ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 43 วันศุกร์ที่ 16 - วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตอนที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งได้พูดถึงความสัมพันธ์ตั้งแต่อดีต จนมาถึงทศวรรษ 1980 คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐต่อ โดยจะพูดถึงความสัมพันธ์ในทศวรรษ 1990 รวมถึงความสัมพันธ์ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ ดังนี้
1.5 ทศวรรษ 1990
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเป็นความสัมพันธ์ที่มีปัญหาในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องความมั่นคงเริ่มมีความขัดแย้ง หลังจากที่สหรัฐได้ทิ้งไทยไปนาน ไทยก็หันไปหาจีน และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐในด้านความมั่นคง เพราะไทยสามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนได้ ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐจึงเริ่มมีปัญหา คือ ในเรื่องที่สหรัฐขอใช้อ่าวไทยตั้งคลังแสงลอยน้ำ เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การทหารของสหรัฐ แต่ไทยปฏิเสธ
นอกจากความขัดแย้งด้านความมั่นคง ไทย-สหรัฐก็มีความขัดแย้งด้านการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษ 1980 สหรัฐเริ่มรุกหนักขึ้นด้านการเปิดเสรีด้านภาคบริการ ในเรื่องของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เมื่อสหรัฐฯมองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็รู้สึกว่าได้สูญเสียบทบาท อำนาจด้านเศรษฐกิจไป เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งบทบาทได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทนำสหรัฐฯในเรื่องของการค้า การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือ ญี่ปุ่นเหนือกว่าสหรัฐฯในทุกด้าน ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องการที่จะกลับมามีบทบาทด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง เพื่อแข่งขันกับญี่ปุ่น
อีกประเด็นคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ในสมัยที่ไทยมีระบอบการปกครองอำนาจนิยมเผด็จการ ในช่วงนั้น สหรัฐไม่สนใจว่าประเทศใดจะปกครองระบอบใด ขอให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นพอ นั่นคือในสมัยสงครามเย็น เพราะฉะนั้น ช่วงทศวรรษ 1960 และ1970 แม้ว่าไทยจะมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ สหรัฐก็ไม่สนใจ ขอให้ไทยต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเดียว เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ความต้องการในแง่นี้ก็สิ้นสุดลง กระแสที่ต้องการจะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ประเด็นที่จะมาขัดแย้งคือ ขณะที่ไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่บางประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น สหรัฐและประเทศตะวันตกต่างได้ดำเนินนโยบายกดดันพม่า แต่ว่าในช่วงนี้ ไทยยึดนโยบายที่ถือว่าเพื่อนบ้านสำคัญกว่า ต้องเอาอาเซียนไว้ก่อน สหรัฐและยุโรปมาทีหลัง เพราะฉะนั้น ไทยมีประชาธิปไตย แต่นโยบายต่างประเทศของไทยที่จะชูธงประชาธิปไตยไม่มี เพราะถือว่าต้องเดินตามอาเซียน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ประเทศต่างๆเหล่านี้ ไม่ต้องการให้มีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น ไทยก็เดินตามอาเซียน เสียงข้างมากในอาเซียนต้องการให้ “ชน” กับสหรัฐและตะวันตกทางด้านสิทธิมนุษยชน ไทยเห็นว่า ต้องทำตามอาเซียน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เมื่อไทยเลือกที่จะทำตามอาเซียนก็แสดงว่า ไทยเลือกที่จะอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐและตะวันตก ในเรื่องท่าทีที่มีต่อประเทศต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน
จึงเห็นได้ว่าในทศวรรษ 1990 ไทยอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐในเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ด้านความมั่นคงไทยก็อิงจีน ตีตัวออกห่างจากสหรัฐ ในช่วงที่จีนยังไม่เป็นภัยต่อสหรัฐ ก็ยังไม่เป็นอะไร แต่ในช่วงที่ผ่านมา จีนเริ่มเติบใหญ่และกำลังจะเป็นภัยต่อสหรัฐ การที่ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนเกินไปจึงเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ทศวรรษ 1990 จึงเป็นทศวรรษที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตกต่ำในหลายๆด้าน
1.6 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
ยุคต่อมาคือ ยุควิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีใครคิดว่าจะมีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 1997 ไม่มีใครคิดว่าไทยต้องมาปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐใหม่อีกครั้ง เป็นช่วงที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ต่อสหรัฐ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ทำให้สหรัฐฯกลับมามีความสำคัญต่อไทยอีกครั้ง เพราะว่าไทยพึ่งใครไม่ได้อีกแล้ว ไทยหวังที่จะพึ่งญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็ย่ำแย่ ไทยเคยพึ่งพาจีนด้านความมั่นคง แต่ทางด้านเศรษฐกิจจีนช่วยอะไรไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไทยจึงไม่มีทางเลือก ต้องหันกลับไปหาสหรัฐ
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเริ่มเปลี่ยนใหม่ จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การที่นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เดินทางไปเยือนสหรัฐในเดือนมีนาคม ปี 1998 การเดินทางครั้งนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด ที่ชัดเจนคือ ไทยต้องกลับไปหาสหรัฐ ไทยได้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจประมาณ 2 พันล้านเหรียญจากสหรัฐ สหรัฐเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ใน IMF ไทยรู้ดีว่า สหรัฐเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของไทย
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยกลับไปหาสหรัฐ ได้ความช่วยเหลือจากสหรัฐ ไทยต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง สิ่งที่สหรัฐได้จากไทยมีหลายด้าน
ประเด็นแรกคือ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐกลับไปสู่ความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่เรียกว่า “traditional patronage” คือ ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมที่สหรัฐเป็นผู้ให้ ไทยเป็นผู้ขอ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยกล้าชนสหรัฐและเรียกร้องความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกับสหรัฐ กับยุโรปและญี่ปุ่นด้วย เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (economic partnership) มีความเท่าเทียมกัน ไทยไม่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว ไทยขอเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หุ้นส่วนทางด้านการค้า การลงทุน แต่คำนี้หายไปจากคำศัพท์ (vocabulary) ของนโยบายต่างประเทศไทยไปแล้ว เพราะฉะนั้น ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาทในภูมิภาคอีกครั้ง สหรัฐรู้สึกว่าบทบาทของตนลดลง ในขณะที่ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะให้สหรัฐกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง
อีกประการ ผลจากที่ไทยต้องไป “ง้อ” สหรัฐคือ ในอดีตที่บริษัทธุรกิจของสหรัฐอยากจะเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่มีการกีดกัน โดยเฉพาะการเข้ามาทำธุรกิจในภาคบริการ เช่น การธนาคาร การเงิน การโทรคมนาคม มีการปิดตลาด ไม่เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาธนาคารโดยเสรีได้ เพราะฉะนั้น สหรัฐจึงมีปัญหา แต่หลังวิกฤติ ทุกอย่างก็ราบรื่นสำหรับสหรัฐ
ผลอีกประการหนึ่ง ในการที่กลับไปปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐ คือ บทบาทของไทยในเวทีต่างๆ เช่น สหประชาชาติ เอเปค WTO ไทยต้องสนับสนุนท่าทีของสหรัฐมากขึ้น จากในอดีตที่ผ่านมา ท่าทีของไทยไปชนกับสหรัฐในหลายๆ เรื่อง ท่าทีของไทยก็อ่อนลงไป
ในด้านความมั่นคง ไทยพูดง่ายขึ้น ในการที่สหรัฐมาขอไทยเรื่องความมั่นคง การทหาร สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เพื่อแลกกับบางสิ่งที่ได้มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น