ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2557
ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นนำไปแล้วว่า
ขณะนี้กำลังมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคม แต่มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่งที่หลายคนมองข้าม
คือการปฏิรูปการต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ และการทูตของไทย โดยในตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์การต่างประเทศของไทย
จากอดีตที่เคยรุ่งเรือง มาสู่ยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่การต่างประเทศของไทยตกต่ำลงอย่างมาก
พร้อมๆกับการตกต่ำลงของประเทศไทยในทุกๆเรื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปฏิรูป
และพลิกฟื้นประเทศไทย ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ว่า เราจะมาปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะเราจะปฏิรูปการต่างประเทศของไทย
ให้กลับมาโดดเด่น และช่วยให้ประเทศกลับมารุ่งเรืองได้อย่างไร
ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
คำตอบของผมคือ
เราจะต้องปฏิรูปการต่างประเทศในหลายด้าน แต่ขณะนี้ ลำดับความสำคัญสูงสุดคือ
การปฏิรูปยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย
ประเด็นสำคัญคือ
อาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไทย ซึ่งมีอยู่หลายด้าน ดังนี้
ด้านการค้า
อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย 25 %
ของการค้าไทย เป็นการค้ากับอาเซียน
ด้านภาคบริการ
การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ การให้บริการทางการแพทย์ และการศึกษา
ภาคบริการเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็น hub และนับวันจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนมากขึ้น
ด้านการลงทุน ไทยจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
มีแรงงาน มีวัตถุดิบ ซึ่งที่ผ่านมา คือการย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านแรงงาน
ปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการแก้ปัญหาของเราคือ
การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือจากประเทศสมาชิกอาเซียน
หากเอา GDP ของประเทศสมาชิก 10 ประเทศมารวมกัน
จะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนจึงมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และในปี 2030 อาเซียนอาจจะมีขนาดเศรษฐกิจ
ใหญ่เป็นอันดับ
5 ของโลก อาเซียนจึงกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก
เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการเป็นสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นเวทีทางการทูตและองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค
และอาเซียนก็เป็นการรวมกลุ่มที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก
จะเป็นรองก็แต่เพียงสหภาพยุโรปเท่านั้น ไทยเป็นประเทศเล็ก เราจะเสียเปรียบอย่างมาก
หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นในอาเซียน
เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง
และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ
ที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญต่ออาเซียน และจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อม และยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
แต่ปัญหาใหญ่ของไทยคือ
ขณะนี้เรายังไม่มียุทธศาสตร์ชาติ ยังไม่มีแผนแม่บทในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไทยจึงยังไม่พร้อม
และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เรากำลังจะพลาดโอกาสทอง ในการใช้อาเซียนมาเป็นตัวช่วยในการพลิกฟื้นประเทศไทย
ในขณะที่ไทยควรจะเดินหน้าและมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
แต่ไทยกลับล้มลุกคลุกคลาน และประสบกับวิกฤติต่างๆมากมาย ทำให้ไทยอ่อนแอลงอย่างมาก
จนไม่สามารถมีบทบาทนำในอาเซียนได้ ประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ
จากที่เราเคยเป็นผู้นำอาเซียน อันดับหนึ่งของอาเซียน ตอนนี้เราก็ตกมาอยู่อับดับ 4
ของอาเซียน และก็อาจจะตกอันดับลงไปเรื่อยๆ
ผมมองว่า การเตรียมความพร้อมและการมียุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย
จะเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น
วาระแห่งชาติในขณะนี้คือ ปฏิรูปการเตรียมความพร้อมของไทย และรีบกำหนดยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยโดยเร็วที่สุด
เราเหลือเวลาไม่มากแล้ว คือในวันที่ 31 ธันวาคมปีหน้า เราก็จะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว
จุดเริ่มต้นของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องนี้คือ
การทำ SWOT analysis คือ การวิเคราะห์ผลกระทบประชาคมอาเซียนต่อไทย
และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของไทยในประชาคมอาเซียน
จุดอ่อนของไทยคือ
ความอ่อนแอและความตกต่ำของไทยในทุกๆด้าน
และคนไทยก็ยังไม่พร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
แต่ไทยก็มีจุดแข็งหลายประการในอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน
ทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการเป็น hub ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรมของอาเซียน
ยุทธศาสตร์ของไทยคือ
เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อรองรับผลกระทบในเชิงบวก ยุทธศาสตร์ในเชิงรับ หรือมาตรการการรองรับ
สำหรับผลกระทบในเชิงลบ ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้จุดอ่อนของประเทศ และยุทธศาสตร์ในการใช้จุดแข็งของไทย
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศในประชาคมอาเซียน
วิสัยทัศน์ของไทยต่อประชาคมอาเซียนคือ
การเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน
โดยยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น
เป้าหมายหลักคือ ไทยจะเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนในอาเซียน
มีบทบาทนำในการพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้ง และการจัดการปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น
เป้าหมายหลักคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการของอาเซียน
สินค้าที่ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบ
และมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดอาเซียนมากขึ้น ที่โดดเด่นคือ สินค้าอาหารและยานยนต์ ไทยอยู่ใน
5 อันดับแรกของโลกในการส่งออกสินค้าอาหาร ไทยจึงมีศักยภาพที่จะเป็น hub ของสินค้าเกษตรและอาหารของอาเซียน นอกจากนี้ ไทยยังเป็น hub ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนด้วย
สำหรับด้านการท่องเที่ยว
ไทยก็มีความโดดเด่นมากโดยติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ไทยก็ยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ของภูมิภาค หรือที่เราเรียกว่า medical hub
ไทยโชคดีที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน
ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมระหว่างประเทศอาเซียน จึงต้องผ่านไทยทั้งหมด
ไทยคือ สี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพในการเป็น hub ของการคมนาคมขนส่งของอาเซียน รวมทั้งทางด้านโลจิสติกส์
สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสูประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น
มีเป้าหมายหลักคือ การทำให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษาของอาเซียน
มีบทบาทนำในด้านสวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาสและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งทางด้านการสร้างอัตลักษณ์ด้านอาเซียน และการเป็น hub ของการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของอาเซียนด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ
ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของคนไทย เป้าหมายหลักคือ การทำให้คนไทยทุกภาคส่วน
ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชน มีความพร้อม ทั้งในด้านทักษะ สมรรถนะ และทัศนคติ
ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่
3 เกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น