Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อสถานะอภิมหาอำนาจของอเมริกา

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อสถานะอภิมหาอำนาจของอเมริกา
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 10 - พฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม 2551

วิกฤติการเงินสหรัฐในขณะนี้ กำลังจะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย ต่อสถานะความเป็นอภิมหาอำนาจของอเมริกา คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐ

ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามเย็น สหรัฐได้กลายเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในโลก โดยสหรัฐมีองค์ประกอบแห่งอำนาจ 4 ด้านด้วยกัน

องค์ประกอบที่ 1 ด้านการทหาร อำนาจทางทหารของสหรัฐ ไม่มีใครเทียบเคียงได้ งบประมาณรายจ่ายทางทหารของสหรัฐมหาศาล หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งบทหารของสหรัฐคิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบทหารของโลกรวมกันทั้งหมด ในปัจจุบัน ประมาณ 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่รองๆลงมาไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย ก็เทียบไม่ติด

องค์ประกอบที่ 2 คือ อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คิดเป็น 50% ของโลก ตอนนี้ก็ลดลงมาอยู่ประมาณ 20% แต่สหรัฐก็ยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ GDP มีมูลค่า ประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญ

องค์ประกอบที่ 3 ทางด้านเทคโนโลยี อเมริกาก็มีความเหนือกว่าอย่างมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ อเมริกาครอบงำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่าประเทศอื่นทั้งหมด

และองค์ประกอบที่ 4 คือ ทางด้านวัฒนธรรม การครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกาออกมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตัวแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบการเมืองประชาธิปไตย การศึกษา ภาพยนตร์ เพลง และวัฒนธรรมต่างๆอีกมากมาย การครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกา วิถีชีวิตแบบอเมริกัน กลายเป็นวิถีชีวิตที่คนต่างๆในโลกชื่นชม และอยากจะเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว

ผลกระทบของวิกฤติการเงินต่อพลังอำนาจของอเมริกา

ที่กล่าวข้างต้นนั้นคือ อำนาจของอเมริกาทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ในอนาคตกำลังมีคำถามใหญ่ในการเสื่อมถอยอำนาจของสหรัฐ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่รุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่สุดในปี 1929

อำนาจทางทหารและอำนาจทางเทคโนโลยีนั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเป็นที่ชัดเจนว่า อำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกาคงจะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้อำนาจทางทหารและเทคโนโลยีถดถอยไปด้วย

เรามาดูรายละเอียดของอำนาจทางเศรษฐกิจ

เป็นที่แน่ชัดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐคงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก่อนหน้านี้ มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า จีนซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก อาจแซงหน้าสหรัฐในการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการประเมินช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงิน คือ ประมาณปี 2025 หรือ 2050 แต่ผลจากวิกฤติ อาจจะทำให้จีนไล่ทันอเมริกาได้เร็วขึ้นอีก

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สหรัฐครองความเป็นเจ้าในระบบการเงินโลก แต่หลังเกิดวิกฤติ รัฐมนตรีคลังของเยอรมัน ถึงกับประกาศว่า สหรัฐกำลังจะสูญเสียสถานะการเป็นอภิมหาอำนาจในระบบการเงินโลก

นอกจากนั้น คำถามใหญ่ในอนาคตคือ นิวยอร์กจะสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกในอนาคตหรือไม่ ผมมองว่า ถึงแม้สถานะของนิวยอร์กอาจจะสั่นคลอน แต่คู่แข่งของนิวยอร์กอย่างเช่น นครลอนดอน ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ด้วย

คำถามต่อมา คือ สถานะของเงินดอลลาร์ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เงินดอลลาร์ถือเป็นเงินสกุลหลักของโลก และสามารถทำให้สหรัฐครองความเป็นเจ้าในโลกได้ แต่จากวิกฤติการเงินครั้งนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า สถานะของเงินดอลลาร์กำลังจะเสื่อมลง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองต่อไปว่า แล้วเงินสกุลใดจะเข้ามาแทนที่เงินเหรียญสหรัฐ คำตอบก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะ เงินสกุลหลักอื่นๆของโลกก็ยังไม่สามารถขึ้นมาแทนที่เงินดอลลาร์ได้ อย่างเช่น เงินเยนของญี่ปุ่น หรือเงินยูโร ดูแล้วก็คงยากที่จะมาแทนที่เงินดอลลาร์

องค์ประกอบของพลังอำนาจสหรัฐอีกด้านหนึ่ง ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว คืออำนาจทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งผลกระทบชัดเจน คือ ความสั่นคลอนของตัวแบบทุนนิยมแบบอเมริกัน ในอดีตที่ผ่านมา หลักการเศรษฐกิจที่ครอบงำโลก เราเรียกว่า ฉันทามติวอชิงตัน (Washington consensus) ซึ่งเน้นหลักกลไกตลาด การเปิดเสรี แต่หลังจากการเกิดวิกฤติการเงินครั้งนี้ ได้ทำให้ฉันทามติวอชิงตัน สั่นคลอนลงไปเป็นอย่างมาก

ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ที่มาของวิกฤติครั้งนี้ คือ การที่รัฐบาลสหรัฐปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากเกินไป และไม่ได้เข้าไปควบคุมสถาบันการเงิน ขณะนี้ จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ ในการเน้นนโยบายเข้าควบคุมสถาบันการเงิน และการปฏิรูประบบการเงิน

ดูเหมือนกับว่า ตัวแบบเศรษฐกิจแบบจีน ที่เราเรียกว่า ฉันทามติปักกิ่ง ที่เน้นการที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวแบบระบบเศรษฐกิจแบบของเยอรมันและฝรั่งเศสซึ่งมีลักษณะกึ่งสังคมนิยม กำลังได้รับการสนใจมากขึ้น

ประธานาธิบดี Sarkozy ถึงกับประกาศกร้าวว่า กำลังจะจัดประชุมเวทีโลกเพื่อทบทวนระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน และประกาศว่า แนวคิดของฝรั่งเศสที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงระบบการเงินนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เช่นเดียวกับ นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ก็กล่าวโจมตีระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน โดยบอกว่าได้เคยเสนอให้มีมาตรการควบคุมระบบการเงินในการประชุม G-8 แต่ทั้งสหรัฐและอังกฤษก็ปฏิเสธข้อเสนอของนาง ในขณะที่ Putin ก็ได้กล่าวโจมตีถึงโรคระบาดวิกฤติการเงินสหรัฐที่กำลังจะเข้ามาระบาดในประเทศรัสเซีย แม้กระทั่ง George Soros นักค้าเก็งกำไรเงินตรา ที่เคยเป็นตัวการทุบค่าเงินบาทและค่าเงินของเอเชียในวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ก็ยังยอมรับว่า ระบบทุนนิยมเสรีแบบสุดโต่ง กำลังประสบความล้มเหลว และมองว่าตัวแบบโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีได้เป็นตัวการนำไปสู่วิกฤติการณ์ในขณะนี้ Soros มองว่า เรากำลังมาถึงจุดสิ้นสุดของอุดมการณ์เสรีนิยมแบบสุดโต่ง

ดังนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า ตัวแบบทุนนิยมเสรีแบบสุดโต่งที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน และกำลังมีการแสวงหาตัวแบบใหม่ที่ลดความสุดโต่งลง ซึ่งก็เท่ากับกระทบอย่างหนักต่อตัวแบบของอเมริกัน พูดในภาษาชาวบ้านก็คือ อเมริกากำลังเสียยี่ห้อ

แนวโน้มของระบบการเงินโลกกำลังจะเปลี่ยนไป จากระบบ 1 ขั้วอำนาจที่มีสหรัฐครองความเป็นเจ้าเพียงหนึ่งเดียว ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจที่มีหลายๆประเทศกำลังจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะจากยุโรปและเอเชีย

ไม่มีความคิดเห็น: