไม่อยากขัดแย้งกับตะวันตกมากจนเกินไป
อย่างไรก็ดี ข้อมติในตอนแรก เน้นเรื่องของการจัดตั้งเขตห้ามบิน แต่หลังจากเกิดสงคราม
และมีการโจมตีทางทหาร ประเทศเหล่านี้ ก็มองว่า ตะวันตกทำเกินขอบเขต และเริ่มมีท่าทีคัดค้านสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ
นายกรัฐมนตรีรัสเซีย Vladimir Putin ถึงกับประกาศกร้าวว่า ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ ดู
เหมือนจะเป็นการประกาศสงครามครูเสดครั้งใหม่

ส่วนจีน ก็มีผลประโยชน์ โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันจากลิเบีย และท่าทีจีนที่ผ่านมา คือ การต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายใน อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ได้วีโต้ข้อมติของตะวันตก เพียงแค่งดออกเสียง แต่หลังจากเกิดสงคราม ท่าทีจีนก็เปลี่ยนไป เป็นต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ People’s Daily ของพรรคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศว่า การโจมตีลิเบียในครั้งนี้ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับอินเดีย ในฐานะสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ก็ได้งดออกเสียง และได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในลิเบีย สภาล่างของอินเดีย ก็ได้ผ่านข้อมติประณามปฏิบัติการทางทหาร โดย Pranab Mukherjee ประธานสภา ได้กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ประเทศเพียง 2-3 ประเทศ จะตัดสินใจที่จะเปลี่ยนระบอบในอีกประเทศหนึ่ง

• สันนิบาตอาหรับ : ปัจจัยสำคัญอีกประการ สำหรับอนาคตของสงครามลิเบีย คือ การสนับสนุน
จากโลกอาหรับ ที่ผ่านมา สันนิบาตอาหรับ ได้มีมติสนับสนุนการจัดตั้งเขตห้ามบินในลิเบีย ซึ่งนำไปสู่การลงมติข้อมติของ UNSC ที่ 1973 อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ดูผลการประชุมของสันนิบาตอาหรับในวันที่ 12 มีนาคม ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 22 ประเทศนั้น ก็มีหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับมติสนับสนุนเขตห้ามบิน อาทิ อัลจีเรีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตะวันตกโจมตีลิเบีย ก็ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มการต่อต้านจากโลกอาหรับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเลขาธิการของสันนิบาตอาหรับ Amr Moussa ได้ออกมาประณาม แสดงความไม่พอใจต่อปฏิบัติการทางทหารของตะวันตก ที่เขามองว่า ทำเกินเลยจากเป้าหมายการจัดตั้งเขตห้ามบิน โดยเน้นว่า ข้อมติ 1973 ของ UNSC ไม่ได้อนุมัติให้มีการแทรกแซงทางทหาร และไม่ได้อนุมัติให้มีการบุกโจมตีลิเบีย โดยเขากล่าวว่า ข้อมติของ UNSC เน้นการจัดตั้งเขตห้ามบินเท่านั้น ดังนั้น กระแสการต่อต้านจากโลกอาหรับ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด โลกอาหรับ และโลกมุสลิม อาจมองว่า สงครามลิเบีย ก็เป็นอีกสงครามหนึ่ง ที่ตะวันตกโจมตีโลกมุสลิม

กล่าวโดยสรุป ความแตกแยกของประชาคมโลกในสงครามลิเบียในขณะนี้ ก็จะทำให้สงครามคงจะจบลงได้ยากและยืดเยื้อ การขาดเอกภาพของประชาคมโลกในครั้งนี้ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการบรรลุเป้าหมายของตะวันตก ที่ต้องการจะโค่นล้มรัฐบาล Gaddafi ลงให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: