Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 3 ) : grand strategy

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2557)

              ในอดีต นโยบายต่างประเทศและการทูตของไทย ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดของชาติ และความเจริญรุ่งเรืองของไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การต่างประเทศของไทยก็ตกต่ำลงอย่างมาก พร้อมๆกับการตกต่ำของประเทศไทยในทุกๆเรื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
               สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาคือ การขาด grand strategy หรือยุทธศาสตร์ใหญ่ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท การต่างประเทศไทย ทำให้เราขาดนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก ขาดการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ๆ จึงทำให้การทูตและการต่างประเทศไทยหยุดนิ่ง ทำให้ไทยสูญเสียบทบาทนำในอาเซียน สูญเสียการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และสูญเสียความสำคัญในสายตาประชาคมโลกและมหาอำนาจ
·       grand strategy
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ด้วยการจัดทำ grand strategy ทางด้านนโยบายต่างประเทศ โดยจะต้องมีการกำหนดแนวทางใหญ่ๆ เป็นภาพรวมและภาพกว้าง ต้องมีการผลักดันยุทธศาสตร์และนโยบายในเชิงรุก คือจะต้องมียุทธศาสตร์สำหรับบทบาทของไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน จะต้องมีนโยบายในเชิงรุก ในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกกับมหาอำนาจ และภูมิภาคอื่นๆด้วย
·       การทูตเชิงสุจริต
grand strategy ของไทยจะต้องมุ่งแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต คือจะต้องไม่เป็น “การทูตเชิงธุรกิจ” หรือ “การทูตเชิงทุจริต” แต่การทูตในยุคใหม่ของไทย จะต้องเป็น “การทูตเชิงสุจริต” ที่เน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งเน้นหลักธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย
·       นโยบายทางสายกลาง
grand strategy ของไทย จะต้องมีลักษณะสมดุล เน้นนโยบายทางสายกลาง คือต้องไม่มีนโยบายแบบสุดโต่ง อย่างเช่นในบางสมัย รัฐบาลมีนโยบายสุดโต่ง มีลักษณะ “โลภมาก” ทำหลายเรื่องมากเกินไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นลักษณะแบบหยุดนิ่งแบบสุดโต่ง เหมือนในสมัยที่ผ่านมา นโยบายสายกลางยังหมายถึง การมียุทธศาสตร์การสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจ ไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมากเกินไป นโยบายสายกลางยังหมายถึง การสร้างสมดุลระหว่างการเป็นพลเมืองโลกที่ดีกับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีด้วย
·       ศูนย์กลางของภูมิภาค
grand strategy ของไทย จะต้องเน้นจุดแข็งของไทย คือผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือเป็น hub ของประชาคมอาเซียนและของภูมิภาค ไทยโชคดีที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมระหว่างประเทศอาเซียนจึงต้องผ่านไทยทั้งหมด ไทยคือสี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพในการเป็น hub ของประชาคมอาเซียน
·       ประเทศผู้ประสานงาน (coordinator)
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยคือ เราสามารถเข้ากับใครก็ได้ ไทยจึงสามารถที่จะมีบทบาทเด่นในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกได้ ในฐานะเป็นตัวกลางประสานงานหรือที่เรียกว่า coordinator ทั้งในฐานะตัวกลางประสานความร่วมมือ และเป็นตัวกลางประสานรอยร้าวและตัวกลางประสานจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น ไทยควรเล่นบทบาทเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน
·      multi-track strategy
        ยุทธศาสตร์ใหญ่อีกประการคือ ไทยควรจะดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์หลายช่องทาง หรือ multi-track strategy  คือการดำเนินนโยบายระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคีไปพร้อมๆกัน โดยจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของระดับต่างๆ และประสานให้นโยบายในระดับต่างๆ เกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และมีเอกภาพบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน
·       พลเมืองโลกและเพื่อนบ้านที่ดี
ไทยควรมียุทธศาสตร์เน้นการเป็นพลเมืองโลกที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเพื่อนบ้านที่ดีด้วย ตัวอย่างเช่น ไทยอาจเล่นบทบาทที่โดดเด่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นพลเมืองโลกที่ดี แต่เราก็ต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ฉะนั้นความพอดี จุดสมดุลอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งที่ไทยจะต้องหาจุดสมดุลดังกล่าวให้ได้


·      global network
ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างเครือข่ายในระดับโลก (global network) โดยการผลักดันให้ คนไทย ได้เข้าไปมีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีตำแหน่งในระดับสูง ในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ เลขาธิการสหประชาชาติ หรือผู้อำนวยการใหญ่ WTO
·      กลไกนโยบายต่างประเทศ
เราจะต้องมีการปฏิรูปกลไกนโยบายต่างประเทศของไทย ให้มีความเป็นธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องการประสานงาน การซ้ำซ้อน และการขาดประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ จุดอ่อนสำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยคือ การขาด think tank คลังสมองหรือสถาบันวิจัย ที่จะเป็นกลไกในการช่วยรัฐบาล ศึกษาค้นคว้า เสนอแนะ แนวนโยบายต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่น สหรัฐ ก็จะเห็นได้ว่า เราขาดตรงนี้เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา ไทยก็ใช้วิธีคิดในใจใช้ไหวพริบ และสัญชาติญาณในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ การกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยในลักษณะนี้ จึงขาดข้อมูลในเชิงลึกและขาดการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ทำให้นโยบายต่างประเทศไทยเป็นผลผลิตทางความคิดของคนเพียงไม่กี่คน
·      ยุทธศาสตร์ “สนต้องลม”
ในอดีต การทูตไทยมีลักษณะเด่นคือ เป็นนโยบายที่ฝรั่งเรียกว่า bending with the wind หรือนโยบาย “สนลู่ลม” โดยไทยมักจะมีไหวพริบดีในการอ่านทิศทางลม แล้วลู่ตามลมตามมหาอำนาจในยุคสมัยต่างๆ เช่นในสมัยล่าอาณานิคม เราก็ลู่ตามลมอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้เรารอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็ลู่ตามลมญี่ปุ่น สมัยสงครามเย็นเราก็ลู่ตามลมสหรัฐ แต่การที่เรามีนโยบาย “สนลู่ลม” มาโดยตลอด ทำให้ไทยถูกมองว่า ไม่มีหลักการ และเก่งแต่การเอาตัวรอด ซึ่งนโยบายดังกล่าว มีประโยชน์ต่อไทยในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมองไทยอย่างไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ นโยบาย “สนลู่ลม” ทำให้ไทยเน้นการพึ่งพิงมหาอำนาจมากเกินไป จนเป็นความเคยชินทางการทูต ที่เราจะต้องรีบวิ่งเข้าหามหาอำนาจ ตีสนิทกับดาวรุ่งดวงใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ไทยในอนาคต น่าจะปรับเปลี่ยนจาก “สนลู่ลม” มาเป็น “สนต้องลม” เสียมากกว่า
·      แกนหลักของกลุ่มประเทศพุทธ
จุดเด่นอีกจุดที่เราอาจจะมองข้ามไปคือ ไทยสามารถที่จะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธและเป็นแกนนำของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยจำเป็นต้องมีพวก มีกลุ่ม นอกจากอาเซียนแล้ว ไทยก็ไม่มีแนวร่วมธรรมชาติในเวทีระหว่างประเทศเลย ฉะนั้น แนวร่วมหนึ่งที่ไทยจะต้องพัฒนาคือ แนวร่วมของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีไทยเป็นแกนหลัก
·      ยุทธศาสตร์ต่อประเทศและเวทีต่างๆ
และแน่นอน grand strategy ของไทย ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งต่อเวทีพหุภาคีต่างๆ โจทย์ใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคตคือ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจเก่า (สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น) นั้น ผมไม่ค่อยห่วง เพราะไทยเข้ากับมหาอำนาจได้ดีอยู่แล้ว ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านที่เรามีปัญหามาโดยตลอด แต่โจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคตคือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจใหม่ อาทิ บราซิล อินเดีย ตุรกี นอกจากนี้ นโยบาย “ตีสองหน้า” ของไทยที่พยายามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและสหรัฐนั้น ก็กำลังจะเล่นยากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา ไทยปฏิเสธที่จะเลือกข้าง แต่ในอนาคต หากจีนกับสหรัฐขัดแย้งกันหนักขึ้น ไทยจะถูกบีบให้ต้องเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นยุทธศาสตร์ไทยในอนาคต จะต้องมีการกำหนดแนวทางและมาตรการ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ดังกล่าว
สำหรับบทบาทไทยในเวทีพหุภาคีนั้น อาเซียนจะต้องเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ในเวทีพหุภาคีของไทย โดยจะต้องมีการพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน สำหรับบทบาทไทยในเวทีโลกนั้น ที่ผ่านมา ไทยแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย ดังนั้น grand strategy เป้าหมายระยะยาวคือ ไทยจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก อาทิ ในสหประชาชาติ WTO IMF และธนาคารโลก เป็นต้น รวมทั้งพยายามเข้าไปเป็นสมาชิกในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งก็จะสอดรับกับเป้าหมายระยะยาวของไทยที่จะยกระดับให้ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่
·      branding Thailand
สุดท้าย grand strategy ของไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ในอดีต ไทยมีภาพลักษณ์ที่เป็นบวกหลายด้าน เป็นสยามเมืองยิ้ม ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และไมตรีจิตของคนไทย เป็นฐานการผลิตที่น่าลงทุน รวมทั้งสินค้า made in Thailand          
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของประเทศก็เปลี่ยนจากบวกเป็น
ลบมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนจากสยามเมืองยิ้ม เป็นสงครามกลางเมือง และความรุนแรง ภาพลักษณ์ของประเทศก็เสียหายอย่างหนัก ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นับเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้าง brand Thailand เป็นอย่างยิ่ง
               ดังนั้น grand strategy ด้านการต่างประเทศของไทย จะต้องมียุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
ของไทย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า branding Thailand โดยจะต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ในการกอบกู้ภาพลักษณ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และทัศนคติที่ดีของไทยในสายตาประเทศต่างๆทั่วโลก

(โปรดติดตามอ่านต่อ “ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 4 )” ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2557)

1 ความคิดเห็น:

Pisit Jongs กล่าวว่า...

ยุทธศาษตร์หลัก: ห็นด้วยอย่างยิ่ง