Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 4)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 4)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤต Eurozone ไปแล้ว 3 ตอน ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ซึ่งจะเป็นตอนที่ 4 โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว คือ วันพุธที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด Eurozone ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม และผลการประชุม ได้มีมาตรการต่างๆออกมา ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ของการกอบกู้วิกฤต Eurozone ผมจึงอยากจะสรุป และวิเคราะห์ผลการประชุมสุดยอด Eurozone ในครั้งนี้ ดังนี้

ผลการประชุมสุดยอด Eurozone

การประชุมสุดยอดของสมาชิก 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโร หรือที่เราเรียกว่า Eurozone นั้น ครั้งล่าสุดประชุมกันเมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในภาพรวม หลังจากการประชุมที่ยืดเยื้อ ผู้นำ Eurozone ก็ตกลงกันได้ และประกาศออกมาว่า จะมีมาตรการที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ หรือ comprehensive package เพื่อที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone ให้ได้ โดยมีมาตรการที่ตกลงกันได้ 3 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก เป็นเรื่องของการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ โดยได้มีการเจรจาระหว่างผู้นำ Eurozone กับธนาคารต่างๆที่เป็นเจ้าหนี้ของกรีซ เพื่อยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ ซึ่งเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ได้มีข้อตกลงว่า จะยกเลิกหนี้ หรือที่เรียกว่ามาตรการ hair-cut 20% แต่ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างการเจรจา ในตอนแรก ธนาคารต่างๆจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซเพียง 40% แต่ผู้นำฝรั่งเศสกับเยอรมนี คือ Sarkozy และ Merkel ได้เจรจาต่อรองเรื่องนี้กับธนาคารต่างๆ จนถึงกลางดึกของวันพุธที่ 26 ตุลาคม จึงสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้ ซึ่งมาตรการ hair-cut ดังกล่าว จะปรับลดหนี้ของกรีซให้เหลือประมาณ 120% ของ GDP ภายในปี 2012

ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการเพิ่มเงินในกองทุนกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone ซึ่งมีชื่อว่า European Financial Stability Facility (EFSF) ปัจจุบัน กองทุนนี้มีเงินอยู่ 140,000 ล้านยูโร ก่อนหน้าการประชุม มีข้อเสนอจะเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนนี้ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร แต่ผลการประชุมก็ออกมาว่า จะมีการเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนเพียง 1 ล้านล้านยูโร

วิธีการในการเพิ่มเงินใน EFSF มีอยู่ 2 วิธี วิธีแรก คือ การให้หลักประกันสำหรับพันธบัตรของประเทศที่มีหนี้ ซึ่งจะทำให้พันธบัตรเหล่านี้ มีแรงดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุน และจะทำให้รัฐบาลของประเทศที่มีหนี้สิน มีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการกู้ยืมเงิน

ส่วนวิธีที่ 2 คือ การจัดตั้งกองทุนลงทุนพิเศษขึ้น โดยจะมีการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงจาก IMF และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะจีน โดยมีความคาดหวังว่า การเพิ่มเงินให้กับ EFSF จะเป็นรูปเป็นร่างได้ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ที่ประชุมสุดยอด Eurozone ตกลงกันได้ จากการประชุมครั้งนี้ คือ มาตรการที่จะให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มทุนประมาณ 1 แสนล้านยูโร ภายในเดือนมิถุนายน 2012 ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น จากการผิดนัดชำระหนี้ และป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

บทวิเคราะห์

• ภาพรวม : ผมมองว่า การประชุมสุดยอด Eurozone ในครั้งนี้ ในภาพรวม ถือว่า
ประสบความสำเร็จ และถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการกอบกู้วิกฤต อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ดูอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นว่า ผลการประชุมยังไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่า จะสามารถกอบกู้วิกฤตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ที่ขาดหายไป คือ รายละเอียดต่างๆ โดยผลการประชุมจะเน้นในเรื่องของหลักการ แต่ยังขาดรายละเอียดและมาตรการต่างๆอยู่อีกมาก

• เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีความแน่นอนว่า แต่ละมาตรการ จะ
สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เริ่มตั้งแต่เรื่องของการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่า ในที่สุดแล้ว ธนาคารต่างๆ จะยอมรับที่จะยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้จริงหรือไม่ นอกจากนั้น ข้อตกลงการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ ก็มีการใช้หลักการความ “สมัครใจ” เป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่มีความแน่นอนว่า ธนาคารต่างๆจะ “สมัครใจ” หรือไม่ ในการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ

• สำหรับเรื่องกองทุน EFSF นั้น ยังมีปัญหาน่าคิดว่า เงินที่เพิ่มเข้าไป 1 ล้านล้านยูโรนั้น จะ
เพียงพอหรือไม่ หากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน ซึ่งเยอรมนีและธนาคารกลางยุโรปไม่ยอมเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนนี้ คือ การเพิ่มเข้าไปเป็น 2 ล้านล้านยูโร ซึ่งที่ตกลงกันได้จากการประชุมสุดยอด Eurozone ครั้งนี้ จะเพิ่มเพียง 1 ล้านล้านยูโรเท่านั้น จึงไม่น่าจะเพียงพอ

ที่น่าเป็นห่วง คือ หากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลี ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า EFSF จะมีเงิน
พอที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้อิตาลีได้หรือไม่ อิตาลีนั้น เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ Eurozone ขณะนี้ อิตาลีมีหนี้อยู่สูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หากอิตาลี ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ หรือล้มละลาย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล และอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินโลกครั้งใหม่

• นอกจากนี้ วิกฤต Eurozone ครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสหภาพยุโรป ที่
ยังไม่มีการบูรณาการอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะบูรณาการทางการเงินและการบูรณาการทางการเมือง การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ในเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้าง และในเรื่องของการบูรณาการทางการเงิน ดังนั้น รากเหง้าของปัญหาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข มาตรการต่างๆที่ตกลงกันได้ในการประชุมสุดยอด Eurozone ในครั้งนี้ ก็เป็นเพียงมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น แต่มาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็ยังไม่มี

กล่าวโดยสรุป แม้ว่า การประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา จะถือได้ว่า
ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่า มาตรการเหล่านี้ จะสามารถกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ และ worst-case scenario ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้น โดยวิกฤตอาจลุกลามบานปลาย เข้าสู่สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ได้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: