Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 4)

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 4)
สยามรัฐสัปดาห์วอจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 30 วันศุกร์ที่ 16 เมษายน - วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ได้วิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งจีนกับสหรัฐมาแล้ว 3 ตอน ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่อถึงพัฒนาการความขัดแย้งล่าสุดดังนี้

ภูมิหลัง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก แต่ในปี 2010 นี้ ความสัมพันธ์ได้เข้าสู่จุดวิกฤติ โดยได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันหลายเรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นในเดือนมกราคม โดย Google ได้ประกาศที่จะถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่าถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลจีนเซ็นเซอร์

ต่อมา เมื่อปลายเดือนมกราคม ได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลโอบามาได้ประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญ รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงและประกาศจะตัดความสัมพันธ์ทางทหาร และประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐที่ขายอาวุธให้กับไต้หวัน โดยเฉพาะบริษัท Boeing นอกจากนี้ จีนยังได้ขู่ด้วยว่า ความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ของโลก จะได้รับผลกระทบ

และต่อมา ความสัมพันธ์ได้เสื่อมโทรมลงไปอีก หลังจากที่โอบามาได้พบปะกับองค์ดาไลลามะ ที่ทำเนียบขาว ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยรัฐบาลจีนได้ออกมาโจมตีรัฐบาลโอบามาอย่างรุนแรง โดยบอกว่าการพบปะดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ และเป็นการละเมิดสิ่งที่สหรัฐยอมรับมาในอดีตว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน พฤติกรรมของสหรัฐถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน และได้ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวจีนเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้น ความขัดแย้งก็ยังไม่จบ โดยจีนไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐ ในมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในคณะมนตรีความมั่นคง และในช่วงที่ผ่านมา ทางฝ่ายสหรัฐได้ออกมาโจมตีจีนอย่างมากในเรื่องค่าเงินหยวน ที่สหรัฐมองว่ามีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล และในเดือนเมษายนนี้ กำลังจะมีการพิจารณามาตรการลงโทษจีนในเรื่องนี้
จากความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น จึงมีการคาดการณ์กันว่า จีนกำลังจะมองหามาตรการตอบโต้สหรัฐด้วยการยกเลิกการเยือนระดับสูง โดยอาจจะมีการประกาศยกเลิกการเยือนสหรัฐของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐ

แนวโน้มการปรับความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา สถานการณ์ก็พลิกผัน โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกมาประกาศอย่างผิดคาดว่า หู จิ่นเทา จะเดินทางไปเยือนสหรัฐตามกำหนดการเดิม โดยจะไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ในวันที่ 12 – 13 เมษายน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี จึงเห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนท่าทีของจีนเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยจีนได้แสดงท่าทีต้องการลดความขัดแย้งกับสหรัฐ โดยประกาศจะร่วมมือกับสหรัฐในมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ถึงแม้ความขัดแย้งจะยังคงมีหลายเรื่องและแก้ไขได้ยาก แต่ก็มีแนวโน้มอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์

โดยหลังจากที่จีนประกาศว่า หู จิ่นเทา จะมาเยือนสหรัฐ ทางฝ่ายรัฐบาลสหรัฐก็ออกมาตอบสนองด้วยดี โดยทางทำเนียบขาวได้ประกาศว่า การเยือนสหรัฐของ หู จิ่นเทา จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศ จะลดความตึงเครียดในเรื่องต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า และการเมือง Bill Burton โฆษกทำเนียบขาวได้กล่าวรู้สึกยินดีที่จีนจะมาร่วมการประชุมที่สหรัฐ และย้ำว่าความสัมพันธ์กับจีนมีความสำคัญ และมีหลายเรื่องที่มีความสนใจร่วมกันที่จะต้องร่วมมือกัน ส่วนโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐก็ได้ออกมาพูดในทำนองเดียวกันว่า การประชุมสุดยอดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีความสำคัญอย่างมาก และเห็นว่าการที่ หู จิ่นเทา จะมาเข้าร่วมการประชุม ชี้ให้เห็นว่าจีนก็เห็นถึงความสำคัญของการประชุมเช่นเดียวกัน
ต่อมา ในวันเดียวกันนั้น คือ วันที่ 1 เมษายน ได้มีการออกแถลงการณ์จากทำเนียบขาวแจ้งว่า โอบามาได้หารือทางโทรศัพท์กับ หู จิ่นเทา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยโอบามาได้กล่าวยินดีถึงการตัดสินใจของประธานาธิบดีหู ที่จะมาเข้าร่วมประชุมสุดยอด ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือถึงปัญหาที่มีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการยับยั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ไม่ให้ไปตกไปอยู่ในมือของขบวนการก่อการร้าย ผู้นำทั้งสอง ได้หารือถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในเชิงบวก โดยโอบามาได้เน้นที่จะร่วมมือกับจีนในการบีบให้อิหร่านปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ย้ำว่าสหรัฐและจีนจะร่วมกันผลักดันมาตรการต่างๆ ที่ตกลงกันในการประชุม G20 เพื่อผลักดันการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ปัญหาค่าเงินหยวน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีแนวโน้มการปรับความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น แต่ปัญหาความขัดแย้งที่จะต้องจับตาดูกันต่อก็คือ เรื่องค่าเงินหยวน ที่ทางฝ่ายสหรัฐมองว่ามีค่าต่ำเกินไป เป็นผลทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล ฝ่ายสหรัฐประเมินว่าค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% ภายใต้กฎหมายของสหรัฐกำหนดว่า กระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ เพื่อพิจารณาว่ารัฐบาลดังกล่าวมีนโยบายแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ (currency manipulator) ในปีนี้กระทรวงการคลังจะต้องรายงานภายในวันที่ 15 เมษายนนี้

ในอดีต ในปี 1994 สหรัฐเคยกล่าวหาจีนมาครั้งหนึ่งแล้วในเรื่องนี้ แต่หลังจากนั้นกระทรวงการคลังก็คงจะมองว่าการกล่าวหาจีนเช่นนั้นน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม ในปี 2005 ทางสภาสูงสหรัฐได้ลงมติที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนถึง 27% จึงเป็นการบีบให้จีนต้องประกาศเพิ่มค่าเงินหยวน โดยจีนประกาศว่าจะเพิ่ม 20% ภายใน 3 ปี แต่ในปี 2008 หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จีนได้หยุดการเพิ่มค่าเงินหยวน และทางสหรัฐก็ประเมินว่า จริงๆ แล้ว จีนเพิ่มค่าเงินหยวนเพียง 2% เท่านั้น ในขณะที่กระแสต่อต้านจีนในปีนี้ก็รุนแรงมากขึ้น โดยจีนกลายเป็นแพะรับบาปของปัญหาการว่างงานในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีพัฒนาการปรับปรุงความสัมพันธ์ ผมจึงมองว่า การเยือนสหรัฐของ หู จิ่นเทา จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา คือมาตรการลงโทษจีน อาจจะชะลอออกไป ในขณะเดียวกัน ผมเดาว่า ทางฝ่ายจีนเอง ในช่วงเดือนนี้ อาจจะเป็นในระหว่างการเยือนสหรัฐ หู จิ่นเทา อาจจะประกาศว่า จีนจะเพิ่มขึ้นค่าเงินหยวน ซึ่งก็จะเป็นการลดกระแสกดดันลงไปได้มาก

กล่าวโดยสรุป พัฒนาการล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐคงจะทุเลาเบาบางลง โดยเฉพาะในช่วงที่ หู จิ่นเทา เยือนสหรัฐ ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้จะมีลักษณะชั่วคราวหรือถาวร ผมมองว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นน่าจะเป็นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความขัดแย้งนั้นไม่ได้เปลี่ยน ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้จีนกับสหรัฐขัดแย้งกัน คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ในอนาคต จีนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในขณะที่จีนผงาดขึ้นมาอำนาจของสหรัฐก็ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ทำให้สถานะของสหรัฐตกลงไปมาก สหรัฐกำลังกลัวว่าจีนจะมาแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลก ในขณะที่จีนก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต ทำให้ผู้นำจีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐมากขึ้น ปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้จีนกับสหรัฐจะยังคงมีความขัดแย้งกันต่อไปอีกนาน

ไม่มีความคิดเห็น: