Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

จีน กับการท้าทายระเบียบเศรษฐกิจโลกของตะวันตก

จีน กับการท้าทายระเบียบเศรษฐกิจโลกของตะวันตก

Fred Bergsten นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดี Bill Clinton ได้เขียนบทความวิเคราะห์ เกี่ยวกับจีนกับการท้าทายระเบียบเศรษฐกิจโลกของตะวันตก ในวารสาร Foreign Affairs ฉบับล่าสุด คือ ฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 2008 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้นำเอาบทความดังกล่าว มาสรุปวิเคราะห์ ดังนี้

จีนกับระเบียบเศรษฐกิจโลก
Bergsten ได้วิเคราะห์ว่า ตะวันตกกำลังพยายามให้จีน เข้ามามีความรับผิดชอบในระบบเศรษฐกิจโลก แต่ความพยายามดังกล่าว ดูจะเป็นสิ่งยากยิ่ง ทั้งนี้เพราะ ขณะนี้ จีนดูเหมือนจะไม่สนใจที่จะเล่นบทบาทดังกล่าว

สหรัฐฯ ถึงแม้จะยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่จีนก็กำลังผงาดขึ้นมา และเติบโตเร็วมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรวดเร็ว กำลังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสำหรับในเอเชีย จีนก็มีแนวโน้มที่จะครอบงำเอเชียในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัญหา 3 เรื่องของจีนคือ แม้ว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ แต่จีนยังเป็นประเทศยากจน เป็นประเทศที่ไม่มีระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นประเทศเผด็จการอยู่ ปัญหาทั้ง 3 ด้านนี้ จึงทำให้เป็นสิ่งที่ยาก ที่จะทำให้จีนมีความรับผิดชอบ ซึ่งควรจะมีสำหรับประเทศที่เป็นอภิมหาอำนาจ
ตะวันตกพยายามที่จะ ดึงจีนให้เข้ามาอยู่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกของตะวันตก แต่ก็มีแนวโน้มว่า จีนกำลังมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่น และกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ที่ขัดแย้งกับกฎระเบียบและบรรทัดฐานของระเบียบเศรษฐกิจโลกที่ตะวันตกครอบงำอยู่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา จีนได้เรียกร้องให้มีการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า New International Economic Order และจีนกำลังท้าทายสหรัฐฯ ด้วยการเสนอฉันทามติปักกิ่ง (Beijing Consensus) เพื่อที่จะมาสู้กับฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)

WTO
Bergsten ได้โจมตีจีนต่อไปว่า จีนเล่นบทบาทที่เป็นการทำลายระบบการค้าโลก โดยจีนพยายามส่งเสริมการจัดทำ FTA ที่มีคุณภาพต่ำ และมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง แทนที่จะให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีทางการค้าโดยผ่าน WTO แต่เพราะจีนเป็นประเทศที่มีการเกินดุลการค้ามากที่สุดในโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้น พฤติกรรมของจีนเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายระบบการค้าโลก

ใน WTO จีนปฏิเสธที่จะผลักดันการเจรจารอบ Doha ให้สำเร็จ การที่จีนไม่มีบทบาทในเชิงบวกในการเจรจารอบ Doha ก็เท่ากับเป็นการทำให้การเจรจาครั้งนี้ล้มเหลวอย่างแน่นอน โดยจีนได้ประกาศว่า จีนไม่มีพันธกรณีในเรื่องการเปิดเสรี และจีนก็อ้างว่า จีนเป็นสมาชิกใหม่ของ WTO เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการเล่นบทบาทในเชิงลบ

FTA
จีนได้ส่งเสริมการเจรจา FTA ทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับภูมิภาค ซึ่งวาระซ่อนเร้นก็คือ เหตุผลทางการเมืองไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจ อาทิ FTA อาเซียนกับจีน เป็นเหตุผลทางการเมืองที่จีนต้องการเอาใจอาเซียน ลดความหวาดระแวงของอาเซียน และหวังว่าจะใช้เป็นช่องทางขยายอิทธิพลทางการเมืองเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ FTA ที่จีนทำกับประเทศต่าง ๆ ก็มีคุณภาพต่ำ แต่จีนอ้างว่า จีนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา และยังต้องใช้หลักการการปฏิบัติที่มีความพิเศษและมีความแตกต่าง (special and differential treatment)

กลุ่มการค้าเอเชีย
Bergsten โจมตีจีนต่อว่า จีนกำลังทำลายระบบการค้าโลก ด้วยการสนับสนุนการจัดตั้ง กลุ่มการค้าเอเชียตะวันออก โดยมีลักษณะเป็นเครือข่ายของ FTA ต่าง ๆ อาทิ FTA จีน-อาเซียน FTA ญี่ปุ่น – อาเซียน FTA เกาหลี-อาเซียน และ FTA ทวิภาคีกับอีกหลายประเทศ รวมทั้งการผลักดันกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก สิ่งเหล่านี้ภายในทศวรรษหน้า จะนำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ซึ่งจะมีจีนเป็นผู้นำ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอเชียตะวันออกจะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากสหรัฐฯและยุโรป ทั้งนี้เพราะ ตะวันตกจะรู้สึกว่าถูกกีดกัน และยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเอเชียตะวันออกจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกกลายเป็นระบบ 3 ขั้ว (ขั้วยุโรป ขั้วสหรัฐฯ และขั้วเอเชีย) ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งในระบบเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น

เอเปค
นอกจากนี้ การท้าทายของจีนต่อระบบการค้าโลก ยังเห็นได้ชัดเจน ในกรณีที่จีนต่อต้านคัดค้านข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ซึ่งสหรัฐฯได้เสนอในเวทีการประชุมเอเปค โดย Bergsten กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มการค้าเอเชียกับสหรัฐฯ และป้องกันไม่ให้มีการขีดเส้นแบ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิค

ระบบการเงินโลก
Bergsten ได้โจมตีจีนว่า นอกจากจะท้าทายระเบียบการค้าโลกแล้ว จีนยังท้าทายระเบียบการเงินโลกอีกด้วย โดยบอกว่า จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศเดียวในโลก ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและลอยตัว โดยจีนยังคงเดินหน้าทำให้เงินหยวนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้จีนมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น แต่การทำเช่นนั้น ก็เป็นการละเมิดบรรทัดฐานขั้นพื้นฐานของระบบการเงินโลก และของ IMF ซึ่งระบุว่า สมาชิกของ IMF จะต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปแทรกแซงและบิดเบือนระบบอัตราแลกเปลี่ยน

ผลของการกระทำของจีน จึงกลายเป็นว่า จีนกลายเป็นประเทศค้าขายรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 12% ของ GDP และมีปริมาณเงินเกินดุลอยู่ถึง 5 แสนล้านเหรียญ ซึ่งนำไปสู่ภาวะ การขาดสมดุลในระบบการเงินโลก และอาจจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยน และวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม จีนก็ปฏิเสธที่จะเดินตามแรงกดดันของสหรัฐฯที่ให้มีการปรับค่าเงินหยวน โดยจีนได้อ้างมาโดยตลอดว่า ระบบอัตราการแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศนั้น เป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศ ที่ประเทศอื่นไม่ควรเข้ามายุ่ง

นอกจากนี้ จีนพยายามจัดตั้ง กองทุนการเงินแห่งเอเชีย (Asian Monetary Fund) เพื่อที่จะมาแข่งกับ IMF และลดบทบาท IMF และจีนยังพยายาม ในระยะยาว ที่จะทำให้เงินหยวนของจีนมีบทบาททั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
จีนกำลังจะเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก แต่จีนก็กำลังท้าทายบรรทัดฐาน โดยปฏิเสธเงื่อนไขที่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือได้ใช้มาโดยตลอด

จีนปฏิเสธมาตรฐานทางสังคม คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังปฏิเสธมาตรฐานทางเศรษฐกิจ คือการแก้ไขปัญหาความยากจน และการมีธรรมภิบาล สิ่งเหล่านี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่หน่วยงานให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและประเทศตะวันตกได้ใช้มาโดยตลอด แต่สำหรับจีน เงื่อนไขสำคัญที่สุดคือ เหตุผลทางการเมือง โดยจีนตั้งเงื่อนไขว่า จีนจะให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่สนับสนุนท่าทีของจีนในประเด็นปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งเงื่อนไขที่ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจะต้องส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงานให้กับจีน

กล่าวโดยสรุป การวิเคราะห์ของ Fred Bergsten เป็นการมองจีนในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์สายเหยี่ยวชาวอเมริกัน ที่มองจีนเป็นศัตรูและเป็นลบเป็นอย่างมาก และมีความลำเอียงเข้าข้างตะวันตกและสหรัฐฯอย่างชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น: