Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทย ปี 2553

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทย ปี 2553
ไทยโพสท์ วันพฤหัสบดี ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

นโยบายต่างประเทศไทยในอดีต

นโยบายต่างประเทศและการทูตในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความอยู่รอดของชาติ และความเจริญรุ่งเรือง
จะเห็นได้ว่าในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ไทยได้ดำเนินการทูตอย่างแหลมคม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับจีน โดยมีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนมาโดยตลอด ในสมัยจักรวรรดินิยมตะวันตก ไทยก็ดำเนินการทูตกับชาติตะวันตกอย่างชาญฉลาด ซึ่งการทูตได้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้น
ต่อมาในสมัยสงครามเย็นไทยใช้การทูตในการป้องกันไม่ให้ถูกคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยการตีสนิทและเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ซึ่งผลพลอยได้สำคัญจากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐคือ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยก้าวกระโดดเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่สุดในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่อมาในสมัยหลังสงครามเย็น ไทยดำเนินการทูตรอบทิศทางและมียุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 1997 ความฝันของไทยก็พังพินาศหมด สถานะและบทบาททางการทูตไทยก็ตกต่ำลงไปมากนับตั้งแต่นั้นมา
แม้ว่าต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ จะพยายามผลักดันนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกหลายเรื่อง แต่ในที่สุด ทุกอย่างก็พังพินาศหมด เพราะกลายเป็นว่า การทูตไทยในสมัยรัฐบาลทักษิณกลายเป็นการทูตเชิงธุรกิจ และการทูตเชิงทุจริต และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าทักษิณได้ใช้การทูตในการตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน มีการกล่าวหากันอย่างกว้างขวางว่า ทักษิณได้ใช้นโยบายต่างประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ แต่กลับเป็นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
การทูตไทยไม่ได้ดีขึ้นเลยหลังรัฐประหาร 19 กันยา ปี 2006 ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ รัฐบาลขิงแก่ ทุกอย่างก็หยุดหมด กลับกลายเป็นว่าการทูตไทยหยุดนิ่ง ที่เราเรียกกันในสมัยนั้นว่า การใส่เกียร์ว่าง ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ จึงไม่ได้มีความคิดริเริ่มในนโยบายต่างประเทศใดๆ เกิดขึ้นเลย
ต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้ง เราได้รัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย การเมืองไทยก็ปั่นป่วนเกิดวิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่ รัฐบาลทั้งสองก็ไม่มีเวลาที่จะคิดริเริ่มในเรื่องการทูตใหม่ๆ ก็คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะรอดจากการถูกล้มรัฐบาล
รัฐบาลปัจจุบันคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในตอนแรก ก็มีความหวังว่า จะมีการปฏิรูปนโยบายการทูตและนโยบายต่างประเทศใหม่ แต่เอาเข้าจริง หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่น เรื่องที่พอจะเป็นผลงานได้บ้างคือ ความพยายามผลักดันให้ไทยกลับมามีบทบาทในอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่แล้วหลังจากนั้น กลุ่มเสื้อแดงได้ล้มการประชุมที่พัทยา และการประชุมอาเซียนครั้งที่ 15 ก็ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แม้ว่านายกอภิสิทธิ์จะพยายามเดินทางไปร่วมประชุมในระดับโลกหลายเวที แต่ไทยก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่โดดเด่น สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เกิดปัญหาขึ้นกับกัมพูชา ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่ดูแล้วก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากนโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์คือ การขาดนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก ขาดการจัดทำ grand strategy และขาดการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ๆ

ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทย

จากการทบทวนประเมินนโยบายต่างประเทศและการทูตไทยข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ในอดีตการทูตไทยเคยรุ่งเรือง แต่ในปัจจุบันการทูตไทยตกต่ำลงไปมาก แม้ว่าสถานการณ์เมืองในปัจจุบันจะไม่เอื้อ แต่ผมก็มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ที่จะต้องมีการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและการทูตไทยใหม่ โดยขอแยกเป็นประเด็นสำคัญดังนี้

• grand strategy

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องมี grand strategy ทางด้านนโยบายต่างประเทศ โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ดังกล่าว จะต้องมีการกำหนดแนวทางใหญ่ๆ เป็นภาพรวมและภาพกว้าง โดยสิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ จะต้องมีการผลักดันยุทธศาสตร์หรือนโยบายในเชิงรุก คือจะต้องมียุทธศาสตร์สำหรับบทบาทของไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน จะต้องมีนโยบายในเชิงรุกในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกกับมหาอำนาจและภูมิภาคอื่นๆ เช่น อัฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา
grand strategy ของไทย จะต้องมุ่งแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือจะต้องไม่เป็นการทูตเชิงธุรกิจ การทูตในยุคใหม่ของไทย จะต้องเป็นการทูตเชิงสุจริตที่เน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งเน้นหลักการธรรมภิบาลในนโยบายต่างประเทศ
นอกจากนี้ grand strategy ของไทยจะต้องมีลักษณะสมดุล เน้นดำเนินโยบายทางสายกลาง คือต้องไม่มีนโยบายแบบสุดโต่ง อย่างเช่นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีนโยบายสุดโต่ง มีลักษณะ ”โลภมาก” ทำหลายเรื่องมากเกินไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นลักษณะนโยบายหยุดนิ่งแบบสุดโต่งเหมือนในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ นโยบายสายกลางยังหมายถึง การมียุทธศาสตร์ไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมากเกินไป นโยบายสายกลางยังหมายถึง การสร้างสมดุลระหว่างการเป็นพลเมืองโลกที่ดี กับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ตัวอย่างเช่น ไทยอาจเล่นบทบาทส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่เราก็ต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ grand strategy ของไทย จะต้องเน้นจุดแข็งของไทย คือการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือเป็น hub ในอนุภูมิภาค ผลักดันบทบาทไทยในการเป็นผู้ประสานงาน เป็นตัวเชื่อมกรอบความร่วมมือต่างๆ และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจต่างๆ ในโลก

• นโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับนโยบายเฉพาะเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดของนโยบายต่างประเทศไทย จุดอ่อนของไทยคือ แม้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจ แต่ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับไม่ดี ปัญหาใหญ่คือเรื่องความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความหวาดระแวงของประเทศเพื่อนบ้านที่กลัวว่าไทยจะเข้าไปครอบงำ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม เหตุการณ์เขมรเผาสถานทูต กรณีเขาพระวิหารและความตึงเครียดระหว่างไทยกัมพูชา ได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน การบ้านชิ้นใหญ่ของรัฐบาลไทยคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไว้วางใจเรา และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับเราอย่างจริงใจ

• นโยบายต่อมหาอำนาจ

สำหรับเรื่องความสำพันธ์ไทยกับมหาอำนาจนั้น ผมไม่ค่อยห่วง เพราะการทูตไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการตีสนิทกับมหาอำนาจมาโดยตลอด ดังนั้น นโยบายไทยต่อมหาอำนาจในอนาคต คงจะเป็นการเน้นการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีที่มีมายาวนาน และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ผมดูแล้วไม่มีอะไรน่าห่วง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย แต่สิ่งที่ไทยควรเน้นเป็นพิเศษคือ การสร้างดุลยภาพของความสัมพันธ์ คือมียุทธศาสตร์รักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน โดยไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมากเป็นพิเศษจนเสียสมดุล

• นโยบายต่อเวทีพหุภาคี

สำหรับเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การผลักดันนโยบายในเชิงรุกสำหรับบทบาทไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะเวทีในภูมิภาคซึ่งมีหลายเวที ขณะนี้ กำลังมีการถกเถียงกันอย่างมากถึงสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ไทยจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนต่อแนวโน้มการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค แต่ผมมองว่า จุดยืนของไทยควรให้ความสำคัญกับอาเซียนมากที่สุด และควรผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น: