ถึงเวลาปฏิรูปองค์กรโลก
องค์กรโลกในปัจจุบัน
ในช่วงวันที่ 7-9 กรกฎาคมนี้ ได้มีการจัดประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G 8 ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น แต่กลุ่มประเทศ G 8 ก็ไม่สามารถสะท้อนโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้ เพราะถ้าหาก G 8 จะหารือเกี่ยวกับราคาน้ำมัน ก็ไม่มีซาอุดิอาระเบีย และถ้าจะหารือเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่มีจีนซึ่งมีปัญหาค่าเงินหยวน และ G 8 จะหารือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาอื่นๆ ของโลกได้อย่างไร ถ้าปราศจากตัวแทนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
องค์กรโลกในปัจจุบันจึงกำลังประสบ วิกฤตศรัทธาอย่างหนัก G 8 ดูเก่าและล้าสมัย และไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็ไม่มีความชอบธรรม และไม่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่นในกรณีอิหร่าน ก็ไม่สามารถยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ก็ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการจัดการกับวิกฤตการณ์การเงินรอบใหม่ที่เราเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤต subprime การเจรจาองค์การการค้าโลกหรือ WTO รอบ Doha ก็กำลังทำท่าว่าจะล่ม
จึงกลายเป็นว่า ขณะที่ปัญหาของโลกกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่องค์การระหว่างประเทศที่น่าจะเป็นกลไกแก้ปัญหาของโลก กลับไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาคมโลกอย่างแท้จริง จึงได้มีเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะต้องให้มีการปฏิรูปองค์กรโลกอย่างจริงจัง
การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่
สถาบันของโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น UN หรือองค์กรด้านเศรษฐกิจอย่างเช่น IMF หรือธนาคารโลก ต่างก็ถูกจัดตั้งขึ้นมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศผู้ชนะสงคราม โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว เป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งระเบียบโลกใหม่ และสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น UN IMF ธนาคารโลก หรือ G 8 ก็เป็นฝีมือของสหรัฐฯทั้งสิ้น ประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศตะวันตก ก็เข้าครอบงำองค์กรโลกทั้งหมด ที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกก็งุบงิบกัน หารือกันในองค์กรโลกต่าง ๆ และกำหนดกติกาต่างๆของโลกขึ้นมา และบังคับให้ทุกประเทศต้องทำตาม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การผงาดขึ้นมาของประเทศมหาอำนาจใหม่ อาทิ จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนา กำลังท้าทายการครอบงำองค์กรโลกของตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ ต้องการที่จะให้มีการปฏิรูปโครงสร้างใหม่ของระบบโลก โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์กรโลกต่าง ๆ
ภายในปี 2025 หรือ 2030 สามในสี่ชองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะเป็นประเทศจากเอเชีย นั่นคือ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น รัสเซียก็กำลังกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงหลังสงครามเย็น นอกจากนี้ ยังมีบราซิลอีกประเทศที่น่าจับตามอง มีบางคนขนานนามมหาอำนาจใหม่กลุ่มนี้ด้วยอักษรย่อว่า BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil, Russia, India, China
G 8
ในอดีต กลุ่ม G 7 ซึ่งต่อมาบวกเอารัสเซียเข้ามาด้วย กลายเป็น G 8 นั้น เคยมีบทบาทอย่างมากในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ในการประสานท่าทีต่อประเด็นปัญหาเศรษฐกิจโลก ในช่วง 30 ปีที่แล้ว G 7 ก็คงจะมีพลังอำนาจจริง เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในมือของ 7 ประเทศนี้
แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงทำให้การประชุม G 8 ในปัจจุบัน ไม่มีความหมาย และไม่มีความชอบธรรม G 8 ไม่ได้สะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจของโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะ มีประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างมาก แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G 8 นั่นคือ จีนและอินเดีย จึงทำให้ G 8 ขาดความชอบธรรมในการเป็นกลุ่มประเทศผู้นำของโลกอย่างในอดีต
ในระยะหลัง ๆ จึงได้มีข้อเสนอให้มีการขยาย G 8 ออกไป โดยมองไปที่ จีน อินเดีย และบราซิล แต่ดูเหมือนว่า สหรัฐฯและตะวันตกก็ยังคงปฏิเสธ ไม่ยอมให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในกลุ่ม G 8 ของตน
คณะมนตรีความมั่นคง
สำหรับโครงสร้างของคณะมนตรีความมั่นคงนั้น ก็ล้าสมัยมาก โดยประเทศสมาชิกถาวรทั้ง 5 คือประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น โครงสร้างของคณะมนตรีความมั่นคงในปัจจุบัน ก็ยังคงสะท้อนภาพของสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านมาแล้วถึง 60 กว่าปี
ดังนั้น จึงได้มีเสียงเรียกร้องมาโดยตลอดว่า ให้มีการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง ให้สะท้อนถึงโลกแห่งความเป็นจริง เยอรมนี และญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกกีดกันจากคณะมนตรีความมั่นคงมาแต่แรก และไม่มีที่นั่งถาวร แม้ว่าขณะนี้ ประเทศทั้งสองจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 3 ของโลกแล้วก็ตาม
เมื่อปี 2005 ได้มีข้อเสนอปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง ในการประชุมสุดยอดครบรอบการก่อตั้ง 60 ปี UN โดยเสนอให้เพิ่มจำนวนสมาชิก จาก 15 เป็น 21 โดยที่นั่งที่เพิ่มขึ้นจะมีสถานะเป็นสมาชิกถาวรแต่ไม่มีสิทธิยับยั้ง แต่ในที่สุด ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกถาวรทั้ง 5 ซึ่งยังไม่มีความจริงใจที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิกถาวรให้กับใคร
ซึ่งในตอนหลัง นอกจากญี่ปุ่นและเยอรมนีแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่อยากเป็นสมาชิกถาวร อาทิ อินเดีย บราซิล อิตาลี แต่ในที่สุด ข้อเสนอที่จะให้มีการปฏิรูปก็ตกไปหมด
IMF และธนาคารโลก
ในส่วนขององค์กรโลกทางด้านเศรษฐกิจนั้น ที่เป็นหลักคือ IMF และธนาคารโลก ซึ่งสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในตอนนั้น สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวที่ผูกขาดอำนาจ ในการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯจึงได้ใช้อำนาจดังกล่าวสร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Bretton Woods System
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน โครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และมหาอำนาจที่ไม่ใช่ตะวันตก ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างของธนาคารโลกและ IMF โดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการสรรหาประธานธนาคารโลก และผู้อำนวยการ IMF ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ประธานธนาคารโลกถูกผูกขาดด้วยคนอเมริกันมาตลอด ในขณะที่ผู้อำนวยการ IMF ก็มาจากยุโรปโดยตลอด
นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก ก็ไม่มีอำนาจในการลงคะแนนเสียง หรือที่เรียกว่า voting power ที่มีความลำเอียงอย่างมาก โดยให้ voting power แก่สหรัฐฯและยุโรปเป็นอย่างมาก ในขณะที่ประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก และประเทศกำลังพัฒนา แทบจะไม่มี voting power เลย
สหรัฐฯมี voting power ถึง 20% ยุโรปมีถึง 30% ในขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก แต่กลับมี voting power ใน IMF ไม่ถึง 5% และจีนซึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ แต่กลับมี voting power เพียง 3% ไม่ต้องพูดถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่แทบจะไม่มีบทบาทเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น