Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การกอบกู้วิกฤติการเงินโลก

การกอบกู้วิกฤติการเงินโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม 2551

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วิกฤติการเงินสหรัฐได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก โดยในตอนแรกได้ระบาดเข้าไปในยุโรป สถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งในยุโรป ทำท่าจะล้มละลาย ตลาดหุ้นในสหรัฐและในยุโรปตกลงอย่างมาก โดยตลาดหุ้นรัสเซียตกลงถึง 19% หลังจากนั้นวิกฤติการเงินได้ระบาดไปภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก ในอเมริกาใต้ ตลาดหุ้นบราซิลตกลงถึง 5.4% ตลาดหุ้นอาร์เจนตินาตกลง 6% สำหรับตลาดหุ้นในเอเชียก็ได้ตกลงอย่างมาก เรียกว่า แดงยกแผง ท่ามกลางกระแสความหวาดวิตกถึงแนวโน้มการลุกลามของวิกฤติการเงินโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่น และตลาดหุ้นอินโดนีเซียตกลงถึง 10%

G-7

หลังจากนั้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้มีความพยายามของกลุ่มประเทศร่ำรวยและองค์กรการเงินโลก ที่จะหาหนทางในการกอบกู้วิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ ที่นับว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษ 1930

โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลัง G-7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุด 7 ประเทศ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการในการกอบกู้วิกฤติ โดย G-7 ได้ประกาศว่าจะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับตลาดการเงิน โดยมีมาตรการสำคัญได้แก่ มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงินและป้องกันการล้มละลาย มาตรการที่จะทำให้ตลาดการเงินและตลาดเงินกู้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยการให้หลักประกันต่อสถาบันการเงิน ในเรื่องของการสร้างสภาพคล่องและเงินทุน นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้มีการให้หลักประกันต่อบัญชีเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงของบัญชีเงินฝาก

หลังจาก G-7 ประกาศแผนปฏิบัติการออกมา รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาสนับสนุนแผนดังกล่าว โดยประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศเพื่อพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่า ขณะนี้ประชาคมโลกกำลังร่วมมือกัน และในที่สุดคงจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ หลังจากนั้น กลุ่ม G-20 และ IMF ได้ประกาศสนับสนุนแผนดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า แผนปฏิบัติการของ G-7 ไม่น่าจะใช่แผนปฏิบัติการ เพราะเป็นเพียงการประกาศนโยบาย และหลักการอย่างกว้างๆโดยไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม

G-20

หลังจากนั้น ในวันที่ 11 ตุลาคม ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G-20 ซึ่งประเทศสมาชิกประกอบด้วย ประเทศ G-8 บวกกับประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังมาแรง อย่างเช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ บราซิล เป็นต้น กลุ่ม G-20 ได้จัดทำแถลงการณ์ออกมา โดยต้องการส่งสัญญาณเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับระบบการเงินโลก แต่ในเนื้อหาของแถลงการณ์ก็ไม่ได้มีมาตรการเป็นรูปธรรม คล้ายๆกับแผนปฏิบัติการของ G-7 คือเป็นการประกาศนโยบายอย่างกว้างๆเท่านั้น โดยเน้นว่า กลุ่ม G-20 จะร่วมมือกันเพื่อกอบกู้วิกฤติการเงินโลก โดยจะร่วมมือกันในการส่งเสริมการควบคุม ตรวจสอบตลาดการเงินของโลก และจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับตลาดการเงินโลก

กลุ่ม G-20 นั้น รวมกันแล้วทั้งกลุ่มมีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 85% ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการประกาศนโยบายของกลุ่มนี้ ย่อมมีน้ำหนักต่อการสร้างความเชื่อมั่น

IMF

และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมประจำปีของ IMF ที่กรุง Washington D.C. ซึ่งมีสมาชิก 185 ประเทศ ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดของการประชุมคือ มาตรการกอบกู้วิกฤติการเงินโลก โดยที่ประชุมได้ประกาศสนับสนุนแผนปฏิบัติการของ G-7 ว่า น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกได้

นาย Dominique Strauss-Kahn ผู้อำนวยการ IMF ก็ได้ออกมากล่าวว่า การประชุม IMF ได้ประสบความสำเร็จ เพราะสมาชิกมีมติเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินโลก ก่อนหน้านี้ นาย Strauss-Kahn ได้ออกมาเตือนว่า ระบบการเงินโลกกำลังจะล่มสลาย และว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้า จะชะลอตัวลงอย่างมาก และการฟื้นตัวคงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน โดยได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะตกต่ำถึงจุดเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession นาย Strauss-Kahn ยังได้เสนอว่า IMF พร้อมจะช่วยเหลือประเทศสมาชิก โดยต่อมาได้มีข่าวว่า ไอซ์แลนด์ อาจจะเป็นประเทศแรกที่จะขอความช่วยเหลือจาก IMF

สหรัฐ

สำหรับรัฐบาลสหรัฐ ในช่วงสุดสัปดาห์ ก็ได้รีบประกาศแผนกอบกู้วิกฤติการเงินสหรัฐอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐ คือ นาย Henry Paulson ได้ประกาศที่จะผลักดันแผนการใช้เงิน 700,000 ล้านเหรียญ โดยมีแผนที่จะซื้อหนี้เสียต่างๆจากทางธนาคาร และรวมถึงการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารสหรัฐหลายแห่ง แผนเหล่านี้ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐจะเข้าแทรกแซงสถาบันการเงิน หลังจากที่เคยเข้าแทรกแซงสถาบันการเงินในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930

ยุโรป

สำหรับสหภาพยุโรป ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เดินหน้าเต็มที่ในการประกาศมาตรการกอบกู้วิกฤติการเงิน โดยได้มีการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ประธาน EU ปัจจุบัน ได้พยายามผลักดันแผนกอบกู้วิกฤติของ EU โดยนาย Sarkozy ได้พยายามประสานกับผู้นำเยอรมันคือ Angela Merkel อย่างใกล้ชิด ซึ่งฝรั่งเศสกับเยอรมนีนั้น เล่นบทบาทการเป็นผู้นำของ EU มาโดยตลอด โดย EU ได้ตกลงในแผนการกอบกู้วิกฤติในลักษณะเดียวกับที่อังกฤษได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การประกาศการค้ำประกันเงินกู้ระหว่างธนาคาร และอัดฉีดเงินเข้าสู่ธนาคารเพื่อป้องกันการล้มละลาย โดยแผนของ EU ได้เลียนแบบแผนของรัฐบาลอังกฤษที่ได้ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่จะอัดฉีดเงินถึง 63,000 ล้านเหรียญ เพื่อป้องกันธนาคาร 3 แห่งไม่ให้ล้มละลาย คือ ธนาคาร Royal Bank of Scotland, HBOS และ Lloyds TSB

กล่าวโดยสรุป ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาและช่วงต้นสัปดาห์นี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั้งยุโรป และสหรัฐ ได้ประสานเป็นเสียงเดียวกันในการประกาศแผนกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ โดยการประกาศอัดฉีดเงินเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ธนาคารล้มละลาย การให้หลักประกันเงินกู้ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน แผนต่างๆทั้งของรัฐบาลประเทศต่างๆและจากการประกาศจุดยืนของ G-7 G-20 และ IMF ได้เริ่มส่งผลในทางบวกต่อระบบการเงินโลก โดยเห็นได้ชัดว่า ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ได้ปรับตัวดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: