Obama กับสถานการณ์การเมืองโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ที่ 21-พฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2551
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงนโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลกไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ความมั่นคงโลก ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ๆ และเป็นการบ้านใหญ่สำหรับประธานาธิบดี Obama ถึงแม้ว่าเรื่องการกอบกู้วิกฤติการเงินสหรัฐ คงจะเป็นเรื่องที่ Obama ให้ความสำคัญมากที่สุด แต่สถานการณ์การเมืองโลก ก็คงจะไม่ปล่อยให้ Obama อยู่เฉยๆได้
อิรัก
การบ้านชิ้นแรกของประธานาธิบดี Obama คือการแก้ปัญหาอิรัก
ในปี 2006 สถานการณ์ในอิรักทรุดหนักลงอย่างมาก โดยทั้งกลุ่มก่อการร้ายซุนหนี่และชีอะฮ์ ก็โจมตีกองกำลังสหรัฐ และทั้งกลุ่มซุนหนี่และชีอะฮ์ก็ต่อสู้กันเอง จนถึงขั้นกำลังจะเกิดสงครามกลางเมือง ต่อมาหลังจากที่พรรค Democrat ได้ครองเสียงข้างมากในสภา Congress ได้มีกระแสกดดันให้ถอนทหารออกจากอิรัก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Bush กลับสวนทาง ด้วยการเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในอิรัก และดูเหมือนกับว่าจะได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะหลังจากนั้น ความปั่นป่วนวุ่นวายก็สงบลง นอกจากนี้ รัฐบาล Bush ยังได้เริ่มเจรจากับกลุ่มก่อการร้ายซุนหนี่ ทั้งสหรัฐและกลุ่มซุนหนี่ต้องการให้ฝ่ายชีอะฮ์จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้เริ่มมีการเจรจาอย่างลับๆกับฝ่ายอิหร่าน ซึ่งสำหรับอิหร่านนั้น ตระหนักดีว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐบาลอิรักที่ pro อิหร่านนั้น คงจะยาก สิ่งที่อิหร่านกลัวที่สุดคือ การกลับคืนมาของรัฐบาลอิรัก นำโดยกลุ่มซุนหนี่ ซึ่งจะกลับไปเหมือนสมัยรัฐบาล Saddam Hussain ซึ่งได้ทำสงครามกับอิหร่านเป็นเวลาเกือบ 10 ปี อิหร่านจึงมองว่า รัฐบาลผสมที่เป็นกลาง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ผลพวงของความพยายามของรัฐบาล Bush จึงทำให้กลุ่มก่อการร้ายลดบทบาทลง และได้มีรัฐบาลผสมเกิดขึ้น โดยการสนับสนุนจากทั้งทางสหรัฐและอิหร่าน แม้สถานการณ์ในอิรักยังคงเปราะบาง แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ก็ดีกว่าเมื่อปี 2006
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของประธานาธิบดี Obama คือ การตัดสินใจว่าจะถอนทหารออกจากอิรักเมื่อไหร่ และอย่างไร Obama ประกาศมาโดยตลอดในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะถอนทหารออกจากอิรักภายใน 16 เดือน
ในแง่ยุทธศาสตร์ทางทหารนั้น มีความเร่งด่วนที่จะต้องถอนทหารออกจากอิรักและเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถาน ต้องมีกองกำลังสำรองสำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน และตอบสนองต่อสถานการณ์ในเขตสหภาพโซเวียตเดิม อย่างเช่นในกรณีสงครามจอร์เจีย
อย่างไรก็ตาม พวกที่ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหาร อย่างเช่น McCain และ Bush ก็จะตอกย้ำว่า การถอนทหารออกมาเร็วเกินไป จะทำให้อิรักลุกเป็นไฟ และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในอิรัก ดังนั้น ประเด็นเรื่องการถอนทหารจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอการตัดสินใจจาก Obama
อิหร่าน
การบ้านชิ้นที่ 2 ของประธานาธิบดี Obama คือ อิหร่าน
ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ยืดเยื้อมาหลายปี ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ศักยภาพของอิหร่านในขณะนี้ จะยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้
Obama ได้เคยประกาศว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาพร้อมที่จะเจรจากับผู้นำอิหร่าน เพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ไม่มีหลักประกันว่า การเจรจาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ และหากมีการเจรจาเกิดขึ้นจริง ก็ไม่มีหลักประกันว่า จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง
หาก Obama ต้องการจะถอนทหารจากอิรัก และเพิ่มทหารในอัฟกานิสถาน นั่นหมายความว่า สหรัฐจะต้องได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เพราะหากอิหร่านไม่เล่นด้วย อิหร่านจะสามารถสร้างความปั่นป่วนในอิรักได้ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของ Obama คือ จะเอาอย่างไรกับอิหร่าน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นมาอีก คือ บทบาทของรัสเซีย ซึ่งกำลังพยายามผงาดขึ้นมาแข่งกับสหรัฐ มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจจะมาตีสนิทกับอิหร่าน ดังนั้น โจทย์อีกเรื่องของ Obama คือ จะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้อิหร่านไปเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย
อัฟกานิสถาน
การบ้านชิ้นที่ 3 ของ Obama คือ นโยบายต่ออัฟกานิสถาน
ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง Obama ย้ำมาตลอดว่า ยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาล Bush นั้น ผิดพลาดเพราะไปเน้นที่อิรัก แทนที่จะเน้นที่อัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama มองว่า เป็นศูนย์กลางของขบวนการก่อการร้าย Obama จึงได้เสนอว่า จะต้องเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน
แต่ในทางปฏิบัติ ผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพราะหลายประเทศใน NATO ก็อยากจะถอนทหารกลับ ขณะนี้ สหรัฐและ NATO มีกองกำลังอยู่ในอัฟกานิสถานประมาณ 50,000 คน ประเด็นทางการทหารก็คือ จะต้องมีกองกำลังทหารเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่รัสเซียยึดอัฟกานิสถาน รัสเซียใช้ทหารถึง 120,000 คน แต่ก็ยังไม่พอ ในที่สุด รัสเซียก็พ่ายแพ้ ต้องถอนทหารกลับไป
นอกจากนี้ โจทย์ใหญ่ในอัฟกานิสถานก็คือ กองกำลังนักรบ Taliban ซึ่งได้ชนะสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 90 และสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้ ทั้งนี้ ก็เพราะ Taliban เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุด ดังนั้น เป็นไปได้มากเลยที่ ถ้าไม่มีทหารสหรัฐ กลุ่ม Taliban ก็จะกลับมายึดอำนาจรัฐได้อีก จริงๆแล้ว สหรัฐไม่เคยชนะ Taliban เพราะตอนที่สหรัฐบุกยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อ
ปลายปี 2001 นั้น Taliban ก็ไม่ได้สู้กับสหรัฐ แต่ได้อันตรธานหายไปหมด ดังนั้น Obama จะมีนโยบายอย่างไร เพื่อจะเอาชนะ Taliban ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ปากีสถาน
การบ้านชิ้นที่ 4 ของ Obama คือ นโยบายต่อปากีสถาน
ประเด็นสำคัญคือ ขณะนี้ al-Qaeda ได้มีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือของปากีสถาน ดังนั้น การบ้านที่ยากที่สุดของ Obama คือ ทำอย่างไรถึงจะเอาชนะ และกำจัด al-Qaeda ให้สิ้นซาก
นอกจากนี้ ยังมีปัญหานักรบ Taliban ในปากีสถานด้วย สหรัฐคงจะต้องได้รับความร่วมมือจากกองทัพปากีสถานในการโจมตีกลุ่ม Taliban หรือไม่ สหรัฐจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลปากีสถานให้ไล่ล่ากลุ่ม Taliban
Obama ในตอนหาเสียงเลือกตั้งได้เคยประกาศกร้าวว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็พร้อมที่จะส่งกองกำลังเข้าไปในปากีสถาน เพื่อไล่ล่า al-Qaeda และ Taliban ถึงแม้จะไม่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลปากีสถานก็ตาม ดังนั้น คำถามใหญ่คือ ประธานาธิบดี Obama จะกล้าทำเช่นนั้นหรือ Obama คงจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างการไล่ล่ากลุ่มก่อการร้าย กับผลลบที่จะเกิดขึ้น ที่อาจทำให้ปากีสถานลุกเป็นไฟ และอย่าลืมว่า ปากีสถานนั้น มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง
รัสเซีย
การบ้านชิ้นยากชิ้นที่ 5 ของ Obama ก็คือ นโยบายต่อรัสเซีย
ตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐก็ดูถูกดูแคลนรัสเซีย มองว่ากำลังแตกสลาย อ่อนแอ และคงไม่มีความสำคัญในการเมืองโลก สหรัฐจึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในการปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซียเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะการขยายสมาชิก NATO เข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียต ซึ่งล่าสุดก็คือการจะรับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก NATO จุดนี้เอง จึงเป็นจุดแตกหัก รัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง ด้วยพลังงานอำนาจที่ได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัสเซียจึงประกาศศักดาการกลับมาเป็นมหาอำนาจด้วยการทำสงครามบุกจอร์เจีย
ดังนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับประธานาธิบดี Obama ก็คือ จะทำอย่างไรกับรัสเซีย จะป้องกันการขยายอำนาจของรัสเซียได้อย่างไร ถึงแม้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง Obama จะพูดจาภาษาดอกไม้โดยไม่ได้มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม แต่ในทางปฏิบัติ Obama คงจะต้องเผชิญกับรัสเซียที่จะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล
แสดงความคิดเห็น