วิกฤตอาหารโลก
ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
สถานการณ์วิกฤตอาหารโลก
สถานการณ์ราคาอาหารโลกได้เข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยถือว่าสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะราคาธัญพืช ข้าวเจ้า และข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด ราคาข้าวเจ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วในรอบ 3 ปี ราคาอาหารได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเกือบเท่าตัว
จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศยากจนที่ต้องนำเข้าอาหารประสบวิกฤตอย่างหนัก ราคาอาหารในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนจนในประเทศไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหาร จึงนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงและความวุ่นวายในหลายประเทศ ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นในทวีปแอฟริกา นอกจากนั้น ประเทศในเอเชียใต้ก็ประสบปัญหาอย่างหนัก เช่น อินเดียและบังคลาเทศ รวมไปถึงประเทศแถบอเมริกากลาง อย่างเช่น ไฮติ ก็เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้น
สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก
สำหรับสาเหตุของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายปัจจัย และมีความสลับซับซ้อน ผมอยากจะแยกสาเหตุออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นสาเหตุที่มีลักษณะเป็นชนวนที่นำไปสู่วิกฤต และอีกกลุ่มคือสาเหตุที่เรียกว่า รากเหง้าของปัญหา
ชนวนวิกฤตอาหารโลก
สำหรับสาเหตุที่เป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ อาจแบ่งๆได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
• ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่อุปทานหรือ supply มีน้อยลง ในขณะ
ที่อุปสงค์หรือ demand มากขึ้น นี่ก็เป็นไปตามกลไกตลาด คือ เมื่ออุปทานไม่พอราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น
• สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุปสงค์ หรือความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมา
จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ความต้องการการบริโภคอาหารและการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนและอินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้อุปทานลดลง และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
• ปัจจัยต่อมาเป็นผลลูกโซ่มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่าน
มา ซึ่งการที่น้ำมันราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย
• อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นผลลูกโซ่จากราคาน้ำมัน นั่นคือแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ
หันไปหาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการนำเอาพืชบางชนิดมาใช้ในการเป็นพลังงาน ตัวอย่างเช่นน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ที่ผสมอีเธอนอลซึ่งทำมาจากพืช และน้ำมันไบโอดีเซลก็มีส่วนผสมมาจากพืชเช่นเดียวกัน การนำเอาพืชต่างๆมาทำเป็นพลังงานใหม่ เป็นผลทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้น
• นอกจากนี้ ระบบอาหารโลกยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ
ภูมิภาค ที่หนักที่สุดคือภาวะแห้งแล้งในออสเตรเลีย ออสเตรเลียนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก ทำให้ออสเตรเลียไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารต่างๆรวมทั้งข้าวได้ บางคนวิเคราะห์ไปไกลถึงขั้นภาวะแห้งแล้งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
• ส่วนชนวนสุดท้ายที่ก่อให้เกิดวิกฤตอาหารโลกคือ ประเทศผู้ส่งออกเกิดการตื่น
ตระหนกกลัวเรื่องการขาดแคลนอาหาร จึงมีการจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารต่างๆ โดยเฉพาะข้าว อย่างเช่น คาซัคสถาน ผู้ส่งออกข้าวสาลีก็จำกัดการส่งออก เวียดนามและไทยก็มีการจำกัดการส่งออกข้าวเจ้า ก็ยิ่งทำให้ภาวะวิกฤตอาหารโลกทรุดหนักลงไปอีก
รากเหง้าของปัญหาวิกฤตอาหารโลก
อย่างไรก็ตาม ที่วิเคราะห์ข้างต้นนั้น ผมมองว่า เป็นเพียงชนวน จริงๆแล้ววิกฤตอาหาร
โลกนั้น รากเหง้าของปัญหามีอยู่หลายประการ ดังนี้
• ความยากจน ผมคิดว่า ความยากจนถือเป็นรากเหง้าของปัญหาที่สำคัญที่สุด
เพราะจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เกิดความวุ่นวายนั้น คือประเทศที่ยากจนทั้งสิ้น
สหประชาชาติเคยสำรวจคนจนในโลก โดยมีถึง 2,800 ล้านคนที่เป็นคนจนที่มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน และมีถึง 1,200 ล้านคนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญต่อวัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้
นอกจากนี้ UN ยังได้ระบุว่า มีคนในโลกถึง 800 ล้านคนที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร และประสบภาวะหิวโหย มีอาหารไม่พอกิน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้และตะวันออกกลาง ตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา โดยมีการคาดการว่า จะมีคนที่หิวโหยและขาดแคลนอาหารในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าภายในปี 2080
ปัญหาความยากจนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ มากมายหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมในประเทศเหล่านี้ที่ให้ผลผลิตที่ต่ำ และนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร
• สำหรับรากเหง้าของปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ นโยบายของรัฐ ทั้งในประเทศยากจน
และประเทศร่ำรวย ที่มีการบิดเบือนกลไกตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยได้มีการบิดเบือนกลไกตลาดเป็นอย่างมาก มีการให้เงินอุดหนุน (subsidy) มีมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทำให้การค้าสินค้าเกษตรไม่ได้เป็นไปโดยเสรี ถึงแม้ว่าในการเจรจา WTO รอบ Doha จะได้มีความพยายามเจรจาในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะประเทศร่ำรวยไม่ยอมเปิดเสรีสินค้าเกษตรของตน
• สำหรับสาเหตุรากเหง้าอีกประการคือ การที่ประชาคมโลก ละทิ้งไม่ได้ให้ความ
สนใจที่จะช่วยเหลือประเทศยากจนในการพัฒนาด้านการเกษตร ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกให้เงินกู้แก่ประเทศยากจนในด้านการเกษตร ลดลงจาก 30% ในปี 1978 เหลือเพียง 8% ในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯก็ตัดเงินให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรแก่แอฟริกาลงไปถึง 75%
ทางออกการแก้ไขวิกฤตอาหารโลก
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีการประชุม ของ UN ที่กรุงเวียนนา เพื่อหามาตรการแก้ไข
วิกฤตอาหารโลก โดยนาย บัน คี มูน เลขา UN ได้กล่าวว่า ขณะนี้ ปัญหาราคาสินค้าอาหารโลกได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ของโลกไปแล้ว และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ การขาดแคลนอาหารในประเทศยากจนนั้น ขณะนี้มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มบทบาทขององค์กร World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประเทศยากจน WFP ได้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญในปีนี้ เพื่อซื้ออาหารช่วยเหลือคนยากจนประมาณ 70 ล้านคน แต่จากการที่ราคาอาหารได้เพิ่มสูงขึ้นทำให้งบประมาณดังกล่าวไม่พอจะซื้ออาหารสำหรับคน 70 ล้านคน ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้คือ ระดมให้ประเทศร่ำรวยลงขันให้เงินกับ WFP เพิ่มเติม อย่างน้อยประมาณ 800 ล้านเหรียญ
นอกจากนี้ หลาย ๆ องค์กรได้ออกมาบอกว่าต้องมีนโยบายใหม่เกี่ยวกับอาหารโลก โดยนาย Robert Zoellick ประธานธนาคารโลกได้ออกมาบอกว่า ต้องมี new deal สำหรับการแก้ปัญหา IMF และ FAO ก็กำลังหามาตรการในการแก้วิกฤตดังกล่าวอยู่
การแก้ปัญหาระยะยาวที่รากเหง้าของปัญหา
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การแก้ปัญหาวิกฤตอาหารโลกอย่างยั่งยืน ต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา โดยคงจะต้องเน้น 3 เรื่องด้วยกัน
• การแก้ปัญหาความยากจน โดยประเทศยากจนจะต้องมีการปรับนโยบายเศรษฐกิจ
ลดการบิดเบือนกลไกตลาด เปิดเสรีสินค้าเกษตร และมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มผลผลิต อย่างไรก็ตาม ประเทศยากจนก็อ่อนแอเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น ประเทศร่ำรวยและประชาคมโลกจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
• สำหรับประเทศร่ำรวย ก็จะต้องมีการเปิดเสรีสินค้าเกษตรของตนอย่างจริงจัง EU
ให้เงินอุดหนุนภาคเกษตรถึงปีละ 5 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐฯและญี่ปุ่นก็ให้เงินอุดหนุนสูงมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันการเจรจา WTO รอบ Doha ให้สามารถบรรลุข้อตกลงในการเปิดเสรีสินค้าเกษตรให้ได้
• สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ บทบาทของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็น UN
ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ จะต้องเพิ่มบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจน และแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารโลก ธนาคารโลกได้ประกาศว่าจะปล่อยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรในประเทศยากจนเพิ่มขึ้น 800 ล้านเหรียญ สำหรับในกรอบของ UN นั้น เมื่อปี 2000 ได้มีการกำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจน คือ Millennium Development Goal หรือ MDG ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนคนจนและคนหิวโหยลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 ประชาคมโลกคงจะต้องผลักดันให้เป้าหมาย MDG ประสบความสำเร็จ เพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารโลกอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น