Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

การประชุทรัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ที่แคนาดา

การประชุทรัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ที่แคนาดา
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 29 วันศุกร์ที่ 9 เมษายน - วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G8 ที่เมือง Gatineau รัฐ Quebec ประเทศแคนาดา ผลการประชุมมีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย และปัญหาความมั่นคง

อาวุธนิวเคลียร์

จากเอกสารผลการประชุม G8 ในครั้งนี้ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ยินดีที่การเจรจาระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ประสบความสำเร็จในข้อตกลงการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ โดย G8 มองว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับรัสเซียจะเป็นแรงกระตุ้นในเชิงบวกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการเจรจาเพื่อทบทวนสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty : NPT) ซึ่งจะประชุมกันในเดือนพฤษภาคมนี้ และที่ประชุม G8 มองว่าการจัดประชุม Nuclear Security Summit ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในปลายเดือนเมษายนนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะหารือถึงมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของวัตถุดิบนิวเคลียร์ เพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของขบวนการก่อการร้าย
สำหรับปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านนั้น ที่ประชุม G8 รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่งที่อิหร่านยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง พฤติกรรมของอิหร่าน คือความไม่โปร่งใสในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Qom และการตัดสินใจเดินหน้าเพิ่มสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียม เป็นการละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และการปฏิเสธความพยายามของสมาชิกถาวรทั้ง 5 ที่จะพยายามหาทางออกทางการทูต สิ่งเหล่านี้ทำให้ G8 สงสัยถึงเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ที่อิหร่านอ้างมาโดยตลอดว่าเพื่อไปใช้ในทางสันติ ดังนั้น G8 จึงเรียกร้องอย่างเต็มที่ ที่จะให้อิหร่านปฏิบัติตามข้อมติของ UN
สำหรับในกรณีวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น โครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค G8 จึงเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะการเจรจา 6 ฝ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข และให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะนำไปสู่การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ผมวิเคราะห์ว่า G8 ให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เป็นอย่างมาก โดยประธานาธิบดีโอบามาได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า ต้องการให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ การประชุม G8 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนการประชุมใหญ่ด้านนิวเคลียร์คือ การประชุม Nuclear Security Summit ปลายเดือนเมษายน และการประชุมทบทวนสนธิสัญญา NPT ในเดือนพฤษภาคม การประชุมครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นการสร้างกระแสในเชิงบวก ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการประชุมทั้งสอง อย่างไรก็ตามวิสัยทัศน์ของโอบามาที่ต้องการให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ดูน่าจะเป็นความเพ้อฝันมากกว่าความเป็นจริง ท่าทีของสหรัฐก็ขัดแย้งกัน เพราะในขณะที่โอบามาบอกว่าจะทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐล่าสุด กลับเน้นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ดังนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมว่า ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์คงไม่จบง่ายๆ รวมทั้งปัญหาอิหร่านและเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดูแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่า จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ถึงแม้โอบามาจะลองปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเกาหลีเหนือและอิหร่าน โดยพยายามใช้ไม่อ่อน เน้นปฏิสัมพันธ์และเจรจา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ท่าทีของทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือก็ยังคงแข็งกร้าวเหมือนเดิม ดังนั้น แทนที่โลกจะปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ กลับจะกลายเป็นว่า ในอนาคต อาวุธนิวเคลียร์จะแพร่ขยายออกไปเรื่อยๆ

ปัญหาการก่อการร้าย

สำหรับเรื่องสำคัญเรื่องที่ 2 ที่รัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ประชุมกันในครั้งนี้ คือ การหารือในการต่อต้านการก่อการร้าย โดย G8 ได้หารือถึงมาตรการความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยจะต้องมีการประสานงานกันในการต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรง และป้องกันการแพร่ขยายของอุดมการณ์การก่อการร้าย รวมทั้งแก้ไขสภาวะที่เป็นบ่อเกิดของการก่อการร้าย G8 เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ เป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุก และเป็นระบบ โดยต้องเป็นการต่อยอดจากยุทธศาสตร์ของ UN ที่มีชื่อว่า UN Global Counter Terrorism Strategy รัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ตกลงที่จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ และแผนดังกล่าวจะนำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอด G8 ที่เมือง Muskoka ประเทศแคนาดาพิจารณาในปลายปีนี้
แนวรบที่สำคัญที่สุดในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายขณะนี้ คือสงครามอัฟกานิสถาน G8 จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความพยายามที่จะไม่ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายอีก โดยที่ประชุมได้มีการออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ต่างหาก ในแถลงการณ์ดังกล่าวได้ย้ำว่า ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลืออัฟกานิสถาน จะต้องช่วยให้รัฐบาลอัฟกานิสถานปกป้องตนเองได้ ก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ของการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาอัฟกานิสถานที่เรียกว่า London Conference Communique G8 เน้นย้ำที่จะทำให้กองกำลังของอัฟกานิสถานมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการประสานงานกันระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถาน UN (หน่วยงานของ UN ในอัฟกานิสถานมีชื่อว่า UN Assistance Mission in Afghanistan : UNAMA) รวมทั้งกองกำลัง NATO ด้วย
เรื่องที่เกี่ยวพันกันกับอัฟกานิสถานคือ ปากีสถาน G8 ได้ให้ความสำคัญกับบริเวณพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถาน ซึ่งกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ และเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ทั้งของนักรบตาลีบันและอัลกออิดะห์ แต่ G8 มองว่าการแก้ปัญหาในบริเวณดังกล่าว จะต้องใช้มาตรการที่นอกเหนือจากมาตรการทางทหารคือ ต้องมีการสนับสนุนการพัฒนาและการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปกครอง ดังนั้น G8 จึงได้ผลักดันกรอบความร่วมมือใหม่ ที่เรียกว่า Afghanistan Pakistan Border Region Prosperity Initiative โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่าง G8 กับธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงปีแรก จะเน้นโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างเมือง Peshawar - Jalalabad และการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างสองเมือง
นอกจากนี้ G8 ยังได้หารือถึงสถานการณ์การก่อการร้ายที่ได้ขยายตัวเข้าสู่คาบสมุทรอาระเบียและอัฟริกา โดยเฉพาะในเยเมนและโซมาเลีย G8 ได้หารือถึงมาตรการในการช่วยเหลือรัฐบาลเยเมน ในการต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย และการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไม่สงบในโซมาเลียก็เป็นปัญหาใหญ่ และ G8 ได้หารือถึงมาตรการสนับสนุนรัฐบาลของโซมาเลีย
ผมวิเคราะห์ว่า ปัญหาการก่อการร้ายสากลยังคงเป็นปัญหาหนักอกของตะวันตก ที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยา ปี 2001 สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยการนำของสหรัฐ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลบุช ได้เน้นและให้ความสำคัญมากเกินไปต่อการใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหา ซึ่งทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลงไป กลายเป็นขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงได้แพร่ขยายไปทั่วโลก ถึงแม้ในระยะหลังๆ รัฐบาลตะวันตกจะเริ่มยอมรับมากขึ้นว่า ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง แต่มาตรการที่เป็นรูปธรรมที่แก้ปัญหาที่รากเหง้าก็ไม่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถานก็กำลังเป็นปัญหาและเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุดสำหรับรัฐบาลโอบามา เพราะแนวโน้มกลับกลายเป็นนักรบตาลีบันและอัลกออิดะห์กลับฟื้นคืนชีพ และรุกคืบยึดดินแดนได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ขบวนการก่อการร้ายก็ได้ขยายตัวออกไป เข้าสู่คาบสมุทรอาระเบียและอัฟริกาเหนือ

ปัญหาความมั่นคงอื่นๆ

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ G8 หารือกัน คือ ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ โดย G8 มองว่าหลายประเทศยังไม่มีสถาบันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและจัดการความขัดแย้ง G8 จึงได้หารือถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น
โดยภูมิภาคที่มีปัญหาคือ ตะวันออกกกลาง โดยเฉพาะปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ G8 เน้นถึงความสำคัญของการเจรจาสองฝ่าย และให้ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นใน Road Map ที่จะนำไปสู่การเจรจาที่ประสบความสำเร็จ
ส่วนเรื่องพม่า G8 ได้แสดงความกังวลต่อกฎหมายเลือกตั้งที่มีข้อจำกัดหลายประการ G8 ได้เรียกร้องให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2010 นี้ ต้องมีความโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี โดยมองว่าการกักบริเวณจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของการเลือกตั้ง
สำหรับเรื่องสุดท้ายคือ ปัญหา Darfur G8 มองว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในซูดาน ในเดือนเมษายนนี้ จะเป็นก้าวสำคัญสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยในซูดาน ซึ่งจะเป็นการกรุยทางไปสู่การจัดทำประชามติในเดือนมกราคม ปี 2011 เกี่ยวกับสถานะของ Darfur ในอนาคต
กล่าวโดยสรุป การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G8 ที่แคนาดาในครั้งนี้ เน้นหารือปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งท่าทีส่วนใหญ่ก็เป็นท่าทีเดิมๆ ที่ทางสหรัฐและตะวันตกได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการประชุมจะมีการใช้ภาษาทางการทูตที่สวยหรู ตั้งเป้าหมายที่ดูดี แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ไม่มีมาตรการและแผนการรองรับที่เป็นรูปธรรม การประชุมจึงมีลักษณะเป็นการ PR ในเชิงสัญลักษณ์ สร้างภาพเสียมากกว่า โดยพยายามทำให้ชาวโลกรู้สึกว่าประเทศร่ำรวยยังเอาจริงเอาจังที่จะแก้ปัญหาของโลก แต่ผลการประชุม G8 กำลังมีความสำคัญน้อยลงทุกที ทั้งนี้เพราะกลุ่ม G8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างอำนาจโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะมีประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G8 จึงทำให้ผลการประชุม G8 ไม่มีความหมายและไม่มีความชอบธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: