Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2012 : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 2)


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2012 : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 2)

              คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2012 โดยได้เน้นวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายต่างประเทศของ Obama และ Romney ไปแล้ว คอลัมน์ตอนนี้จะมาวิเคราะห์ต่อ ในประเด็นผลกระทบของการเลือกตั้งต่อโลก ต่อภูมิภาคเอเชีย และต่อไทย

ผลกระทบต่อโลก
ภาพรวม
จริงๆแล้วทั้ง Obama และ Romney ก็จะดำเนินนโยบายต่างประเทศให้เป็นไปตามผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐเป็นหลัก แต่ทั้ง 2 คนตีความในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐแตกต่างกัน โดยObama มองว่า การที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐ จะต้องดำเนินนโยบายสายพิราบ ในขณะที่ Romney มองว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐ จะได้รับการปกป้อง ด้วยการดำเนินนโยบายแบบสายเหยี่ยว
Obama
                อย่างไรก็ตาม หาก Obama ชนะการเลือกตั้ง นโยบายก็จะต่อเนื่อง จะไม่มีอะไรต่างไปมากจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อเมริกาจะคงดำเนินนโยบายแบบเดิมๆ ถึงแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า Obama จะเดินหน้าต่อ และพยายามสานฝันให้เป็นจริง นโยบายทางทหารจะกลับมาเน้นที่เอเชีย ให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น ส่วนนโยบายเศรษฐกิจ จะเน้นในเรื่องการผลักดัน FTA ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า TPP
Romney
                แต่สมมุติว่า หาก Romney ชนะการเลือกตั้ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และจะเกิดผลกระทบต่อโลก ต่อไทยอย่างไร
ผมมองว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศอีกครั้ง จากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง จากซ้ายมาเป็นขวา จากเสรีนิยมมาเป็นอนุรักษ์นิยม มีแนวโน้มว่า Romney คงจะรื้อฟื้นนโยบายหลายๆอย่างของ Bush แต่นโยบายของ Romney คงจะไม่แข็งกร้าวเท่านโยบายของ Bush ทั้งนี้ นโยบายของ Bush แข็งกร้าวมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แต่หากไม่มีการก่อการร้ายครั้งใหม่เกิดขึ้นเหมือนเหตุการณ์ 11 กันยาฯ นโยบายของ Romney คงจะไม่แข็งกร้าว สุดโต่ง เหมือนในสมัยรัฐบาล Bush แต่ก็คงจะก้าวร้าวกว่านโยบายของ Obama โดย Romney คงจะเน้นเรื่องความแข็งแกร่งทางทหาร การเผชิญหน้ากับจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ
                ดังนั้น โลกคงจะปั่นป่วนมากขึ้น ไทยคงจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่อีกครั้ง เราคงจำกันได้ว่า ในสมัยรัฐบาล Bush ไทยเสียเวลาไปมากกับการให้ความร่วมมือกับสหรัฐในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย
ภาพรวมนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย
เป้าหมายที่สำคัญของอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชีย คือ การครองความเป็นเจ้า แต่ในขณะนี้ จีนกลายเป็นคู่แข่งของอเมริกาในภูมิภาค เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญของอเมริกา คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน นี่คือ นโยบายอันดับ 1 ของอเมริกาต่อภูมิภาค
ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ คือ ยุทธศาสตร์ Hub and Spoke โดยสหรัฐเป็น Hub เป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค
สำหรับยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั้น อเมริกาจำเป็นที่จะต้องตีสนิทกับอาเซียน เพื่อดึงอาเซียนออกมาจากจีน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐพยายามตีสนิทกับอาเซียน รวมทั้งไทยด้วย ในอดีต อเมริกาไม่เคยให้ความสำคัญกับอาเซียน ไม่เคยมีการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่ในสมัย Obama มีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนมาแล้ว 3 ครั้ง อเมริกาได้เข้ามาเป็นสมาชิก EAS (East Asia Summit) แล้ว ซึ่งเป็นกรอบ อาเซียน + 8 อเมริกาได้เข้ามายุ่งในเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่อเมริกาต้องการให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และทำให้อาเซียนแตกกันด้วย
 ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน เพราะแตกกันด้วย ประเด็นทะเลจีนใต้ โดยอเมริกาถือหางเวียดนามและฟิลิปปินส์ ในขณะที่กัมพูชาเอียงไปเข้าข้างจีน เพราะฉะนั้น อาเซียนก็แตกกัน ขณะนี้มหาอำนาจคือ จีนและอเมริกา ต้องการทำให้อาเซียนแตก อย่าลืมว่า ไม่มีมหาอำนาจไหนต้องการให้อาเซียนเจริญและร่วมตัวกันติดและพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่ง เพราะฉะนั้น มหาอำนาจต่างๆ ก็ต้องการดำเนินยุทธศาสตร์แบ่งแยกและปกครอง ซึ่งขณะนี้ทั้งอเมริกาและจีนก็กำลังทำเช่นนั้นอยู่   
สำหรับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ อเมริกากำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ คือ TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งอเมริกาจะเป็นศูนย์กลางของ FTA ตัวใหม่นี้ ขณะนี้มี 10 กว่าประเทศที่เข้าร่วม TPP แล้ว โดยได้ดึงเอา 4 ประเทศอาเซียนเข้ามาใน TPP คือ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นอาเซียนก็แตกกันอีกด้วยเรื่อง FTA ตัวใหม่ของอเมริกา 4 ประเทศไปร่วมแล้ว แต่อีก 6 ประเทศยังไม่ได้ร่วม
                ไทยก็กำลังรีรออยู่ ไม่กล้าตัดสินใจที่จะเข้าร่วม TPP เพราะเกรงใจจีน ขณะนี้ไทยกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะทั้งจีนและอเมริกาก็กำลังมาดึงไทย จีนก็บอกว่า ไทยต้องเป็นพวกจีน อเมริกาก็บอกว่า ไทยต้องเป็นพวกอเมริกา แล้วไทยจะทำอย่างไร ไทยไม่ต้องการเลือกข้าง worst-case scenario ของไทยคือ ไทยถูกบีบให้เลือกข้าง ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต ไทยจะถูกบีบให้ต้องเลือกข้างหนักขึ้นเรื่อยๆ
                จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งล่าสุด ในกรณีอู่ตะเภา กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะไทยกลัวว่า ถ้าร่วมมือกับอเมริกา จะทำให้จีนโกรธ ไทยก็เลยไม่กล้า
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น Obama หรือ Romney มาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม นโยบายนี้คงจะไม่เปลี่ยน ไทยจะตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยและอเมริกากับไทย อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทยในอนาคตว่า เราจะเอาอย่างไร ประเด็นสำคัญคือ ไทยจะต้องตามเกมส์มหาอำนาจให้ทัน ตามจีนให้ทันว่า จีนกำลังจะทำอะไรกับเรา และต้องตามอเมริกาให้ทันว่า อเมริกาต้องการเล่นอะไรกับเรา เรากำลังจะเป็นเบี้ยในเกมส์หมากรุกของมหาอำนาจหรือไม่ เรากำลังตกเป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจหรือไม่

ผลกระทบในภาพรวม
                สำหรับผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ ต่อภูมิภาคเอเชียในภาพรวมนั้นObama และ Romney แม้ว่าจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน โดยแม้ว่า Obama จะเป็นสายพิราบ และ Romney จะเป็นสายเหยี่ยวก็ตาม แต่นโยบายหลักต่อภูมิภาคคงไม่เปลี่ยน ที่แตกต่างกันคือ นโยบายย่อยหรือนโยบายเฉพาะเรื่อง เช่น นโยบายต่อจีน Romney อาจจะมีนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีนมากกว่า Obama นโยบายต่อเกาหลีเหนือ ต่อภูมิภาค Romney อาจจะเน้นเรื่องการทหารมากกว่า Obama เป็นต้น
                เป้าหมายสำคัญของสหรัฐต่อเอเชีย คงไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล Obama หรือรัฐบาล Romney เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐต่อเอเชีย คือ การดำรงความเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียต่อไป หรือการครองความเป็นเจ้า ซึ่งเป็นนโยบายหลัก แต่ที่จะต่างกัน คือ รายละเอียดหรือวิธีการในการครองความเป็นเจ้า โดยพรรค Republican จะเน้นกลไกทวิภาคี เน้นยุทธศาสตร์ Hub and Spoke ในขณะที่พรรค Democrat จะเน้นกลไกพหุภาคีในการครองความเป็นเจ้า

