Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 1)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 1)ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 42 วันศุกร์ที่ 9 - วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้และอีกหลายตอน ผมอยากจะเอางานวิจัยของผมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ มาสรุปเป็นตอนๆ โดยจะแบ่งเป็น ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอดีต เรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน และมองถึงแนวโน้มในอนาคต

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ ได้มีความพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งด้วยกัน ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นจนมาถึงสมัยหลังสงครามเย็น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นโยบายต่างประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ได้เหินห่างจากสหรัฐ โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับการทูตรอบทิศทาง และอนุภูมิภาคนิยม เพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายของไทยในตอนนั้น ที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการเมืองในอนุภูมิภาค แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาในช่วงกลางปี 1997 ก็ได้มีการปรับนโยบายต่างประเทศไทย โดยไทยได้ลดความสำคัญของอนุภูมิภาคนิยมและหันไปปรับและกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐใหม่ เข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น เพื่อหวังผลที่จะให้สหรัฐช่วยเหลือในการกอบกู้เศรษฐกิจไทย และร่วมมือกับสหรัฐในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งเปิดการเจรจา FTA ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ต่อมา หลังจากรัฐประหาร 19 กันยา ปี 2006 ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เข้าสู่ยุคความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมาจนถึงปัจจุบัน

1. ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในอดีต
1.1 ช่วงก่อนสงครามเย็น

ในระยะแรก ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐเริ่มจากทางด้านการค้าก่อน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยในปี 1833 มีการจัดทำสนธิสัญญาด้านการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ต่อมาในปี 1856 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทย-สหรัฐ การค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 1884 เป็นปีที่สหรัฐได้มาจัดตั้งสถานทูตในไทยครั้งแรก แต่ความสัมพันธ์ในช่วงนี้ไม่ได้มีอะไรมากนัก ถ้าจะมีปัญหาคือ เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สหรัฐถือว่าเป็นมหาอำนาจใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่เป็นมหาอำนาจเก่า สหรัฐต้องการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย ต้องการเข้ามาคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ สหรัฐเป็นชาติแรกที่ไทยได้มีการจัดทำสนธิสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในปี 1920

จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดี และเป็นแม่แบบความสัมพันธ์ของไทยที่มีต่อชาติตะวันตกอื่นๆด้วย คือ สนธิสัญญาที่ทำขึ้นในปี 1920 ที่เรียกว่า “Treaty of Friendship, Commerce and Navigation” สนธิสัญญาฉบับนี้ได้กลายเป็นแม่แบบที่ไทยได้ใช้ในการเจรจากับประเทศยุโรปอื่นๆ ในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

หลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ไทย-สหรัฐก็มาถึงจุดสำคัญ คือ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่ไทยมีขบวนการเสรีไทย และทูตไทยที่กรุงวอชิงตันปฏิเสธไม่ยอมยื่นหนังสือประกาศสงครามต่อรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐ ก็ถือว่าไทยไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้น สหรัฐถือว่าไทยไม่ได้เป็นฝ่ายอักษะ หรือฝ่ายญี่ปุ่น แต่เป็น “รัฐที่ถูกยึดครอง” จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาในอดีตจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐดีมาตลอด ในแง่ที่สหรัฐฯช่วยเหลือไทยหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส การเป็นแม่แบบยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการช่วยไทยผ่อนหนักเป็นเบาในช่วงแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

1.2 ช่วงทศวรรษ 1950-1960
ในช่วงสงครามเย็น ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุด คือ ทศวรรษ 1950 และ 1960 สงครามเย็นเป็นช่วงที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นยุคที่ไทยพึ่งมหาอำนาจสหรัฐมากที่สุด ไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบกับสหรัฐหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี หรือสงครามเวียดนาม และได้ร่วมลงนามก่อตั้งองค์การ SEATO ขึ้นในปี 1954 ในทศวรรษ 1960 เป็นทศวรรษที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุด ในปี 1962 ไทยได้ทำสนธิสัญญาความมั่นคงกับสหรัฐที่เรียกว่า “Rusk-Thanat Communique” ซึ่งเป็นหลักประกันที่ไทยพยายามให้สหรัฐมาประกันให้ ในกรณีที่มีการรุกรานไทย สหรัฐจะเข้าช่วย ในทศวรรษนี้ มีการทำความตกลงกันอีกหลายฉบับ ระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยเป็นการยินยอมให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย

อย่างไรก็ตาม ปลายทศวรรษ 1960 สหรัฐเริ่มเห็นว่า สงครามยืดเยื้อ ยิ่งรบยิ่งไม่เห็นทางชนะ ประชาชนชาวสหรัฐ รู้สึกเบื่อหน่ายสงคราม ในปี 1969 จึงมีการประกาศลัทธินิกสัน (Nixon Doctrine หรือ Guam Doctrine)

1.3 ทศวรรษ 1970
หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเริ่มเปลี่ยน คือ ในทศวรรษ 1970 เป็นทศวรรษแห่งความสับสนวุ่นวายที่สุดยุคหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย เป็นยุคที่ไทยต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะสหรัฐถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้ และปล่อยให้ไทยอยู่อย่างเปราะบาง ในแง่ของความมั่นคง ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยชนะมากขึ้น ปี 1975 เวียดนาม ลาว และกัมพูชา กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สหรัฐถอนตัวออกไป ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐก็ห่างเหิน ไทยไม่มีทางเลือกในการหาหลักประกันอันใหม่ ไทยจึงไปพึ่งสมาคมอาเซียน และจีนแทน

1.4 ทศวรรษ 1980
ในช่วงทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมีแนวโน้มเหินห่างออกไป สหรัฐยังคงยึดนโยบายในการลดบทบาท และถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่พ่ายแพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐ “เข็ดขยาด” ต่อการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ แม้ว่าเวียดนามจะใช้กำลังทหารเข้าไปยึดครองเขมรในปี 1978 สหรัฐก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร สหรัฐได้แต่อยู่ห่าง ๆ และช่วยในกรอบของสหประชาชาติ

สรุปได้ว่า ทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น ขณะที่ไทยอยู่ในช่วงปรับบทบาทใหม่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษ 1970 คือ พยายามดำเนินการทูตรอบทิศทาง ในขณะที่สหรัฐลดบทบาทลง ไทยต้องไปหาพันธมิตรอื่นๆ ช่วงนี้ไทยจึงไปใกล้ชิดกับญี่ปุ่นและจีนมากขึ้น รวมทั้งอาเซียนด้วย และไทยก็ไปใกล้ชิดกับโซเวียตมากขึ้น และเริ่มคืนดีกับอินโดจีน

จะเห็นได้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1980 ในเรื่องการเมืองและความมั่นคง ไม่มีสหรัฐมาเกี่ยวข้องเท่าไร ไทยวุ่นอยู่กับเรื่องเขมรและใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ใช้จีนมาช่วยไทย ช่วยเขมรแดง และไปคืนดีกับโซเวียต สหรัฐไม่ได้มีบทบาทต่อไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980 นี้

แต่ว่าในทศวรรษ 1980 นี้เอง ที่ได้เริ่มมีมิติใหม่เกิดขึ้นระหว่างไทย-สหรัฐ นั่นคือ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-สหรัฐไม่มีอะไร เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งออกมาก ตลาดก็เล็ก เเละไม่ได้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากนัก ไทยจึงไม่มีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐ แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ไทยเริ่มมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น สหรัฐเองได้เริ่มปฏิรูปบทบาททางด้านเศรษฐกิจ คือเริ่มนโยบายทางด้านการค้าในเชิงรุก ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 สหรัฐบัญญัติกฎหมายการค้าใหม่คือ Omnibus Trade Bill มีการใช้มาตรการ 301 และสหรัฐ ได้รุกหนักขึ้นด้วยมาตรการ Super 301 มาตรการเหล่านี้ สหรัฐได้นำมาใช้ ในการที่จะมีนโยบายในเชิงรุกกับประเทศต่างๆ ที่เริ่มจะมีปัญหากับสหรัฐ คือ การได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ประมาณกลางทศวรรษ 1980 ไทยเผชิญกับสหรัฐในความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเชิงลบ คือ เริ่มมีความขัดแย้งกับสหรัฐด้านการค้า

ไม่มีความคิดเห็น: