Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2556


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ เป็นตอนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปีหน้า โดยจะวิเคราะห์ว่า จะมีเรื่องสำคัญๆ อะไรบ้าง ดังนี้

               การก่อการร้าย

               ปัญหาการก่อการร้ายสากล ยังจะเป็นปัญหาสำคัญของโลกในปีหน้า ในภูมิภาคต่างๆ น่าจะยังคงเปราะบางกับปัญหาการก่อการร้าย ทวีปที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของการก่อการร้ายในปีหน้าคือ

               ทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศที่น่าจะเป็นเป้าของการก่อการร้ายคือ สหรัฐ ขณะนี้ มีบทวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยและ Think Tank ในสหรัฐหลายแหล่ง คาดการณ์ว่า ในปีหน้า สหรัฐอาจถูกโจมตีครั้งใหญ่ เหมือนกับเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 โดยตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา แผ่นดินใหญ่สหรัฐยังไม่ถูกโจมตีครั้งใหญ่อีกเลย กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม al-Qaeda จ้องวางแผนที่จะโจมตีสหรัฐมาตลอด ในปีหน้า คงต้องจับตาดูอย่างระทึกว่า จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้หรือไม่

               อีกเรื่องหนึ่งที่สหรัฐอาจถูกโจมตี คือ การโจมตีในอินเตอร์เน็ต ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า cyber attack โดยมีความเป็นไปได้ไม่น้อยทีเดียว ที่กลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งประเทศที่ไม่ชอบสหรัฐ อาทิ จีน รัสเซีย อาจโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐเป็นอัมพาต อาทิ โครงสร้างสาธารณูปโภค เครือข่ายตลาดการเงิน เป็นต้น

               สำหรับทวีปเอเชีย เป้าของการก่อการร้าย จะอยู่ที่อัฟกานิสถานและปากีสถาน ในปีหน้า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ที่สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน จะเพิ่มความรุนแรงและไร้เสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เปิดโอกาสให้นักรบตาลีบัน ฮึกเหิมและเพิ่มการโจมตีกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานและฝ่ายพันธมิตรนาโต้ นอกจากนี้ ในปากีสถานเอง ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน ที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการรุกคืบของนักรบฝ่ายตาลีบัน

               และแน่นอนว่า ตะวันออกกลางจะยังคงเป็นสมรภูมิสำคัญของการก่อการร้าย โดยมีหลายประเทศที่ล่อแหลมว่าปัญหาการก่อการร้ายจะเพิ่มขึ้น อาทิ ในประเทศเยเมน กลุ่มก่อการร้าย al-Qaeda in the Arabian Peninsula จะแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความล้มเหลวของมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ นอกจากนี้ อีกประเทศที่น่าเป็นห่วงคือลิเบีย ซึ่งมีแนวโน้มว่า กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น

               สำหรับในทวีปแอฟริกา ก็มีหลายประเทศที่ล่อแหลมต่อการก่อการร้าย โดยเฉพาะโซมาเลีย กลุ่มก่อการร้าย al-Shabab ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ al-Qaeda  มีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาทในโซมาเลียและในประเทศเพื่อนบ้านด้วย และอีกประเทศที่ต้องจับตามองคือ ประเทศมาลี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายเกือบยึดอำนาจรัฐได้ ถึงขั้นที่ฝรั่งเศสต้องส่งกองกำลังทางทหารแทรกแซงเข้าไปในมาลีเพื่อยุติการยึดประเทศจากกลุ่มหัวรุนแรง

               ตะวันออกกลาง

               ภูมิภาคที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดในปีหน้าคือ ตะวันออกกลาง ซึ่งก็เป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ในปีหน้า จะมีหลายเรื่องหลายประเทศเป็นปัญหาสำคัญของโลก ดังนี้

               สงครามกลางเมืองในซีเรีย จะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แม้ว่าในปีนี้ จะมีความพยายามจากหลายฝ่าย ที่จะยุติสงคราม แต่ก็ล้มเหลว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลซีเรียกลับใช้อาวุธเคมีสังหารฝ่ายต่อต้าน ซึ่งนับเป็นอัตรายอย่างยิ่ง ปีหน้าสงครามซีเรียยังไม่มีทีท่าว่า จะจบลง แต่มีแนวโน้มว่า จะลุกลามขยายความรุนแรงมากขึ้นไปอีก จนอาจถึงขึ้นมหาอำนาจต้องส่งทหารเข้าแทรกแซงเพื่อยุติสงคราม

               อีกประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ที่มีปัญหามานานแล้วคือ อิหร่าน ปัญหาสำคัญที่ยืดเยื้อมาหลายปี คือ การที่อิหร่านถูกกล่าวหาว่า แอบพัฒนาอาวุธนิวเครียร์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตร รวมทั้งสหรัฐและอิสราเอลได้ขู่ว่าจะโจมตีอิหร่านหลายครั้ง จนในปีนี้ อิหร่านก็ยอมลดความแข็งกร้าวลง โดยยอมกลับมาเจรจากับฝ่ายตะวันตก ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันจากนานาชาติ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า การเจรจาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งถ้าเอาประวัติศาสตร์มาดู ก็จะเห็นว่า โอกาสของความล้มเหลวมีสูง เพราะที่ผ่านมา ก็มีการเจรจามาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ซึ่งถ้าหากในปีหน้า การเจรจาล้มเหลว ตะวันตกก็คงจะขู่ว่าจะโจมตีอิหร่านอีก ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติการณ์ในตะวันออกกลางครั้งใหม่ และหากเกิดสงครามก็จะวุ่นวายกันใหญ่

               สำหรับประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหา คือ อิรัก ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะเกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้ง โดยเป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 นิกาย คือซุนนีกับชีอะห์ ส่วนจอร์แดน ก็อาจมีความวุ่นวายมากขึ้น โดยอาจได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านคือซีเรีย อียิปต์ก็มีแนวโน้มว่า สถานการณ์การเมืองอาจเลวร้ายลงเช่นเดียวกับเลบานอน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในซีเรียเช่นเดียวกัน รวมทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวkurd ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นกับตุรกี

               เอเชีย

               สำหรับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก ศูนย์กลางของวิกฤตการณ์ในภูมิภาค ยังคงอยู่ที่คาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงต้นปีนี้ และสหรัฐประเมินว่า เกาหลีเหนือน่าจะมีวัตถุดิบที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ถึง 5 ลูก แต่ที่น่าเป็นห่วงมากในปีหน้าคือ เสถียรภาพของการเมืองภายใน โดยรัฐบาลของ Kim Jong-un กำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ และมีกระแสข่าวความขัดแย้งภายในรัฐบาล เมื่อเร็วๆนี้ Jang Song-thaek ซึ่งเป็นลุงของ Kim Jong-un ได้ถูกประหารชีวิตในข้อหาพยายามทำรัฐประหารล้มรัฐบาล Kim Jong-un ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า จะเกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมาอีกหลายเรื่อง คือ หากความไม่สงบทางการเมืองลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง มหาอำนาจอาจส่งทหารเข้าแทรกแซง นอกจากนั้น ก็จะมีปัญหาตามมาในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์

               ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในปีหน้า ก็อยู่ในขั้นอันตราย เพราะในปีนี้ ก็ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในกรณีพิพาท เกาะเซนกากุหรือเกาะเตียวหยู ซึ่งในปีหน้า ความขัดแย้งยังจะคงมีอยู่ต่อไป แต่แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ การทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ของความขัดแย้ง ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยมีสหรัฐเข้ามาวุ่นวายด้วย

               จุดอันตรายอีกจุดคือทะเลจีนใต้ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายปี โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน ปีนี้จีนกับเวียดนามก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก ส่วนจีนกับฟิลิปปินส์ก็เช่นเดียวกัน ปีหน้า ความขัดแย้งจะยังคงยืดเยื้อต่อไป แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจา แต่นโยบายของจีนมีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะกันทางทหารระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนได้ โดยจะมีสหรัฐเข้ามาวุ่นวายด้วยเช่นกัน

               สำหรับเอเชียใต้ จุดอันตรายคือความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย โดยเฉพาะกรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะกันทางทหารได้ และจุดอันตรายอีกจุดคือ การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งอาจลุกลามบานปลายจากการก่อวินาศกรรม หรือการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงชาวปากีสถาน ที่ผ่านมา อินเดียก็กล่าวหาปากีสถานว่าสนับสนุนการก่อการร้ายดังกล่าว  นอกจากนี้ สถานการณ์อาจจะบานปลายจากความขัดแย้งในเขตแคชเมียร์ได้ด้วย

               แอฟริกา

               สุดท้ายคือทวีปแอฟริกา ที่จะยังคงมีปัญหาความวุ่นวายอยู่ต่อไป โดยมีมากมายหลายประเทศที่จะมีสงครามกลางเมืองและมีความขัดแย้งขั้นรุนแรง อาทิ ไนจีเรีย ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างคนที่นับถือศาสนาคริสต์กับอิสลาม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ปีหน้า มีแนวโน้มค่อนข้างสูงว่า ความขัดแย้งทางศาสนา อาจลุกลามเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ก็มีหลายประเทศที่มีปัญหาการก่อการร้ายและสงครามกลางเมือง เช่น Central African Republic ซึ่งมีปัญหาการก่อการร้ายที่รุนแรง ส่วนในซูดาน ก็เช่นเดียวกัน ก็มีปัญหาความวุ่นวาย นอกจากนี้ มีแนวโน้มความขัดแย้งทางทหารระหว่างซูดานกับซูดานใต้ และอีกประเทศที่ต้องจับตามองคือคองโก ซึ่งสงครามกลางเมืองน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น

               กล่าวโดยสรุป ที่ผมได้วิเคราะห์มา จะเห็นภาพว่า ในปีหน้า สถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงโลก ยังจะอยู่ในสภาวะปั่นป่วนและวุ่นวาย เกือบจะทั่วทั้งโลก โดยภูมิภาคที่จะวุ่นวายมากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง รองลงมาคือ เอเชียและแอฟริกา ส่วนอเมริกา ก็คงต้องลุ้นดูว่า จะเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯครั้งที่ 2 หรือไม่

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เครือข่ายอาเซียนศึกษา Network of ASEAN Studies (NAS)

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2556


บทนำ

            ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มนับถอยหลังในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปี ก็จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ขณะนี้ ทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ ก็กำลังเดินหน้ากันอย่างเต็มที่ ในการเตรียมความพร้อมดังกล่าว

            และด้วยความตื่นตัวเรื่องอาเซียนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถานศึกษาต่างๆ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านอาเซียนขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐหลายกระทรวง ได้มีการจัดตั้งกองอาเซียนขึ้น อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บางกระทรวงมีการจัดตั้ง ASEAN Unit ขึ้น ส่วนภาคเอกชน สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม มีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาก โดยสภาหอการค้าได้จัดตั้งกลไกที่เรียกว่า AEC Prompt ขึ้น ภาคประชาสังคมมีการจัดตั้ง ASEAN Watch ส่วนสถาบันการศึกษามีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนขึ้น อาทิ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง มีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาขึ้นแล้ว และกำลังมีแนวโน้มว่า ในอนาคต มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพิ่มขึ้นอีกมาก

            อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านอาเซียนศึกษาต่างๆดังกล่าวข้างต้น ยังขาดการเชื่อมโยงด้านข้อมูลและขาดความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งหากหน่วยงานเหล่านี้ ได้มีความร่วมมือระหว่างกัน จะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีดำริ ริเริ่มในการสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาขึ้น ทั้งในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาคอาเซียน

            การจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาในประเทศไทย

            สำหรับแผนที่จะมีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาขึ้นนั้น หลักๆ มี 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายในประเทศไทย และเครือข่ายกับประเทศสมาชิกอาเซียน

            สำหรับเครือข่ายในประเทศไทยนั้น จะแบ่งเป็นการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ 4 เครือข่ายด้วยกัน คือ เครือข่ายภาคกลาง มีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง เครือข่ายภาคเหนือ มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง และเครือข่ายภาคใต้ มีจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลาง

            ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายด้านอาเซียนศึกษาในประเทศไทยขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีนี้ ในเขตภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมกว่า 70 หน่วยงาน

            ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น โดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 140 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และ NGO ด้วย

            และในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ก็จะมีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายในภาคเหนือ โดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน

            และในช่วงต้นปีหน้า จะมีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาในภาคใต้ โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกำหนดจะจัดขึ้นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

            สำหรับผลการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง ถึงกิจกรรมด้านอาเซียนศึกษาของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของหน่วยงานต่างๆ และมีการระดมสมองเพื่อสร้างเครือข่ายด้านอาเซียนศึกษาในภูมิภาค โดยได้มีการตกลงกันในหลักการว่า ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นแม่ข่ายหลักของเครือข่ายอาเซียนศึกษาในระดับประเทศ แต่สำหรับในระดับภูมิภาค ได้มีการตกลงกันว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นแม่ข่ายหลัก ของเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

            สำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆนั้น จะเริ่มด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งก็มีแผนในหลายด้าน อาทิ การจัดทำ Directory เอกสารคู่มือว่า หน่วยงานไหนทำอะไรในด้านอาเซียนบ้าง ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนบ้าง นอกจากนี้ จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลในเว็บไซต์ ในลักษณะการเชื่อมลิงค์ต่างๆ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิจัย ฝึกอบรม รวมทั้งแชร์ข้อมูลเอกสาร หนังสือ บทความ รายงานการวิจัยต่างๆ ด้วย

            นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการจัดตั้งเครือข่ายย่อยที่เน้นเฉพาะเรื่อง เช่น เครือข่ายการทำวิจัยเกี่ยวกับอาเซียน และมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยต่างๆ มีเครือข่ายด้านฝึกอบรม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านฝึกอบรม และร่วมมือในการจัดฝึกอบรมร่วมกัน

            สำหรับความร่วมมืออีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายในการเป็นคลังสมอง หรือ Think Tank ในด้านอาเซียนศึกษา โดยหากคลังสมองต่างๆ ที่ทำเรื่องอาเซียน สามารถจัดตั้งเครือข่ายคลังสมองด้านอาเซียนได้สำเร็จ เครือข่ายดังกล่าวจะสามารถศึกษาประเด็นปัญหาร่วมกัน นโยบายด้านอาเซียน และสามารถเสนอเป็น ยpolicy recommendation  คือเป็นข้อเสนอนโยบายด้านอาเซียนให้กับสังคมและรัฐบาล ซึ่งความร่วมมือในทุกด้าน จะเป็นในลักษณะ pool resource คือการระดมทรัพยากรร่วมกัน โดยที่แต่ละหน่วยงานมีทรัพยากรจำกัด เครือข่ายจะช่วยได้มากในการระดมทรัพยากร นอกจากนี้ หากศูนย์ใดศูนย์หนึ่งเสนอข้อเสนอให้กับรัฐบาล ก็อาจไม่มีน้ำหนัก แต่หากเสนอในนามเครือข่าย 20-30 สถาบัน ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น ในระยะยาว เครือข่ายดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะแก่ประเทศและสังคมต่อไป

            การจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

            แผนการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษานั้น ไม่ใช่จะทำเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะมีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาในระดับภูมิภาคอาเซียนโดยรวมด้วย คือการจัดตั้งเครือข่ายที่มีสมาชิกเป็นศูนย์อาเซียนศึกษาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งจะมีชื่อเครือข่ายว่า Network of ASEAN Studies

            นอกจากนี้ แผนระยะยาวคือ การสร้าง global network คือ เครือข่ายในระดับโลก ที่ศึกษาด้านอาเซียน โดยจะขยายเครือข่ายออกไปครอบคลุมศูนย์หรือสถาบันอาเซียนของประเทศอื่นๆทั่วโลก

            และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ได้จัด “ Regional Workshop on Network of ASEAN Studies”ขึ้น โดยมีศูนย์อาเซียนศึกษาจากอินโดนีเซียเข้าร่วมเกือบ 10 ศูนย์ ในส่วนของไทย มีศูนย์อาเซียนศึกษาของจุฬาฯ สิงคโปร์มีศูนย์อาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัย NUS และ Nanyang มาเลเซียมี University of Malaya และสถาบันอาเซียนศึกษาของ University Teknologi MARA และมีศูนย์และสถาบันจากบรูไน กัมพูชา และเวียดนามเข้าร่วมด้วย ที่ประชุมมีมติอย่างเป็นทางการ ให้มีการจัดตั้ง Network of ASEAN Studies ขึ้น โดยศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม ให้เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย และจะจัดประชุมประจำปีครั้งแรกของเครือข่ายขึ้น ในเดือนกันยายนปีหน้า ที่ประเทศไทย

            กล่าวโดยสรุป การสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาขึ้น ทั้งในประเทศไทยและในอาเซียน ได้มีความคืบหน้าไปมาก และในอนาคต หากเครือข่ายได้พัฒนาไปอย่างสมบูรณ์ เครือข่ายดังกล่าวก็จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และจะทำให้ประชาคมอาเซียน มีความเข้มแข็งมากขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งก็หวังว่า ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสามารถเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาเครือข่ายดังกล่าว และจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป 

           

           

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะนำเสนอยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทยดังนี้

            ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

            ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 ประชาคมย่อยได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

               สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community  หรือเรียกย่อว่า ASCC โดย ASCC จะให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               ด้านการพัฒนามนุษย์ จะเน้นในเรื่องความร่วมมือทางด้านการศึกษา

               ด้านสวัสดิการสังคม ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

                ด้านสิทธิทางสังคม อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิต สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

               สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมใน Blueprint ของ ASCC ได้เน้นว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด

               และสำหรับในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ จะเน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน

               ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย

               ไทยควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเข้าสู่ ASCC ได้อย่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรมีรูปร่างหน้าตาดังนี้

               วิสัยทัศน์ ของยุทธศาสตร์ ASCC ของไทยคือ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

โดยจะมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้

               ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนามนุษย์

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

               โดยจะมีกลยุทธ์หลักๆ คือ การส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียนมากขึ้น การส่งเสริมและเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในด้านการศึกษา การส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค

               ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และให้ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมสวัสดิการสังคมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของ ASCC การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสวัสดิการสังคมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการมีมาตรการรองรับผลกระทบทางสังคม ที่เป็นผลมาจากประชาคมอาเซียน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของไทย

               การจัดการกับภัยพิบัติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ โดยกลยุทธ์ที่สำคัญของไทยในด้านนี้คือ การส่งเสริมการสร้างระบบบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับภูมิภาค ให้มีบูรณาการ โดยให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความร่วมมือในด้านนี้ และให้ไทยมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียน

               ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ การส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิ และให้ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ การส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การคุ้มครองสิทธิแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน โดยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการกับปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมายในไทย และกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบในทางลบจากแรงงานต่างด้าว 

               ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การปรับประสานกฎระเบียบด้านมาตรฐานและมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างศักยภาพของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

               ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ คือ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะ และวัฒนธรรมของอาเซียน

               ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมการตระหนักการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียน และความรู้สึกของการเป็นประชาคม ด้วยการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาเซียน เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมอาเซียน

               นอกจากนี้ กลยุทธ์อีกประการคือ การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน ด้วยการพัฒนาความร่วมมือเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศอาเซียน การพัฒนาจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นประตูวัฒนธรรมสู่อาเซียนหรือ ASEAN Culturul Gateway รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในประชาคมอาเซียน ในมิติทางสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Cultural Literacy) ให้แก่ประชาชนและสังคมไทยด้วย

 

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556


ในการที่ไทยจะมียุทธศาสตร์สู่ประชาคมอาเซียนนั้น จุดเริ่มต้นคือ การทำ SWOT analysis คือการวิเคราะห์ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย รวมทั้งวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของไทยในประชาคมอาเซียน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย ดังนี้

          ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

          ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) นั้น เรื่องสำคัญคือ ความร่วมมือในด้านสิทธิมนุษยชน และความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ได้แก่ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ข้ามชาติ การค้ายาเสพติดข้ามชาติ และปัญหาภัยพิบัติ เป็นต้น

          สำหรับผลกระทบของAPSC ต่อไทยนั้น ในด้านความร่วมมือสิทธิมนุษยชน ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในอาเซียนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ คือ แม้ว่าจะมีความร่วมมือในด้านนี้มากขึ้น แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็คงจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งโยงไปถึงเรื่องการค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงานต่างด้าว นอกจากนั้น ยังอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นฐานของคนในภูมิภาค ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา

          สำหรับในประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่นั้น ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ จะเพิ่มมากขึ้น อาทิ มีการกำหนดมาตรการด้านการค้ามนุษย์ การกำหนดมาตรการเพื่อให้อาเซียนปลอดยาเสพติด และกลไกแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบได้แก่ ไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่และความท้าทายข้ามแดนมากขึ้น เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ เครือข่ายการค้ายาเสพติดข้ามชาติ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข และความมั่นคงภายในประเทศ ปัญหาจากกลุ่มก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงประโยชน์จากการเปิดและเคลื่อนย้ายเสรี ทำให้การป้องกันและปราบปรามมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น

         

         

          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) นั้น เน้นการทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยมีการเปิดเสรีใน 5 ด้านด้วยกัน คือการเปิดเสรีการค้าสินค้า การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ การเปิดเสรีด้านการลงทุน การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ

·      ภาพรวม

          สำหรับผลกระทบในภาพรวมนั้น ผลกระทบในเชิงบวกคือ เมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขึ้น จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่และหลากหลาย สามารถรองรับผลผลิตที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ประชาชนมีทางเลือกสินค้าและบริการมากขึ้น ความร่วมมือและปฎิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น และไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความได้เปรียบและพร้อม

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบของ AEC ต่อไทย คือ การแข่งขันทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้นในอาเซียน และเกิดการแข่งขันเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง

·      การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี

          ผลกระทบในเชิงบวกต่อไทย ที่สำคัญมี 3 ประการคือ

-        สินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบ เช่น น้ำตาล ผักและผลไม้กระป๋อง อาหารแช่แข็ง กระดาษและสิ่งพิมพ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์เหล็ก อัญมณี ข้าว สิ่งทอ ยางพารา และเม็ดพลาสติก จะมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดอาเซียนมากขึ้น

-        การมีอำนาจต่อรองที่มากขึ้น การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้ก่อให้เกิดตลาดในภูมิภาค ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน การรวมตัวเป็นประชาคม จึงทำให้เกิดอำนาจการต่อรองทางการค้ากับกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ

-        เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ต้องเร่งพัฒนาฝีมือ ตลอดทั้งสินค้าและบริการ ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน พร้อมที่จะต่อสู้ในการค้าการบริการในระดับระหว่างประเทศ

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ จากการเปิดเสรีการค้าสินค้า ใน AEC ต่อไทย ที่สำคัญคือ สินค้าที่ไทยเสียเปรียบและไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแป้งมัน และอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับต่างประเทศ ดังนั้นธุรกิจที่ไม่พร้อมและเสียเปรียบ อาจประสบปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการ

·      การเคลื่อนย้ายบริการอย่างเสรี

          สำหรับผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ ธุรกิจบริการด้านการศึกษานานาชาติ ภาพยนตร์ ธุรกิจการจัดประชุม (MICE) การท่องเที่ยว บริการสุขภาพ สปาและนวดแผนไทย และบริการโทรคมนาคม จะมีความได้เปรียบ และมีโอกาสขยายธุรกิจไปในอาเซียนมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบต่อไทยคือ ธุรกิจบริการที่ไทยเสียเปรียบและไม่พร้อมในการแข่งขัน อาทิ ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และธุรกิจการให้บริการก่อสร้าง อาจจะประสบปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการ เนื่องจากความไม่พร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี

·      การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี

          สำหรับผลกระทบในเชิงบวกคือ การเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรีในอาเซียน จะทำให้ธุรกิจไทยมีโอกาสมากขึ้น ในการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนไปยังประเทศอาเซียน นอกจากนี้ เนื่องจากขนาดของประชากรที่มีมากกว่า 600 ล้านคน และการที่อาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว จะเป็นแรงจูงใจให้ประเทศนอกอาเซียน สนใจมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบในเชิงลบก็มี โดยเฉพาะจะมีการลงทุนจากธุรกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาในไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น

 

 

·      การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

                     สำหรับผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ แรงงานมีฝีมือของไทย จะมีโอกาสทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยจะมีแรงงานมีฝีมือที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียน มาช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบคือ แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ แต่จากการที่มีการเคลื่อนย้ายบุคคลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนง่ายขึ้น อาจทำให้ปัญหาแรงงานไร้ฝีมือผิดกฎหมาย ในไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือ จะมีแรงงานจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาแข่งขันในตลาดแรงงานในไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการประกอบอาชีพของคนไทย

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

          สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) นั้น เรื่องสำคัญคือ ความร่วมมือในการพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

·      การพัฒนามนุษย์

         เรื่องสำคัญคือ ความร่วมมือในด้านการศึกษา ระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ ประชาชนคนไทยมีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งสถานศึกษามีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ แรงงานในประเทศไทย จะมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับแรงงานในประเทศอาเซียนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบต่อไทยคือ ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการกำหนดมาตรฐานแรงงานของอาเซียน ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากมาตรฐานที่ใช้อยู่ภายในประเทศ

·      การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

         ผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือในการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทย

         อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบคือ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน อาจส่งผลให้ปัญหาสังคมในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น

·      ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม

         ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการสำหรับ สตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาในการละเมิดสิทธิและสวัสดิการ กลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะเพิ่มตามไปด้วย

·      ด้านสิ่งแวดล้อม

         ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผลกระทบในเชิงลบคือ แม้ว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะปัญหาจากมลพิษของเสียข้ามแดน

·      การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน  

         ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และความพยายามในการแสวงหา และสร้างอัตลักษณ์อาเซียนเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผลกระทบในเชิงลบคือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนว่า จะทำให้อัตลักษณ์ของไทยถูกกลืนไป ดังนั้น ความเข้าใจผิดดังกล่าว อาจนำไปสู่กระแสการต่อต้านความความยามในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนร่วมกัน