ผลการประชุม G20 ที่ฝรั่งเศส
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554
เมื่อช่วงวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด G20 ครั้งล่าสุด ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
ผลการประชุม
• การปฏิรูประบบเงินตราระหว่างประเทศ
เรื่องแรกที่ประชุมกัน คือ เรื่องการปฏิรูประบบเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมมองว่า มี
ความคืบหน้าในการปฏิรูประบบ เพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะต่อการไหลเวียนของเงินทุน
เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สหรัฐฯให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะการผลักดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ในเอกสารผลการประชุม ระบุว่า ที่ประชุมต้องการให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน และค่าเงินสกุลต่างๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการบิดเบือนค่าเงิน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Barack Obama ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ยินดีต่อผลการประชุม ที่จะให้มีการผลักดันค่าเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างรวดเร็วมากขึ้น และยินดีที่จะให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องของค่าเงิน นอกจากนี้ Obama ยังยินดี ที่จีนได้แสดงจุดยืนที่จะเพิ่มค่าเงินหยวน
• วิกฤต Eurozone
แต่เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ในการประชุม G20 ในครั้งนี้ คือ เรื่องวิกฤต Eurozone โดย
ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่มีมาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ มาตรการเพิ่มทุนของธนาคารในยุโรป และมาตรการเพิ่มเงินทุนให้กับกองทุนกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone คือ กองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) และที่ประชุมได้แสดงความยินดี ที่การประชุมสุดยอด Eurozone มีมาตรการเหล่านี้ออกมา และแสดงความยินดีต่ออิตาลี ที่กำลังจะประสบปัญหาวิกฤตหนี้ ที่ได้เชิญให้ IMF เข้าไปช่วยดูแลให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาของอิตาลี
• บทบาทของ IMF
หัวใจสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ การที่จะให้ IMF มีบทบาทมากขึ้น ในการกอบกู้
วิกฤต Eurozone โดยที่ประชุมได้ตกลงกันว่า จะให้ IMF มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF ซึ่งมาตรการเพิ่มเงินทุนให้ IMF นั้น เริ่มมาตั้งแต่การประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2009 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลัง G20 ไปศึกษาทางเลือกต่างๆในการเพิ่มเงินทุนให้กับ IMF
• บทบาทของ G20
อีกเรื่องที่ประชุมกันในครั้งนี้ คือ การกำหนดบทบาทของ G20 ในอนาคต ซึ่งที่ประชุมตกลงที่จะให้ G20 เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการสิ้นสุดบทบาทของฝรั่งเศสในการเป็นประธาน G20 โดยได้กำหนดว่า เม็กซิโก จะเป็นประธาน G20 ในปี 2012 และในปี 2013-2015 จะมีรัสเซีย ออสเตรเลีย และตุรกี เป็นประธาน G20 ตามลำดับ และหลังจากปี 2015 เป็นต้นไป จะมีการใช้หลักเกณฑ์การเป็นประธาน G20 โดยหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยจะเริ่มจากภูมิภาคเอเชียก่อน ซึ่งภูมิภาคเอเชียมีสมาชิก G20 อยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ภายหลังการประชุม G20 ในครั้งนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy ในฐานะประธานการประชุม ได้ออกมาแถลงข่าวถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุม G20 ได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือในการกอบกู้วิกฤต Eurozone และเน้นว่า G20 ตกลงที่จะเพิ่มเงินใน IMF โดยจะกำหนดมาตรการต่างๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
ส่วนผู้อำนวยการ IMF คือ Christine Lagarde ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้นำ G20 ตกลงที่จะเพิ่มเงินใน IMF ซึ่งในขณะนี้ IMF มีเงินทุนเพียงพอที่จะช่วยเหลือประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตการเงินบานปลาย G20 ก็ตกลงว่า จะเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือใน IMF
บทวิเคราะห์
• ภาพรวม
ในภาพรวมแล้ว ผมประเมินว่า การประชุม G20 ในครั้งนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะ
โดยรวมแล้ว ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีผลการประชุมอะไรที่ถือได้ว่า เป็นรูปธรรมเลย มีแต่การประกาศอย่างกว้างๆ ที่แทบจะจับต้องไม่ได้ เรื่องสำคัญที่สุดที่ชาวโลกจับตามองผลการประชุมในครั้งนี้ คือ บทบาทของ G20 ในการกอบกู้วิกฤต Eurozone ก็น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ผลการประชุมออกมาอย่างชัดเจนว่า G20 แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย มีแต่การพูดถึงผลการประชุมสุดยอด Eurozone อย่างกว้างๆ แต่ G20 ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ยกเว้นการบอกว่า จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF ซึ่งเป็นการพูดอย่างกว้างๆ และไม่ได้ตกลงว่า จะเพิ่มเงินเข้าไปเท่าใด
สำหรับผมแล้ว ไม่แปลกใจที่การประชุม G20 ครั้งนี้ จะประสบความล้มเหลว และไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะนี่ คือ แนวโน้มของ G20 ที่กำลังถูกลดบทบาทลง G20 มีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008-2009 แต่หลังจากนั้น บทบาทก็ลดลง โดยการต่อสู้และวาระซ่อนเร้นที่สำคัญใน G20 คือ การต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ คือ การต่อสู้ระหว่างตะวันตกกับกลุ่ม BRIC คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน มหาอำนาจใหม่ ต้องการมีบทบาทมากขึ้น แต่ตะวันตกพยายามจะลดบทบาทและจำกัดบทบาทของมหาอำนาจใหม่ลง ดังนั้น G20 จึงตกลงอะไรกันไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย และเรื่องที่เห็นชัดเจนถึงความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มนี้ คือ ประเด็นเรื่องการกอบกู้วิกฤต Eurozone นั่นเอง
• EFSF
สิ่งที่กลุ่ม Eurozone ต้องการ คือ การที่จะให้ประเทศสมาชิก G20 ลงขัน ใส่เงินเพิ่มเข้าไป
ในกองทุน EFSF แต่สมาชิก G20 ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Eurozone ก็ไม่สนใจเลย และไม่มีใครประกาศจะลงขันในกองทุนนี้ ในการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ประชุมตกลงที่จะเพิ่มเงินใน EFSF ขึ้นเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ว่าในความเป็นจริง ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน
• IMF
เช่นเดียวกัน กลุ่ม Eurozone ต้องการให้กลุ่มสมาชิก G20 ลงขันเพิ่มเงินใน IMF เพื่อจะมา
ช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone มีการคาดหวังกันอย่างมากว่า กลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะ จีน จะลงขันเพิ่มเงินใน IMF
ที่ผ่านมา IMF ก็มีบทบาทอยู่บ้าง ในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า troika ซึ่งประกอบด้วย EU ธนาคารกลางยุโรป และ IMF โดย troika มีบทบาทในการประเมินและปล่อยกู้ให้กับกรีซ อย่างไรก็ตาม เป็นที่วิตกว่า วิกฤตอาจลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน แม้ว่า อิตาลีจะได้เชื้อเชิญให้ IMF เข้ามาช่วย แต่ IMF ก็มีเงินไม่พอ หากอิตาลีประสบกับวิกฤตหนี้เหมือนในกรณีของกรีซ
แต่ในที่สุด สมาชิก G20 ที่ไม่ใช่สมาชิก Eurozone ก็ไม่มีประเทศไหนเลยที่ประกาศจะเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุน IMF อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BRIC ก็ไม่สนใจที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF เพราะลึกๆแล้วประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤต Eurozone เพราะคิดว่า “ธุระไม่ใช่” และคิดว่า ผลกระทบยังไกลตัว แม้ว่า ก่อนการประชุม หลายฝ่ายคิดว่า จีนจะเข้ามามีบทบาท แต่ในที่สุด จีนก็ปฏิเสธที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF และ EFSF
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น