จีน-สหรัฐฯ กับสงคราม cyberwarfare
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2556
สงครามในรูปแบบใหม่
คือ สงครามในอินเทอร์เน็ต ซึ่งประเทศต่างๆ เริ่มที่จะทำสงคราม ที่เรียกว่า cyberwarfare กันบ้างแล้ว และจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ cyberwarfare ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ดังนี้
รายงานของ Mandiant
ในช่วงที่ผ่านมา เครือข่าย hacker ของจีน ถูกมองว่าเป็นมือสมัครเล่น
ที่ต้องการเจาะข้อมูลของรัฐบาลและบริษัทธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มมองว่า การจารกรรมทางอินเทอร์เน็ต
เป็นฝีมือของพวกมืออาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตก
ได้มีความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆว่า จีนกำลังเป็นตัวการสำคัญของการ hack ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการขโมยความลับทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ
ของตะวันตก เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้มีหลักฐานและสัญญาณแสดงให้เห็นว่า
รัฐบาลจีนอาจจะมีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย Eric Schmidt, CEO ของ Google ได้เคยกล่าวว่า
จีน เป็นประเทศที่ hack ข้อมูลของบริษัทต่างชาติมากที่สุด
ช่วงที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนก็ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ได้มีรายงานของบริษัท Mandiant ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ
เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม hacker โดยได้กล่าวว่า
กลุ่ม hacker
เหล่านี้ ได้ hack เข้าไปในเครือข่ายของบริษัทตะวันตก
เพื่อขโมยข้อมูลความลับทางธุรกิจ
และที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา คือ ข้อมูลที่ว่า เครือข่าย hacker เหล่านี้ แท้ที่จริงแล้ว เป็นกลุ่มของหน่วยงานหนึ่งในกองทัพจีน
ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Unit 61398 มีสำนักงานตั้งอยู่ชานนครเซี่ยงไฮ้
และมีบุคลากรหลายพันคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รายงานดังกล่าว
ได้ระบุว่า กลุ่ม hacker กลุ่มนี้
ซึ่งมีชื่อว่า APT1
เป็นกลุ่ม hacker ที่มีความสามารถมากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง
Mandiant ได้อ้างว่า
hacker
ของ Unit 61398 นี้
ได้เข้าไปขโมยพิมพ์เขียวทางด้านเทคโนโลยี ข้อมูลแผนการเจรจา และข้อมูลกระบวนการผลิตของบริษัทตะวันตก
โดยเฉพาะบริษัทอเมริกัน กว่าร้อยบริษัท นอกจากนี้ กลุ่ม hacker ยังสามารถเจาะเข้าไปในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของบริษัทที่ทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
และ hack
เข้าไปในเครือข่ายของบริษัท
ที่เกี่ยวข้องกับท่อส่งน้ำมันและพลังงานของสหรัฐฯ ไม่มีใครรู้ว่า
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับบริษัทเหล่านี้ มีมูลค่าเท่าไร แต่ชาวอเมริกัน
เริ่มมีความเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆว่า จีนคือตัวการสำคัญในเรื่องนี้
Mandiant ได้วิเคราะห์ว่า เป้าหมายของจีนในการ hack ข้อมูลเหล่านี้ คือ การสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทของจีน
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญ ที่จีนตั้งเป้าว่า จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคต
Mandiant
อ้างว่า hacker ของจีน
ได้มีส่วนในการสนับสนุนความพยายามของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน คือ CNOOC ที่จะซื้อกิจการของบริษัทก๊าซธรรมชาติอเมริกัน
ที่มีชื่อว่า Chesapeake
Energy นอกจากนี้ ที่เป็นกรณีที่ฮือฮากันมากที่สุด
คือ รายงานของหนังสือพิมพ์ New York Times ที่ระบุว่า ในขณะที่บริษัท Coca-Cola กำลังเจรจาเพื่อที่จะซื้อบริษัทน้ำผลไม้ของจีนอยู่นั้น
Unit
61398 ก็ได้ hack เข้าไปในฐานข้อมูลของบริษัท Coca-Cola เพื่อค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะแผนการเจรจาของบริษัท
ปฏิกิริยา
หลังจากที่มีรายงานของ Mandiant ออกมา
รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาแถลงว่า
จีนเองนั่นแหละ คือเหยื่อของการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น
และจีนก็มีกฎหมายที่ห้ามการ hack ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต
การกล่าวหาจีนโดยไม่มีหลักฐานเช่นนี้ ถือว่าบริษัท Mandiant ไม่มีความรับผิดชอบและไม่มีความเป็นมืออาชีพ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า
รายงานของ Mandiant
มีลักษณะของการมีอคติที่โจมตีจีน
ในลักษณะ Blame
China First โดยในหลายกรณี บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา อาทิ Apple, Facebook,
Twitter บริษัทเหล่านี้ก็ถูก hack ข้อมูลทั้งสิ้น
แต่หลักฐานก็มีแนวโน้มว่า กลุ่ม hacker น่าจะมาจากยุโรปตะวันออกมากกว่า
และการโจมตีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของบริษัท Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็น่าจะเป็นการโจมตีจาก hacker ชาวอิหร่าน ดังนั้น นอกจากจีนแล้ว
ก็ยังมี รัสเซีย บัลแกเรีย โรมาเนีย และยูเครน
ที่มีการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตมากเช่นเดียวกัน แท้ที่จริงแล้ว สหรัฐฯ เอง ก็มีการกระทำที่มีลักษณะเป็นการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเหมือนกับประเทศอื่นเช่นกัน
โดยมีหลักฐานและรายงานข่าวออกมาเช่นกันว่า สหรัฐฯเองก็พยายามไป hack ข้อมูลของประเทศอื่นด้วย
แนวโน้ม
ผลกระทบจากรายงานของ Mandiant อาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านจีนมากขึ้น
โดยหากรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า รัฐบาลจีนมีส่วนร่วมรู้เห็นในเรื่องนี้ ก็คงจะลุกลามกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการทูต
และคงจะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจีนในสภา Congress มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การผลักดันมาตรการคว่ำบาตร
และมาตรการตอบโต้จีน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ
โดยหลังจากที่มีรายงานของ Mandiant ออกมา
รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศที่จะเพิ่มมาตรการการป้องกันการขโมยความลับทางการค้าในอินเทอร์เน็ต
และมาตรการเชิงรุกในสงคราม cyberwarfare และจีน ก็ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ในแถลงการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ
ในเรื่องนี้
ผมมองว่า รายงานของ Mandiant ในเรื่องการ hack ข้อมูลความลับทางธุรกิจของจีนในครั้งนี้
เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม cyberwarfare ที่กำลังลุกลามขยายตัวไปครอบคลุมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เรื่องนี้กำลังถูกมองในสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า เป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เมื่อช่วงปีที่แล้ว
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อทำสงคราม cyberwarfare โดยมองว่า ภัยคุกคามรูปแบบใหม่คือ
ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
ขึ้นอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
และข้อมูลที่อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก
อีกนัยหนึ่ง ความมั่นคงของสหรัฐฯ
ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ พลังงาน การเงิน การธนาคาร
การขนส่ง การคมนาคม และข้อมูลทางทหาร ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ จำเป็นต้องพึ่งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น
จึงทำให้เกิดความเปราะบาง ทำให้เกิดภัยคุกคามได้ง่าย กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มองว่า
ขณะนี้ มีหลายประเทศที่เข้ามา hack ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
สถานการณ์ภัยคุกคามในโลกอินเทอร์เน็ต ได้วิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว
พร้อมกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยี เครื่องมือในการ hack ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มที่ต้องการสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐฯ
ปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ศัตรูของสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสร้างอาวุธที่มีราคาแพงอีกต่อไป
แต่ก็สามารถคุกคามสหรัฐฯ ได้ ด้วยการใช้สงคราม
cyberwarfare
กล่าวโดยสรุป
ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังลุกลามเข้าสู่สมรภูมิหรือแนวรบใหม่
ที่เรียกว่า cyberwarfare
สงครามในโลกอินเทอร์เน็ต
กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิเทียบเท่ากับ สมรภูมิทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งในอนาคต
cyberwarfare
จะทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น