Obama
                 ในสมัยรัฐบาล Obama เราได้เห็นถึงความแตกต่างจากในสมัยรัฐบาล Bush ในเรื่องวิธีการ โดย Obama เชื่อว่า นโยบายการทูตควรจะเน้น พหุภาคีนิยม รัฐบาล Obama จึงเน้นปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนมากเป็นพิเศษ ในยุค Obama ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาเซียนจึงสำคัญต่อสหรัฐ Obama คงเห็นแล้วว่า อาเซียนกำลังผงาดขึ้นมา ดังนั้น จึงต้องรีบปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน และ Obama ก็คงเห็นว่า จีนกำลังผงาดขึ้นมาและกำลังจะกลายเป็นคู่แข่งของสหรัฐ ดังนั้น จึงต้องดำเนินยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน และนี่ก็คือเป้าหมายหลักที่ Obama กำลังทำอยู่
Romney
                สำหรับ Romney ซึ่งยังไม่มีนโยบายต่อเอเชีย Romney ไม่เคยประกาศนโยบายต่อไทย แต่ตอนนี้เขาสนใจจีน ตอนนี้จีนเป็นประเด็นสำคัญมาก โดย Romney โจมตี Obama ว่า อ่อนข้อให้กับจีน ผมจึงวิเคราะห์ว่า หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี เป้าหมายหลักคงไม่เปลี่ยน จีนยังคงเป็นปัจจัยหลัก ในการกำหนดนโยบายของสหรัฐต่อภูมิภาคต่อไป แต่ว่าวิธีการของ Romney อาจจะกลับไปเหมือนวิธีการของ Bush คือ หันไปเน้น ทวิภาคีนิยม หันไปเน้น Hub and Spoke และจะลดความสำคัญของอาเซียนลง  
เพราะฉะนั้น นโยบายหลักคงจะไม่เปลี่ยน คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน แต่วิธีการอาจจะเปลี่ยน นโยบายของ Obama อาจจะนิ่มนวลกว่า นโยบายของ Romney อาจจะแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น และRomney อาจจะให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคีมากขึ้น และอาจลดความสำคัญต่ออาเซียนลง

ผลกระทบต่อไทย
ภาพรวม
                สำหรับผลกระทบของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐต่อไทยนั้น นโยบายต่อไทยก็เช่นเดียวกับนโยบายใหญ่ คือ เป้าหมายใหญ่คงไม่เปลี่ยน คือมองว่า ไทยเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐในเอเชีย อเมริกามีพันธมิตรหลักอยู่ 5 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ก็จะประกาศเหมือนกันว่า ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และมองว่าไทยเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นหมากสำคัญในยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน อเมริกาจะยังคงมองว่าไทยเป็นประตูสู่อาเซียนต่อไป และมองว่าไทยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ไทยมี GDP เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย คือมี GDP ประมาณ 3 แสนล้านเหรียญ ดังนั้น เค้กเศรษฐกิจของไทยก็เป็นเค้กก้อนโตเหมือนกัน
                ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยรวมจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากนัก ไม่ว่าจะเป็นRepublican หรือ Democrat ไทยก็จะยังคงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐต่อไป และอเมริกาก็จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยต่อไป

Bush
                แต่ถามว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สำหรับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ คำตอบ คือ ขอให้ดูว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐบีบให้ไทยเป็นพันธมิตรในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย Bush เน้นเจรจา FTA กับไทยแบบทวิภาคี นี่คือ 2 เรื่องที่อเมริกาต้องการจากไทยในสมัย Bush ถามว่าไทยดำเนินการอย่างไรต่อสหรัฐ คำตอบ คือ ไทยร่วมมือกับสหรัฐทั้ง 2 เรื่อง ทั้งในการต่อต้านการก่อการร้าย และการเจรจา FTA คือ เราเล่นตามเกมส์ของสหรัฐตลอด
Obama
                ถามว่าสมัย Obama อเมริกาดำเนินนโยบายอะไรต่อไทย คำตอบคือ รัฐบาล Obama ให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น และลดความสำคัญของไทยลง ดังนั้น ไทยในช่วงนี้ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยพยายามทำให้สหรัฐเห็นถึงความสำคัญของไทยมากขึ้น แต่อเมริกาก็มีแนวโน้มลดความสำคัญของไทยลง ยุทธศาสตร์ของอเมริกา คือ การหาพันธมิตรใหม่ๆ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงค์โปร และตอนนี้ก็กำลังไปที่พม่า ดังนั้น ในอนาคต โจทย์ใหญ่ของนโยบายไทยต่อสหรัฐ คือ จะทำอย่างไรให้อเมริกาเห็นความสำคัญของไทยมากขึ้น

Romney
                แต่สำหรับ Romney หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี จะหันมาให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคีมากขึ้น คือ กลับมาให้ความสำคัญกับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทย นั่นก็หมายความว่า หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี ไทยจะมีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของสหรัฐ
 นอกจากนี้ หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี ไทยก็อาจจะได้ของแถมอีกอันหนึ่ง คือ FTA ไทย-สหรัฐ ไทยเคยเจรจา FTA กับสหรัฐในสมัยรัฐบาลของทักษิณ แต่ก็หยุดไป เพราะมีรัฐประหาร ปี 2006 ต่อมาในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐก็เปลี่ยนนโยบายไม่เจรจา FTA ทวิภาคีต่อ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า รัฐบาลที่มาจากพรรค Republican อาจจะกลับมาสนใจเจรจา FTA ทวิภาคีอีกครั้ง นั้นก็หมายความว่า FTA ไทย-สหรัฐอาจจะได้รับการปัดฝุ่นกลับมาเจรจากันใหม่

บทสรุป
                สรุป หากเราจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2012 นี้
หาก Obama ชนะการเลือกตั้ง ทุกอย่างก็คงจะเหมือนเดิม 4 ปีที่ผ่านมา เคยเป็นอย่างไร อีก 4 ปีข้างหน้า ก็จะเป็นอย่างนั้น คงจะไม่ต้องวิเคราะห์อะไรกันมาก
แต่โจทย์สำคัญคือ หาก Romney ได้เป็นประธานาธิบดี อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า
ในระดับโลก อาจจะเป็นลบ เพราะโลกอาจจะปั่นป่วน เพราะ Romney อาจจะแข็งกร้าวต่ออิหร่าน เกาหลีเหนือ รัสเซีย และจีน มากขึ้น โลกจะวุ่นวายมากขึ้น
ในระดับภูมิภาคเอเชีย บวก ลบ คูณ หารแล้ว น่าจะเป็นลบ เพราะรัฐบาล Romney น่าจะมีปัญหากับจีนมากขึ้น จะทำให้ภูมิภาคปั่นป่วน
สำหรับไทย บวก ลบ คูณ หารแล้ว ไทยจะได้หรือเสียหาก Romney ได้มาเป็นประธานาธิบดี ผมคิดว่า ไทยคงจะทั้งได้และเสีย ผลดีต่อไทย คือ Romney จะให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคีมากขึ้น จะให้ความสำคัญต่อไทยมากขึ้น FTA ไทย-สหรัฐ อาจได้รับการปัดฝุ่นเจรจากันใหม่ ความสัมพันธ์ทางทหารไทยกับสหรัฐ จะกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในทางลบต่อไทย คือ ผลกระทบทางอ้อมที่จะเป็นผลกระทบในเชิงลูกโซ่ โดยรัฐบาล Romney น่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อโลกและต่อภูมิภาค ดังนั้น หากโลกปั่นป่วน ภูมิภาคปั่นป่วน ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยก็คงจะปั่นป่วนไปด้วย 





ไม่มีความคิดเห็น: