Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone

วิกฤต Eurozone

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2554

วิกฤตหนี้ของยุโรปกำลังเข้าขั้นวิกฤต คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤตหนี้ของ Eurozone โดยจะเน้นไปที่ปัญหาของกรีซเป็นหลัก และจะวิเคราะห์ความพยายามในการกอบกู้วิกฤต และแนวโน้มผลกระทบต่อโลกในอนาคต

วิกฤตหนี้ Eurozone

วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้เงินยูโร ที่เราเรียกว่า Eurozone นั้น เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายเดือนแล้ว และมีแนวโน้มจะหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ต่อมา ก็ลามไปถึงอิตาลีและสเปน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะได้ประกาศจะซื้อพันธบัตรของอิตาลีและสเปนแล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น

โดยเฉพาะขณะนี้ ความสนใจพุ่งเป้าไปที่กรีซ ซึ่งมีแนวโน้มหนักหนาสาหัสกว่าเพื่อน เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ตัวแทนของคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และ IMF หลังจากเจรจากับรัฐบาลกรีซ ได้แสดงความผิดหวังอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลกรีซไม่สามารถดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกอบกู้วิกฤตการเงินของตนได้ กรีซประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้มาปีครึ่งแล้ว แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น แม้ว่า ทั้ง EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้ให้กรีซ งวดแรกเป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ แต่ก็ดูเหมือนกับเป็นการสูญเปล่า

หลายฝ่ายจึงกำลังวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กรีซอาจจะประสบปัญหาถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้และล้มละลาย ความล้มเหลวของรัฐบาลกรีซ จึงทำให้ EU และ IMF ตัดสินใจที่จะเลื่อนการจ่ายเงินกู้งวดที่ 2 มูลค่ากว่า 150,000 ล้านเหรียญ ซึ่งในตอนแรกมีกำหนดจะปล่อยเงินกู้ให้ในเดือนกันยายน ออกไปพิจารณาใหม่ในเดือนตุลาคม

ล่าสุด วิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่ฝรั่งเศสและอิตาลี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody ได้ลดระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส 2 ธนาคาร คือ Credit Agricole และ Societe Genarale และกำลังพิจารณาจะทบทวนความน่าเชื่อถือของธนาคารใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส คือ BNP Paribas SA สาเหตุสำคัญ คือ การที่ธนาคารฝรั่งเศสได้ปล่อยกู้ให้กับกรีซเป็นจำนวนมหาศาล

ส่วนอิตาลี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา S&P ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง โดย S&P มองว่า เป็นผลมาจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ และการที่รัฐบาลอิตาลีมีหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงมาก

การกอบกู้วิกฤต

ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป ได้มีบทบาทในความพยายามกอบกู้วิกฤตหนี้ แต่ก็ไม่ได้ผล ช่วงเดือนที่แล้ว ฝรั่งเศสกับเยอรมนี ได้ผลักดันกลไกบริหาร Eurozone ขึ้นมาใหม่

ขณะนี้ มีความเห็นที่แตกแยกกันในยุโรป ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยแนวคิดที่กำลังได้รับการผลักดันจากหลายฝ่าย คือ การเดินหน้าบูรณาการทางการเงินของยุโรป ฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้ขอให้ประธานสภายุโรป คือ Herman Van Rompuy จัดทำร่างกรอบบูรณาการทางการเงินของยุโรป เพื่อเสนอต่อผู้นำ Eurozone ในเดือนตุลาคม

แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากประธานธนาคารกลางยุโรป คือ Jean Claude Trichet ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจของ Eurozone ขึ้น ในลักษณะเป็นระบบแบบสาธารณรัฐ แนวคิดเรื่องการเพิ่มบูรณาการทางการเงิน เสนอให้มีการจัดตั้งพันธบัตรยูโร หรือ Euro Bond ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรสหรัฐฯ กลไกดังกล่าวของ EU จะทำหน้าที่คล้ายกับกระทรวงการคลังของยุโรป เพื่อบริหารนโยบายการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เช่น รัฐมนตรีคลังเยอรมนี Wolfgang Schauble ได้แสดงความเห็นว่า อาจจะเป็นการเร็วเกินไปสำหรับบูรณาการทางการเงิน โดยเสนอว่า ทางแก้ปัญหา คือ ประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สิน จะต้องออกมาตรการทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การตัดการใช้จ่ายของภาครัฐ และการเพิ่มภาษี โดยบูรณาการทางการเงินนั้น จะต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์นิยมในเยอรมนี ถึงกับเสนอว่า ควรจะ “ตัดหางปล่อยวัด” กรีซ โดยเสนอปล่อยให้กรีซผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลายไป โดยไม่ต้องเข้าไปช่วย และผลักดันให้กรีซออกจาก Eurozone ไป กระทรวงคลังเยอรมนีกำลังจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อเตรียมพร้อมกับการที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้

สำหรับความพยายามกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone ล่าสุด มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของ Eurozone ที่โปแลนด์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ Timothy Geithner เข้าร่วมประชุมด้วย การเข้าร่วมประชุมของ Geithner ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯกำลังวิตกกังวลอย่างมากสำหรับวิกฤตในครั้งนี้ โดย Geithner ได้กล่าวเตือนผู้นำยุโรป ให้ยุติความแตกแยกทางความคิด และเร่งรีบกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มในอนาคตของวิกฤตหนี้ Eurozone ดูแล้วน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงไปอีก โดยเมื่อเดือนที่แล้ว Robert Zoellick ได้กล่าวเตือนถึงช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังประสบกับวิกฤตรูปแบบใหม่ และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดย Zoellick ได้ย้ำว่า ปัญหาหนี้ใน Eurozone น่าเป็นห่วงมาก และบอกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของพายุวิกฤตเศรษฐกิจโลกลูกใหม่ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 เช่นเดียวกับ George Soros ซึ่งก็ได้มองว่า วิกฤตหนี้ยุโรปมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าวิกฤตในปี 2008
หัวใจของปัญหา คือ กรีซ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มีแนวโน้มจะประสบกับภาวะล้มละลาย กระทรวงคลังเยอรมนีก็กำลังวิเคราะห์ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากกรีซต้องออกจาก Eurozone กระทรวงคลังเยอรมนีมองว่า หากกรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลืองวดที่ 2 ก็จะเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องในเดือนตุลาคม ซึ่งจะทำให้กรีซประสบกับภาวะล้มละลาย และต้องออกจาก Eurozone ไป

ดังนั้น หากกรีซล้มละลาย ก็จะส่งผลกระทบเป็นเหมือนโดมิโน โดยเฉพาะกระทบต่อสเปนและอิตาลี นอกจากนั้น ธนาคารฝรั่งเศสซึ่งปล่อยกู้ให้กับกรีซและอิตาลีเป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป จะกระทบต่อ Eurozone ทั้งระบบ รวมทั้งจะกระทบต่อภาคธนาคารของสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ อย่าลืมว่า GDP ของ EU รวมกันทั้งหมด มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่า GDP ของสหรัฐฯเสียอีก ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นกับ EU ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก คือ ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกขาดผู้นำและขาดความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนหนักขึ้น และอาจนำไปสู่ยุคสมัยของนโยบายปกป้องทางการค้า และสงครามค่าเงิน สถานการณ์วิกฤต Eurozone แตกต่างอย่างมากจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งในตอนนั้น มีความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบของการประชุมสุดยอด G20 ซึ่งมีการประชุมกันหลายครั้ง และมีการประสานนโยบายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ วิกฤตหนี้ Eurozone ในครั้งนี้ G20 ไม่ได้เข้ามาช่วยอะไรเลย แม้ว่า จะมีการประชุมสุดยอด EU หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับสหรัฐฯที่ควรจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำ แต่สหรัฐฯเองก็ประสบกับปัญหาหนี้ของตัวเองเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตหนี้ Eurozone ครั้งนี้ ทำท่าจะหนักหนาสาหัส วุ่นวาย และมีแนวโน้มปั่นป่วนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก และระบบการเงินโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ไม่มีความคิดเห็น: