Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณไปบ้างแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การทูตของทักษิณในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์หลักของทักษิณ
หลังจากทักษิณถูกโค่นอำนาจลงนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยา ปี 2006 ยุทธศาสตร์หลักของทักษิณตั้งแต่นั้นมา คือ จะทำอย่างไรให้ตนเองกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยยุทธศาสตร์ในการกลับคืนสู่อำนาจ แบ่งออกเป็นยุทธศาสตร์ในประเทศ และยุทธศาสตร์ต่างประเทศ

สำหรับยุทธศาสตร์ในประเทศนั้น คือ ยุทธศาสตร์การปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ล้มล้างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อที่ตนเองจะได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

สำหรับยุทธศาสตร์ต่างประเทศนั้น ดำเนินควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ในประเทศ โดยเป็นยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “โลกล้อมไทย” โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ สื่อต่างประเทศ และรัฐบาลต่างประเทศ
เป้าหมายหลักต่อสื่อต่างประเทศ เพื่อจะให้สื่อต่างประเทศลงข่าวโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ และสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางทางการเมืองของทักษิณ

สำหรับยุทธศาสตร์ต่อรัฐบาลต่างประเทศนั้น เน้น lobby รัฐบาลต่างประเทศ ให้เห็นใจคุณทักษิณ สร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางของทักษิณ และพยายามที่จะ lobby ให้รัฐบาลต่างประเทศเชื่อว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรม เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีสถาบันทหารสนับสนุนอยู่หลังฉาก
ทักษิณหวังว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้หากประสบความสำเร็จ จะนำไปสู่การที่ประชาคมโลก ซึ่งหมายถึงองค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่น UN และประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่น สหรัฐ จะเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย และจะเป็นการกรุยทางไปสู่การที่ทักษิณจะกลับมาสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังความล้มเหลวของกลุ่มเสื้อแดง ในการโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ทักษิณดูเหมือนจะไม่มีทางเลือก ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ต่างประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์ในประเทศประสบความล้มเหลว

มาตรการหลักในยุทธศาสตร์ต่างประเทศนั้น คือ การว่าจ้างทีมกฎหมายระดับโลกและทีม lobby ระดับโลก ทักษิณมีเงินมหาศาลที่สามารถทุ่มได้อย่างเต็มที่ ในการที่จะว่าจ้างทีมกฎหมายและทีม lobby ที่มีชื่อเสียงระดับโลกดังกล่าว
สำหรับทีมกฎหมายนั้น หัวหน้าทีม คือ นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงระดับโลก ชื่อ Alexander Knoops โดย Knoops มีประสบการณ์ในการทำคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศในยูโกสลาเวีย เซียร์ราลีโอน และรวันดา โดยเป้าหมายของทีมกฎหมายขณะนี้คือ การเข้ามาตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยทักษิณจะพยายามสร้างหลักฐานให้ชาวโลกเห็นว่า เหตุการณ์ 19 พฤษภา รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เข่นฆ่าประชาชน และถือเป็นความผิดเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ ทักษิณได้ว่าจ้างนักกฎหมายมีชื่ออีกคนหนึ่ง ชื่อ Robert Amsterdam ซึ่งหน้าที่หลักคือ การสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้กับทักษิณ และสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดย Amsterdam ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา ได้ให้ข่าวเรียกร้องให้สหประชาชาติเป็นตัวกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเสื้อแดง และต่อมาในเดือนมิถุนายน Amsterdam ได้ไปแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ญี่ปุ่น โดยได้ให้ข่าวโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

สำหรับยุทธศาสตร์ต่อสื่อต่างชาตินั้น ทักษิณพยายามเป็นอย่างมากที่จะให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศเพื่อที่จะโน้มน้าวให้สื่อต่างประเทศสนับสนุนแนวคิดของทักษิณและการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง เราจึงเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า สื่อต่างประเทศลงข่าวที่ไม่เป็นกลางและมีข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ข่าวที่บิดเบือนและไม่เป็นกลางเป็นผลบวกต่อคุณทักษิณ และถือเป็นชัยชนะอย่างชัดเจนของทักษิณ ในการครอบงำสื่อต่างประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในสายตาสื่อต่างประเทศและประชาคมโลกกลายเป็นมีภาพลักษณ์ในเชิงลบ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทักษิณจะประสบความสำเร็จในยุทธศาสตร์กับสื่อต่างประเทศ แต่ยุทธศาสตร์ที่จะ lobby รัฐบาลต่างประเทศนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยภาพรวมแล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามที่จะหาข้อเท็จจริง และพยายามเป็นกลาง และยังต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อไป แต่ผลจากการลงข่าวที่บิดเบือนของสื่อต่างประเทศ ก็น่าจะทำให้รัฐบาลต่างประเทศคงจะไขว้เขวอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

ที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ช้าเกินไปในการตอบโต้กับข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะการลงข่าวต่างๆ ที่บิดเบือน เกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ผมคิดว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ทำน้อยเกินไปและช้าเกินไป ในการที่จะตอบโต้ยุทธศาสตร์การทูตของทักษิณ ซึ่งมีลักษณะในเชิงรุกมาโดยตลอด ทั้งกับสื่อต่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เหมือนจะตั้งรับมาโดยตลอด ที่เสียหายหนักที่สุด คือ ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางเนื้อหาการลงข่าวของสื่อต่างประเทศได้ จนทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ดูเหมือนจะเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีความพยายามอยู่เหมือนกันในการที่จะสู้กับทักษิณ ในเกม “โลกล้อมไทย” ของทักษิณ ตัวอย่างเช่น หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภา นายกอภิสิทธิ์ได้เชิญทูตานุทูตในกรุงเทพ มารับฟังการบรรยายสถานการณ์ และตรวจสอบอาวุธที่ยึดได้จากกลุ่มเสื้อแดง และนายกอภิสิทธิ์ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ที่ฮานอย และได้ใช้โอกาสนั้นในการชี้แจงสถานการณ์ให้นานาประเทศทราบ หลังจากนั้น รัฐบาลได้เดินหน้าให้ศาลออกหมายจับทักษิณในฐานะเป็นผู้ก่อการร้าย และทางกระทรวงต่างประเทศได้สั่งให้ทูตไทยทั่วโลก lobby รัฐบาลต่างประเทศ เพื่อที่จะจำกัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทักษิณ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจะตั้งกรรมการตรวจสอบการฆ่าตัดตอน ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มีคนตายเกือบ 3,000 คน จากมาตรการปราบปรามการค้ายาเสพติดของทักษิณ ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเดินหน้าเอา Interpol เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย

นอกจากนี้ มีข้อมูลจากเวปไซต์ thehill.com ว่ารัฐบาลไทยได้ว่าจ้าง Podesta Group บริษัท lobbyist โดย John Anderson ผู้แทน ได้บอกว่าบริษัทมีสัญญากับกระทรวงการคลังของไทย เพื่อที่จะช่วยในเรื่องของการให้ข่าวต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเรียกคืนความเชื่อมั่น ทางการลงทุนและการท่องเที่ยวกลับคืนมา

การ lobby สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของทักษิณ ในยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” คือ ความพยายามที่จะ lobby รัฐบาลและสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยทักษิณได้ว่าจ้างบริษัท lobby ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ชื่อ Barbour, Griffith and Roger (BGR) โดยบุคคลที่อยู่ในบริษัทดังกล่าว หลายคนเป็นอดีตข้าราชการและมีอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรส ตัวอย่างเช่น ทูต Robert Blackwill ซึ่งเคยเป็นรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี Bush และยังเคยเป็นทูตที่อินเดีย และที่อิรัก มีข่าวว่า Blackwill มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดี Bush เป็นอย่างมาก ทีม lobbyist ของทักษิณยังมี Stephen Rademaker ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการนโยบายความมั่นคงของ Bill first ผู้นำเสียงข้างมากในสภา senate และ Jonathan Mantz อดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายการเงินของ Hillary Clinton ในสมัยที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา และ Walker Roberts อดีตรองผู้อำนวยการของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรส

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของทักษิณในการ lobby สหรัฐ คือ การส่งนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ เดินทางไปสหรัฐเพื่อพบปะกับบุคคลในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐ เพื่อ lobby ร่างข้อมติของสภาคองเกรสเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

อย่างไรก็ตาม คุณเกียรติ สิทธีอมร หัวหน้าผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ออกมาให้ข่าวว่า นายนพดลไม่ได้พบกับสส.ของสหรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่ได้พบกับผู้ช่วยของ สส. และ สว. และเจ้าหน้าที่ในระดับล่างของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเท่านั้น และการ lobby ของนายนพดลก็ไม่น่าจะมีผลใดใดต่อการลงมติเกี่ยวกับร่างข้อมติดังกล่าว

ก่อนหน้านั้น มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลสหรัฐพยายามจะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดย Scot Marciel รองอธิบดีกรมกิจการเอเชีย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้รายงานต่อสภาคองเกรสว่า สหรัฐพยายามที่จะปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายในไทย และสนับสนุนแผนการสร้างความปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์กังวลใจ จึงได้ส่งนายเกียรติ สิทธีอมร ไปสหรัฐในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งก็เป็นการเดินทางตัดหน้านายนพดล

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาคองเกรสสหรัฐได้ลงมติรับร่างข้อมติเกี่ยวกับไทย ด้วยเสียง 411 ต่อ 4 โดยสาระสำคัญของข้อมติดังกล่าว สนับสนุนให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และเห็นด้วยกับแผนปรองดอง 5 ข้อ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์

ข้อมติของสภาคองเกรสดังกล่าว ถือเป็นชัยชนะของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อทักษิณ ในการต่อสู้กันทางการทูต ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้ขยายวงจากการต่อสู้ภายในประเทศ ออกไปนอกประเทศอย่างชัดเจน แต่ชัยชนะของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อทักษิณในครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะในยกแรกเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ ทักษิณกับนายนพดลก็รีบเดินหน้าต่อ ในยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” คราวนี้ยกที่ 2 เป็นการต่อสู้กันในเวทียุโรป โดยนายนพดลได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อพบปะกับสมาชิกของ EU ด้านสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ EU เพื่อ lobby เกี่ยวกับท่าทีของ EU ต่อสถานการณ์การเมืองไทย

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณในปัจจุบัน คือ ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” และทักษิณกำลังเดินเครื่องเต็มที่ ในการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยหวังว่า หากยุทธศาสตร์สำเร็จ จะเป็นการกรุยทางในการกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งของทักษิณ การต่อสู้กันในเวทีระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับทักษิณคงยังไม่จบง่ายๆ เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า การต่อสู้ดังกล่าวจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น: