Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 7

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ(ตอนที่ 7)
นโยบายต่อเอเชียของ Obama และ McCain

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 24 - วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2551

ขณะนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังเข้าโค้งสุดท้ายแล้ว ขณะนี้ Obama มีคะแนนนำ McCain อยู่ เราคงต้องจับตาดูในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ว่า จะออกหัวออกก้อยอย่างไร แต่สำหรับคอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ว่า นโยบายของ Obama และ McCain ต่อเอเชียนั้นแตกต่างกันอย่างไร

ภาพรวม
Obama และ McCain นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมากในแนวนโยบาย เพราะ Obama เป็นเสรีนิยมและเป็นสายพิราบ ขณะที่ McCain เป็นอนุรักษ์นิยมตัวยง และมีแนวนโยบายต่างประเทศแบบสายเหยี่ยวแบบสุดๆ

นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น เป็นไปตามแนวเสรีนิยมที่เน้นการมองโลกในแง่ดี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เน้นสันติภาพและไม่นิยมการใช้กำลัง อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูนโยบายต่างประเทศของ McCain ก็ต่างจาก Obama แบบขาวกับดำ โดย McCain มองว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ จะเป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความเลว ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ McCain มีนโยบายชาตินิยมแบบสุดโต่ง โดยมองว่าสหรัฐมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คือ การสร้างประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทั่วโลก

สำหรับในเอเชียนั้น Obama มองว่าควรจะปฏิรูปนโยบายใหม่ โดยเน้นการพัฒนาสถาบันความร่วมมือในเอเชีย ในอดีต สหรัฐเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีมากเกินไป แต่สำหรับ McCain นโยบายของเขากลับเป็นคนละเรื่องกับ Obama โดย McCain มุ่งเป้าไปที่การเล่นงานประเทศเผด็จการในเอเชีย โดยเฉพาะ เกาหลีเหนือ จีน และพม่า McCain เน้นสร้างพันธมิตรของประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาค เพื่อร่วมมือกันเล่นงานประเทศเผด็จการ

Obama ได้โจมตีนโยบายของ Bush ต่อเอเชียว่า เป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ให้ความสำคัญกับเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรงมากเกินไป ทำให้เอเชียได้สูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของสหรัฐ สงครามอิรักได้ทำให้สหรัฐไม่สามารถให้ความสำคัญกับเอเชียเท่าที่ควร Obama เชื่อว่า สหรัฐควรจะกลับมาส่งเสริมพันธมิตรและสถาปนาเวทีพหุภาคี และกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐกลับคืนมาโดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในเอเชีย โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย และแนวโน้มพัฒนาการของสถาบันในภูมิภาค

ในขณะที่ McCain กลับมองว่าสหรัฐจะต้องสานต่อนโยบายของ Bush เน้นการเป็นผู้นำของสหรัฐ โดย McCain กลับมองสวนทางกับ Obama ว่า สหรัฐขณะนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จีน
สำหรับจีนนั้น McCain มองว่าเป็นศัตรู และจีนกำลังพัฒนากองกำลังทหารขนานใหญ่เพื่อท้าทายสหรัฐและครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค จีนเป็นประเทศเผด็จการและเป็นอันธพาลคุกคามไต้หวัน รวมทั้งใกล้ชิดกับประเทศเผด็จการต่างๆทั่วโลก อาทิ พม่า ซูดาน McCain ยังกล่าวหาจีนว่ากำลังพยายามสร้างกลุ่มเอเชียขึ้นมา โดยจะมีจีนเป็นผู้นำ เพื่อกีดกันสหรัฐออกไปจากเอเชีย

แต่สำหรับ Obama มองจีนต่างจาก McCain อย่างสิ้นเชิง โดย Obama มองจีนในแง่บวก และมองว่าการผงาดขึ้นมาของจีน จะทำให้จีนมีบทบาทความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น Obama มองว่า จะต้องมีการปรับนโยบายใหม่ต่อจีนซึ่งจะต่างจากนโยบายของ Bush ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สหรัฐกับจีนสามารถร่วมมือกันได้ในหลายๆเรื่อง อย่างเช่น ความร่วมมือในการเจรจา 6 ฝ่าย ในปัญหาเกาหลีเหนือ ปัญหาภาวะโลกร้อนก็ต้องการความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งจีนและสหรัฐกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด Obama ยังมองว่าจะสร้างความร่วมมือกับจีนในการป้องกันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ความร่วมมือในการยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟู และการส่งเสริมประชาธิปไตย

ในขณะที่ McCain มองจีนในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากำลังทหาร นโยบายเศรษฐกิจที่มีลักษณะกีดกันทางการค้า การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความสัมพันธ์กับซูดานและพม่า ดังนั้นในสายตาของ McCain ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องสร้างพันธมิตรกับประเทศในเอเชียเพื่อกดดันจีน

ญี่ปุ่น
สำหรับนโยบายต่อญี่ปุ่นนั้น ในสายตาของ McCain ซึ่งมองโลกเป็นขาวกับดำนั้น ก็มองว่าพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นจะมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่จะร่วมมือกันกดดันเกาหลีเหนือและจีน McCain เน้นว่าพันธมิตรระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน นอกจากนี้ McCain เน้นว่า พันธมิตรสหรัฐ – ญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมร่วมกันอีกด้วย นั่นคือ ค่านิยมประชาธิปไตยซึ่ง McCain ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ Obama ก็ให้ความสำคัญกับพันธมิตรสหรัฐ - ญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่กลับโจมตีรัฐบาล Bush ว่ากลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ (อาทิ สงครามอิรัก) จนละเลยความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น Obama มองว่าความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ควรเป็นในเชิงบวก โดยร่วมมือกันเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆของโลก

ผมมองว่าข้อแตกต่างระหว่าง McCain กับ Obama ในประเด็นนี้คือ McCain มองว่าญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักในการปิดล้อมจีน แต่ Obama ไม่ได้มองในลักษณะนั้น แต่กลับมองว่าพันธมิตรสหรัฐ - ญี่ปุ่นน่าจะมุ่งไปสู่ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาต่างๆของโลก

เกาหลีเหนือ
สำหรับในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้น จุดยืนหลักของ Obama คือการเน้นการเจรจาและสันติวิธี โดยมองว่าการที่รัฐบาล Bush ได้ตัดสินใจถอนเกาหลีเหนือออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมองว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะเผชิญกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือด้วยการทูตทั้งพหุภาคีและทวิภาคี

ในขณะที่ McCain มองว่าการทูตอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ และเขาไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะยอมยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยการเจรจาอย่างเดียว โดย McCain สนับสนุนให้มีความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งมาตรการจากคณะมนตรีความมั่นคง
ข้อแตกต่างที่สำคัญที่ผมเห็นคือ Obama จะเน้นการทูต รวมทั้งการเจรจา 2 ฝ่าย ซึ่ง McCain ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ McCain มองว่า การจัดการเกาหลีเหนือนั้นจะต้องใช้มาตรการอย่างอื่น นอกเหนือจากการทูต

การค้า
McCain มีนโยบายต่างประเทศด้านการเมืองความมั่นคงแบบสายเหยี่ยว แต่สำหรับด้านการค้านั้น McCain มีจุดยืนด้านการค้าเหมือนอนุรักษ์นิยมคนอื่นๆ คือเน้นการค้าเสรี โดย McCain ประกาศสนับสนุนการค้าเสรีอย่างเต็มที่ และจะขยายการทำ FTA กับประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับในเอเชีย McCain มองว่าสหรัฐควรจะเป็นผู้นำในการเปิดเสรีการค้าในเอเชีย ด้วยการเดินหน้าเจรจา FTA กับมาเลเซียและไทยต่อ โดยมองว่า FTA ที่สหรัฐเซ็นกับประเทศในเอเชียไปแล้ว คือ กับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ทำให้สหรัฐได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ McCain ได้กล่าวโจมตีนักการเมืองสหรัฐที่ต่อต้าน FTA ซึ่งรวมถึง Obama ด้วย

สำหรับ Obama นั้น มีท่าทีต่อต้าน FTA มากขึ้น โดยมองว่า FTA ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนงานในสหรัฐ และประกาศต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA เพื่อเป็นการเอาใจคนงานอเมริกันซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต Obama เน้นว่า หากสหรัฐจะเจรจา FTA ต่อ ก็ควรเป็น FTA ที่มีคุณภาพ และควรมีเนื้อหาเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล