ระเบียบโลกใหม่ปี 2020 : ผลกระทบและการปรับตัวของไทย (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7เมษายน 2554
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า ผมอยากจะฉายภาพกว้างๆว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คือ ระเบียบโลกใหม่ในปี 2020 จะเป็นอย่างไร จะมีผลกระทบอะไรบ้าง และไทยเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร
ระเบียบโลกในยุคหลังสงครามเย็น
จริงๆแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หลายๆเรื่อง จะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะวิวัฒนาการต่อไป เพราะฉะนั้น หากเราต้องการรู้อนาคต เราต้องย้อนกลับไปดูอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น มี 3 เรื่องใหญ่เกิดขึ้น
• ขั้วอำนาจโลก : เปลี่ยนจาก 2 ขั้วมาเป็น 1 ขั้ว เป็นระบบหนึ่งขั้วอำนาจ กลายเป็นอเมริกา ที่
ผงาดขึ้นมา เป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก
• โลกาภิวัฒน์ (globalization) : เกิดยุคโลกาภิวัฒน์ในยุคหลังสงครามเย็น เศรษฐกิจโลก การค้า
โลก ขยายตัวเป็นหนึ่งเดียว ทุนนิยมโลก ก็ขยายตัว การเงิน ข้อมูลข่าวสาร ทุกอย่างกลายเป็นโลกาภิวัฒน์หมด โลกกลายเป็นโลกใบเดียว หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง
และสิ่งที่เป็นผลจากโลกาภิวัฒน์อีกเรื่อง คือ การเกิดขึ้นขององค์การระหว่างประเทศ ที่ในอดีต อาจไม่
ค่อยมีบทบาทเท่าไร แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศ มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UN WTO IMF รวมถึงองค์กรในระดับภูมิภาค เช่น EU ASEAN องค์กรเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะโลกมีโลกาภิวัฒน์มากขึ้น ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก
• ความขัดแย้ง : เรื่องที่ 3 ที่ผมคิดว่า เป็นเรื่องใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และจะต่อ
ยอดออกไปในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ ความขัดแย้ง สงคราม ซึ่งไม่ได้หมดไป หลายๆคน ในช่วงสงครามเย็นสิ้นสุดใหม่ๆ คิดว่า ต่อไปนี้ โลกเราจะมีแต่สันติภาพ แต่ในที่สุด ก็เกิดความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นความขัดแย้งและสงคราม ที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์ กับทุนนิยมอีกต่อไป แต่ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ ในยุคหลังสงครามเย็น กลายเป็นความขัดแย้ง ที่มีสาเหตุหลัก มาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังสงครามเย็น สงครามในรูปแบบใหม่ก็ปะทุขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ สงครามบอสเนีย โคโซโว ความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน สงครามในเทือกเขาคอเคซัส สงครามแบ่งแยกดินแดนของชาว Kurd สงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ก็เป็นสงคราม ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาหัวรุนแรง นอกจากนี้ อินเดีย แคชเมียร์ ศรีลังกา พม่า ก็มีสงครามชนกลุ่มน้อย และสงครามชาติพันธุ์ และไทย ก็มีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สงครามในรูปแบบใหม่ ที่เป็นสงครามชาติพันธุ์ และศาสนา ได้ปะทุขึ้นทั่วโลก
ระเบียบโลกในปัจจุบัน
สำหรับระเบียบโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
• การก่อการร้าย : หลังจากปี 2001 ระเบียบโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอีก มีเรื่องใหม่เกิดขึ้น คือ การ
ก่อการร้ายสากล โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 ทำให้ปัญหาการก่อการร้าย กลายเป็นปัญหาในระดับโลก และสหรัฐฯที่เป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ต้องเผชิญกับศัตรูตัวใหม่ คือ กลุ่มก่อการร้ายสากล ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯต้องวุ่นอยู่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และปัญหาการก่อการร้ายก็แพร่ขยายกระจายไปทั่วโลก เป็นการจุดประกายความขัดแย้งทางอารยธรรมและศาสนา ระหว่างตะวันตกกับอิสลาม และเป็นการจุดประกายให้กลุ่มหัวรุนแรงในโลกมุสลิม ที่ตีความศาสนาอิสลามโดยมองว่า ตะวันตกชั่วร้าย และจะต้องทำสงครามศาสนากับตะวันตก จะต้องทำให้โลกมุสลิมกลับมาบริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการขจัดอิทธิพลของตะวันตก ให้ออกไปจากโลกมุสลิมให้หมด
เหตุการณ์ 11 กันยาฯ จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม ทำให้สหรัฐฯ เลือดเข้าตา บุกยึดอัฟกานิสถาน และบุกยึดอิรัก แต่การใช้ไม้แข็งของสหรัฐฯ ก็ทำให้โลกมุสลิมยิ่งโกรธแค้นสหรัฐฯมากขึ้น ชาวมุสลิมก็เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายมากขึ้น เพราะมองว่า สหรัฐฯกำลังทำสงครามศาสนาเพื่อจะยึดครองโลกมุสลิม
• มหาอำนาจใหม่ : เรื่องที่ 2 ที่ผมมองว่า เป็นเรื่องที่โดดเด่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การผงาด
ขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ คือ กลุ่ม BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil, Russia, India, China เป็นกลุ่มมหาอำนาจใหม่ ที่เริ่มผงาดขึ้นมาอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้ จีนก็ดูธรรมดา ไม่ได้ดูน่ากลัวอะไร แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนผงาดขึ้นมาแรงมาก ทำให้เกิดแนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน
• กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และความขัดแย้งเหนือ-ใต้ : อีกเรื่องที่สำคัญมาก ที่เกิดขึ้นในช่วง
10 ปีที่ผ่านมา คือ การเกิดกระแสสวนกลับ ในช่วงหลังสงครามเย็น เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ขึ้น แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ขึ้น โดยเฉพาะ หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เริ่มมีการเริ่มมองว่า โลกาภิวัฒน์ดีจริงหรือ การเปิดเสรีทางการค้า และ FTA ดีจริงหรือ การเปิดเสรีทางการเงินดีจริงหรือ เริ่มมีกระแสต่อต้าน และชะลอกระบวนการโลกาภิวัฒน์ลง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในระเบียบเศรษฐกิจโลก คือ ความขัดแย้งเหนือ-ใต้ ระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศรวยกับประเทศจนก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเฉพาะในเวที WTO ในการเจรจารอบโดฮา ประเทศรวยก็รวมกลุ่มกัน ประเทศจนก็รวมกลุ่มกัน แล้วก็งัดข้อกัน จนตกลงอะไรกันไม่ได้ ทำให้การเจรจารอบโดฮา ทำท่าว่าจะล่ม
เช่นเดียวกับการเจรจาภาวะโลกร้อน ที่โคเปนเฮเกน เมื่อปลายปี 2010 ก็กลายเป็นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างประเทศรวยที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศอุตสาหกรรม ที่เป็นตัวก่อปัญหาภาวะโลกร้อน กับประเทศจนที่รวมกลุ่มกัน กดดันให้ประเทศรวยลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่ประเทศรวยก็ไม่ยอม เพราะเศรษฐกิจจะเสียหายหนัก การเจรจาจึงล้มเหลว
ความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนดังกล่าว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ ที่ในอดีต ประเทศรวยได้ครอบงำเศรษฐกิจโลกทั้งหมด แต่ปัจจุบัน เมื่อประเทศจนมารวมตัวกันมากขึ้น อำนาจการต่อรองก็มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจการต่อรองของกลุ่มประเทศจนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการผงาดขึ้นมาของ จีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ และประเทศมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ ก็ประกาศว่า ประเทศตนยังเป็นประเทศจน จึงเข้าร่วมกับประเทศจน ทำให้กลุ่มของประเทศจน มีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และสามารถงัดข้อและต่อกรกับประเทศรวยได้
• การผงาดขึ้นมาของเอเชีย : ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของระเบียบโลกในปัจจุบัน คือ
การผงาดขึ้นมาของเอเชีย ซึ่งมาแรงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผงาดขึ้นมาของเอเชีย รวมถึงการผงาดขึ้นมาของ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และอาเซียน กลุ่มนี้กำลังมาแรงมาก และแน่นอนว่า ในอนาคต จะมีบทบาทอย่างมากต่อระเบียบโลกใหม่ เพราะฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานเศรษฐกิจ กำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออก และเอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระเบียบโลกในอนาคต
(โปรดติดตามอ่านตอนจบ ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2554)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น