ผลการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุด ที่โฮโนลูลู ฮาวาย โดยสหรัฐฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ ผลการประชุม ดังนี้
ผลการประชุมเอเปค
• WTO
การประชุมครั้งนี้ เรื่องสำคัญมี 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การกำหนดท่าทีของเอเปค ต่อการ
เจรจา WTO รอบโดฮา เรื่องที่ 2 คือ ความร่วมมือด้านการค้าและเขตการค้าเสรี
สำหรับเรื่องการเจรจารอบโดฮานั้น ในเอกสารปฏิญญาผลการประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่คืบหน้าของการเจรจา และยอมรับว่า การที่จะบรรลุประเด็นหารือทุกเรื่องในอนาคต คงเป็นไปได้ยาก จึงไม่น่าจะสามารถจบการเจรจารอบนี้ได้ หากท่าทีการเจรจาและรูปแบบการเจรจา ยังเป็นเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม สมาชิกเอเปคจะพยายามเดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะให้การเจรจาจบลงให้ได้ และที่ประชุมขอให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรี WTO สำรวจวิถีทางใหม่ๆและแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการเจรจา
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตอกย้ำการต่อต้านมาตรการปกป้องทางการค้า โดยสมาชิกเอเปคจะไม่เพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจนถึงปี 2015 และที่ประชุมขอให้สมาชิก WTO ในการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 8 ในเดือนธันวาคม ปีนี้ ตอกย้ำถึงนโยบายต่อต้านการปกป้องทางการค้าด้วย
• ความร่วมมือทางการค้า
ปฏิญญาโฮโนลูลู เน้นว่า พันธกิจสำคัญของเอเปค คือ การเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ และการ
ขยายการค้า โดยได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาการค้าและการลงทุนใหม่ๆ และข้อตกลงการค้า โดยเฉพาะ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของบูรณาการทางเศรษฐกิจของเอเปค
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ตกลงกันในเรื่องความร่วมมือทางการค้าเรื่องอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมบทบาทของ SME การปรับปรุงประสิทธิภาพของ supply-chain เพิ่มขึ้น 10% ภายในปี 2015 เรื่อง APEC Travel Facilitation Initiative เรื่องความมั่นคงทางอาหาร และการเปิดเสรีการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น
Trans-Pacific Partnership (TPP)
นอกจากการประชุมสุดยอดเอเปคแล้ว การประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้ ได้มีการจัดประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศสมาชิก TPP เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยผู้นำของ 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยได้มีการประชุมกัน ในวันที่ 12 พฤศจิกายน หลังการประชุม ได้มีการเผยแพร่เอกสารแถลงการณ์ผลการประชุม ซึ่งกล่าวว่า ผู้นำทั้ง 9 ประเทศ ได้ตกลงกันเกี่ยวกับเค้าโครงของข้อตกลง TPP และประสบความสำเร็จในการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลง FTA ที่จะมีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จและทันสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าในทุกเรื่อง โดยที่ประชุม ตั้งเป้าหมายว่า จะเร่งรีบในการบรรลุข้อตกลง TPP ให้ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยอมรับว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเจรจา โดยที่ประชุมได้ขอให้ทีมเจรจา ประชุมกันครั้งต่อไปในช่วงต้นเดือนธันวาคม และกำหนดกรอบเวลาของการประชุมในปี 2012
โดยหลังจากการประชุม ประธานาธิบดี Obama ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คงจะสามารถบรรลุข้อตกลง TPP และลงนามกันได้ภายในปี 2012
เป้าหมายระยะยาวของ TPP คือ การจัดตั้ง FTA ให้ครอบคลุมภูมิภาคแปซิฟิก ที่ประชุมจึงต้องการที่จะขยายจำนวนสมาชิกออกไป จาก 9 ประเทศ โดยได้ขอให้ทีมเจรจา หารือกับประเทศอื่นๆ เพื่อชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก TPP ในอนาคต
สำหรับในเรื่องสมาชิกใหม่นั้น ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ที่จะเข้าร่วม TPP และหลังจากนั้น แคนาดา และเม็กซิโก ก็ได้ประกาศจะเข้าร่วมกับ TPP ด้วย ดังนั้น ขณะนี้ TPP จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จาก 9 ประเทศ เป็น 12 ประเทศ
บทวิเคราะห์
• เอเปค
ผมมองว่า การประชุมเอเปคในครั้งนี้ประสบความล้มเหลว ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของ
รัฐบาล Obama ที่ก่อนหน้านี้ หมายมั่นปั้นมือว่า จะให้การประชุมครั้งนี้ เป็นการรื้อฟื้นบทบาทของเอเปค และจะทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาค แต่ดูจากผลการประชุมแล้ว ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะจากผลการประชุมที่ผมสรุปไปข้างต้น แทบจะไม่มีอะไรที่มีผลเป็นรูปธรรมเลย โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการประชุมเอเปค ปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่น การประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเท่านั้น แต่ยังถอยหลังลงคลองอีกด้วย
ผมขอย้อนไปสรุปการประชุมปีที่แล้ว เพื่อที่จะให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับการประชุมในครั้งนี้ การประชุมเอเปคที่ญี่ปุ่น นับเป็นการพลิกฟื้นครั้งสำคัญของเอเปค โดยได้มีการตกลงกัน ที่จะจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้น โดยหัวใจของประชาคมเอเปค คือ การจัดตั้ง Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP โดยตั้งเป้าว่า FTAAP จะถูกจัดตั้งขึ้น ด้วยข้อตกลงการค้าที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยจะเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อาทิ FTA อาเซียน+3 อาเซียน+6 และ TPP
โดยสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้นมา เพื่อมาแข่งกับประชาคมอาเซียน เพราะกลัวว่า ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯ ต้องการใช้ FTAAP เป็นตัวกันการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกรอบอาเซียน +3 ที่ไม่มีสหรัฐฯ
ดังนั้น หากการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ญี่ปุ่น ถือเป็นการรื้อฟื้นเอเปค แต่สำหรับการประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้ เอเปคได้ถอยหลังลงคลองอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆเลย เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเอเปค ไม่มีความคืบหน้าในการจัดตั้ง FTAAP และไม่ได้มีการพูดถึง TPP ในปฏิญญาโฮโนลูลูเลย เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯล้มเหลวในการที่จะใช้ TPP เป็นแกนของ FTAAP ผมเดาว่า ความล้มเหลวครั้งนี้ น่าจะเกิดมาจาก การที่ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน คงไม่เห็นด้วย และคงจะต่อต้านข้อเสนอของสหรัฐฯอย่างเต็มที่
• TPP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สหรัฐฯจะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการประชุมสุดยอดเอเปคที่
ฮาวายในครั้งนี้ แต่สหรัฐฯก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในกรอบ TPP โดยเฉพาะการบีบให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับ TPP สำเร็จ จึงเห็นได้ว่า แนวโน้มในอนาคต สหรัฐฯคงจะหันมาให้ความสำคัญกับ TPP เป็นหลัก และจะพัฒนาให้เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป แต่สหรัฐฯคงอาจจะต้องทิ้งแนวคิด ที่จะเชื่อม TPP กับเอเปค เพราะคงจะถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากจีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ล้มเหลวที่ไม่สามารถผลักดันให้มีการลงนามในข้อตกลง TPP ระหว่าง 9 ประเทศได้ ในการประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯนั้น คือ จะขยายจำนวนสมาชิก TPP จาก 9 ประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็เป็น 12 ประเทศแล้ว ต่อไปให้ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ TPP ซึ่งจะมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ จะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค TPP จึงจะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น