Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

45 ปีอาเซียน


45 ปีอาเซียน

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2555
 
การผงาดขึ้นมาของอาเซียน

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของประเทศสมาชิกก่อตั้งอาเซียน และเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน โดยไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันมาโดยตลอด ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา

                ในปัจจุบัน อาเซียนนับว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ประมาณ 60-70 % ของ GDP ไทย มาจากการส่งออก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นอย่างมาก

                หากอาเซียนเป็นประเทศ อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยมี GDP รวมกันสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ได้ทำการศึกษาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2030 พบว่า ในปีดังกล่าว GDP ของอาเซียนจะขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว คือจะมี GDP อยู่ประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าว จะเห็นได้ว่า อาเซียนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการเป็นสมาชิกของอาเซียน

                นอกจากนี้ อาเซียนกำลังเป็นสถาบันหลักในภูมิภาค เป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค สัจธรรมของการเมืองและเศรษฐกิจโลก คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ประเทศใหญ่ได้เปรียบ ประเทศเล็กเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญ ที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน และต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน

                ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                และด้วยความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงริเริ่มตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้น ในช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมีผมเป็นผู้อำนวยการก่อตั้งศูนย์ฯ เพื่อเป็นกลไกหลักของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนสู่สาธารณชน รวมทั้งเป็นคลังสมองด้านอาเซียนศึกษา และสนับสุนนกิจกรรมต่างๆและบทบาทของไทยในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

                ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้ โดยได้มีการจัดประชุมระดมสมองครั้งที่ 1 เรื่อง “Roadmap สู่ประชาคมอาเซียน ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้ดำเนินโครงการเป็นที่ปรึกษาให้กับ ก.พ.ในการจัดทำแผน 4 ปี เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรภาครัฐสู่ประชาคมอาเซียน และขณะนี้ศูนย์ฯก็กำลังดำเนินโครงการให้กับ ก.พ.ร. ในโครงการขับเคลื่อนภาครัฐในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำลังจะมีการจัดทำตัวชี้วัด เพื่อติดตามประเมินผลความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานราชการต่างๆของไทย รวมทั้งจัดทำ Roadmap หรือแผนแม่บทการเตรียมความพร้อมของภาคราชการไทย

โครงการต่างๆ ที่ศูนย์ฯกำลังดำเนินการอยู่ และที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ก็มีมากมายหลายโครงการ ทั้งโครงการวิจัย โครงการเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ โครงการฝึกอบรม โครงการจัดประชุมในรูปแบบต่างๆ และโครงการจัดประชุมนานาชาติ

นอกจากนี้ ศูนย์ฯได้จัดทำเว็บไซด์ของศูนย์ฯขึ้น โดยมีชื่อว่า www.castu.org เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านอาเซียนศึกษาของประเทศ โดยในเว็บไซด์ของศูนย์ฯจะมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในทุกๆด้าน ผลงานวิจัยและผลงานการศึกษาของศูนย์ฯ และหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รายละเอียดเกี่ยวกับการมีบทบาทในการเป็นคลังสมองของประเทศ รวมทั้งสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆที่สามารถดาวน์โหลดได้ อาทิ บทความ บทวิเคราะห์ หนังสือ Press Release เป็นต้น

ศูนย์ฯ ตั้งเป้าหมายว่า จะพัฒนาไปเป็นศูนย์อาเซียนศึกษาในระดับชาติ และในระดับภูมิภาคต่อไป

                เหลียวหลัง แลหน้า 45 ปีอาเซียน

กิจกรรมล่าสุดของศูนย์อาเซียนศึกษาก็คือ การจัดสัมมนา เมื่อวันอังคารที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้เอง ในโอกาสของการครบรอบ 45 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ซึ่งก็คือวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งเราเรียกว่าเป็นวันอาเซียนหรือวันเกิดของอาเซียน นับเป็นโอกาสอันสำคัญที่ได้มีการเหลียวหลัง คือ การวิเคราะห์ ประเมินความสำเร็จในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งท้าทายต่างๆ และการแลหน้า คือ การวิเคราะห์ เสนอแนะ วิสัยทัศน์และ Roadmap ของอาเซียนในอนาคต ซึ่งการสัมมนาในวันนั้น ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักศึกษา และเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

สำหรับข้อสรุปของการประเมินความสำเร็จของอาเซียนนั้น ตลอดเวลา 45 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีวิวัฒนาการเรื่อยมา และมีบทบาทสำคัญ ในยุคสงครามเย็นอาเซียนเป็นแนวร่วมของไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น อาเซียนเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ จนมาถึงปี 2003 ได้มีข้อตกลงที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ภายในปี 2015 ขณะนี้อาเซียนกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีสิ่งท้าทาย อุปสรรค และขวากหนาม อยู่ไม่น้อยสำหรับเดินทางการเดินไปสู่ประชาคมอาเซียน อุปสรรคสำคัญคือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศสมาชิก ความไม่วางใจซึ่งกันและกัน ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้อาเซียนไม่สามารถบูรณาการทางเศรษฐกิจในเชิงลึกได้ นอกจากนั้น อาเซียนยังขาดอัตลักษณ์ร่วม ทำให้อาเซียน 600 ล้านคน ยังไม่รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน นำไปสู่ความแตกแยก ไม่เป็นเอกภาพ และไม่สามัคคีกันในอาเซียน

ปัญหาล่าสุด คือ การแตกแยกกันในกรณีทะเลจีนใต้ โดยอาเซียนแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือหางสหรัฐ และต้องการให้แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน มีข้อความโจมตีจีน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ถือหางจีน (โดยเฉพาะกัมพูชา) จึงทำให้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งล่าสุด ที่กรุงพนมเปญ อาเซียนไม่สามารถมีแถลงการณ์ร่วมออกมาได้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีของอาเซียนที่อาเซียนไม่มีแถลงการณ์ร่วม

เหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า อาเซียนยังมีสิ่งท้าทาย อุปสรรค ขวากหนามอีกมาก ในการที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ

ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเหล่านี้ เพื่อทำให้อาเซียนสามารถพัฒนาไปเป็นประชาคมที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงในอนาคตและจะทำให้อาเซียนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกได้ในอนาคต รวมทั้งจะทำให้อาเซียนสามารถดำรงการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และเป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคต่อไปได้

 

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

อาเซียนกับปัญหาทะเลจีนใต้


อาเซียนกับปัญหาทะเลจีนใต้
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม 2555

                ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทุกครั้ง จะต้องมีแถลงการณ์ร่วมออกมา คือ Joint Communique ทำทุกปี ตั้งแต่ครั้งแรกปี 2510 หรือ 1967 มี ทุกปี ซึ่งเป็นเอกสารของรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ในปีนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุดที่กรุงพนมเปญ กลับไม่มีแถลงการณ์ร่วม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน 45 ปี ที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเดี๋ยวผมจะ วิเคราะห์ต่อว่า เป็นเพราะอะไร เกิดเพราะอะไร ผลกระทบอย่างไร และเราจะเดินหน้ายังไงกันต่อกันอย่างไร

                การที่อาเซียนแตกแยกกันขนาดนี้ ถือว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของอาเซียน เรากำลังพูดถึงประชาคมอาเซียนแล้วมาแตกแยกกันแบบนี้ ผมว่ามันเสียหายมาก

                เรื่องปัญหาทะเลจีนใต้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน เป็นระเบิดเวลาของความสัมพันธ์อาเซียนกับจีน 10 ปีที่ผ่านมา จีนพยายามเอาใจอาเซียน แต่จีนรู้ดีว่า มีระเบิดเวลาอยู่ลูกหนึ่ง ที่จะทำให้หยุดความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย คือปัญหาทะเลจีนใต้ ที่ผ่านมา ในอดีต จีนจะไม่ยอมเจรจาแบบพหุภาคี จะเจรจาแบบทวิภาคี ในปี 2002 จีนเปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยการยอมลงนามในปฎิญญาของอาเซียนที่เราเรียกว่า Declaration on The Conduct of Parties on The South China Sea พอลงนาม มีปฎิญญา จีนก็ได้ถอดสลักระเบิดลูกนี้ออก หลายฝ่ายมองว่า ปัญหานี้คงจะคลี่คลาย เพราะจีนยอมเจรจากับอาเซียนแล้ว และยอมเจรจา Code of Conduct ด้วย แต่อยู่ดีๆในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย

                ปัจจัยแรก คือ จีนเริ่มผงาดขึ้นมา ในอดีต จีนอาจจะยอม พอจีนเริ่มมีอำนาจ จีนรู้สึกว่า ตัวเองมีความมั่นใจ และความแข็งกร้าวมากขึ้น เรียกง่ายๆว่า จีนพยายามจะทุบโต๊ะ ตรงนี้มันของข้า ผู้นำจีนรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องยืนยันว่า ตรงนี้เป็นของข้า 1-2ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ปัญหานี้ปะทุขึ้นมาอีก คือ จีนเริ่มคุกคามบริษัทขุดเจาะน้ำมันตะวันตกที่เข้าไปสำรวจน้ำมัน จีนได้เพิ่มกองทัพเรือเข้าไปในหมู่เกาะสแปรตลี่ เรือรบจีนข่มขู่เรือของประเทศอื่นมากขึ้น และประกาศห้ามเรือประมงประเทศอื่น เข้าไปจับปลาในเขตหมู่เกาะสแปรตลี่ ที่จีนอ้างว่าเป็นของตน การเจรจาระหว่างจีนกับอาเซียนในการจัดทำ Code of Conduct ก็ติดขัดไม่คืบหน้า จีนประกาศว่า หมู่เกาะสแปรตลี่เป็นผลประโยชน์หลัก สถานะเทียบเท่ากับ ไต้หวัน ทิเบต ไม่ยอมให้ใครเอาไปได้ พอท่าทีจีนเป็นแบบนี้ ก็เริ่มตึงเครียดมากขึ้น มีปัญหามากขึ้นกับ เวียดนาม และฟิลิปปินส์

                  ปี 2010 อเมริกาเริ่มเข้ามา โดย Hillary Clinton ระหว่างการประชุม ARF ที่ฮานอย ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐ ว่า ต่อไปนี้อเมริกาต้องเข้ามายุ่ง เพราะอเมริกาถือว่า เรื่องทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือ และอเมริกาเน้นเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ เพราะฉะนั้น จีนจะอ้างว่าเป็นของตัวเองไมได้ พออเมริกาเข้ามายุ่ง เรื่องก็ไปกันใหญ่ จีนโกรธมากที่อเมริกามายุ่ง จีนบอกว่า คำพูดของ Hillary Clinton ถือเป็นการโจมตีจีน ประกาศซ้อมรบในทะเลจีนใต้ พอจีนซ้อมรบ อเมริกาก็เอาบ้าง ส่งเรือรบเข้ามาที่เวียดนาม เรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาเวียดนาม นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2010

                ปี 2011 จีนกับอาเซียนพยายามที่จะลดความขัดแย้งลงด้วยการเจรจา ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีที่แล้ว ที่อินโดนีเซีย ที่จีนและอาเซียนตกลงกันว่า จะแปลงปฎิญญาอาเซียน 2002 ไปสู่การปฏิบัติ

                อย่างไรก็ตาม เวียดนามเริ่มให้สัมปทานบริษัทน้ำมันเข้าไป สำรวจในพื้นที่ทับซ้อน จึงเกิดความขัดแย้งกันอีก ระหว่างจีนกับเวียดนาม ส่วนฟิลิปปินส์ก็มีปัญหากับจีนตรงเกาะ scarborough ซึ่งฟิลิปปินส์ก็บอกเป็นของเขา จีนก็บอกว่าเป็นของเขา ขัดแย้งกันค่อนข้างจะตึงเครียด ฟิลิปปินส์เริ่มแข็งกร้าวมากขึ้น

                ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมเวียดนามกับฟิลิปปินส์ถึงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับจีน คำตอบคือ เพราะอเมริกาถือหางอยู่ แต่ก่อน อเมริกาไม่เข้ามายุ่ง พอเข้ามายุ่ง อเมริกาก็เข้ามาถือหางเวียดนาม และฟิลิปปินส์ 2 ประเทศนี้ก็เริ่มรุกมากขึ้น โดยรุกในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ด้วยการเสนอให้ใส่เข้าไปในแถลงการณ์ร่วม ให้มีการพูดถึงจีนกับฟิลิปปินส์ว่า จีนเข้ามาวุ่นวายในเกาะ scarborough ที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นของฟิลิปปินส์ เวียดนามผลักดันให้มีการใส่ข้อความระหว่างจีนกับเวียดนามด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีข้อเสนอให้ใส่ข้อความเหล่านี้เข้าไป ในอดีต จะพูดในเรื่องกว้างๆ เชิงบวก แต่คราวนี้ไม่ใช่คราวนี้ฟิลิปปินส์และเวียดนามยืนยันให้ใส่เรื่องนี้เข้าไป ทำให้มีปัญหา ประธานในที่ประชุมคือรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ไม่ยอมตามที่ฟิลิปปินส์กับเวียดนามได้ขอ

                ถ้าจะวิเคราะห์ คือ อาเซียนมี 4 ประเทศที่มีปัญหากับจีนในเรื่องนี้ คือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย ที่ทะเลาะกับจีน ประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไม่ได้ทะเลาะ ไม่ได้มีเรื่องกับจีน 6 ประเทศนี้ เรื่องไหนที่พอจะช่วยเหลือ 4 ประเทศนี้ได้ ก็พยายามสนับสนุน แต่ถ้าทำให้ไปทะเลาะกับจีนมากเกินไป คงไม่เอาด้วย 6 ประเทศนี้ ความสัมพันธ์กับจีนก็ไม่เท่ากัน ประเทศที่สนิทกับจีนมากที่สุด คือ กัมพูชา ลาว และพม่า เพราะฉะนั้น 3 ประเทศนี้ ก็ไม่อยากมีปัญหากับจีน โดยที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนพอดี กัมพูชาคงพยายามติดเบรก ส่วนไทยเป็นกรณีพิเศษ ท่าทีของไทยต่อมหาอำนาจ คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งสหรัฐและจีน พยายามเดินสายกลางมาตลอด เพราะฉะนั้น ถ้ามีเรื่องอะไรที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ เราก็จะถอย เงียบๆ เรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่ ไทยก็เงียบๆมาตลอด

                ส่วนสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เอียงไปทางสหรัฐ อินโดนีเซียพยายามเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ไทยกำลังรับหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นโอกาสดี ที่ไทยจะเข้ามาเป็นตัวกลาง ในการประสานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน

                โดยสรุป จะเห็นได้ว่า อาเซียน 10 ประเทศ เราแตกกัน 4 ประเทศที่มีปัญหากับจีนโดยตรง พยายามให้อาเซียนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ในทำนองที่ไปกดดันจีนในเรื่องนี้ อีก 6 ประเทศ โดยเฉพาะ พม่า ลาว กัมพูชา ก็ไม่อยากจะทำ ส่วนไทย นั่งอยู่บนรั้ว งานนี้เราไม่ยุ่งดีกว่า ในที่สุด กลายเป็นว่า ตัวแถลงการณ์ร่วมต้องมี Paragraph หนึ่งที่จะต้องพูดถึง ปัญหาหมู่เกาะสแปรตลี่ แต่ปรากฏว่า ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องของ Wording ในอดีต ไม่เคยมีที่จะไม่ออกแถลงการณ์ร่วม 45 ปีที่ผ่านมา เราตกลงกันได้ทุกเรื่อง เรื่องไหนที่ตกลงกันไม่ได้ เราก็ไม่เอาไปใส่ เรื่องไหนที่ตกลงกันได้ เราก็เอาไปใส่ แต่คราวนี้ ถึงขั้นที่มีการล้มโต๊ะกันเลยว่า ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีแถลงการณ์ร่วม หมายความว่า ที่เราเคยคุยกันหลายสิบเรื่อง ก็เททิ้งหมด ทำให้การประชุมครั้งนี้ไม่ได้ตกลงอะไรกันเลยสักเรื่องเดียว ถือว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของอาเซียน

                จากการที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วม ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เราแตกแยกกัน ตกลงกันไม่ได้ ทำให้อำนาจการต่อรองของอาเซียนลดลงไป มหาอำนาจต่างๆก็รู้แล้วว่า อาเซียนมีจุดอ่อน เพราะฉะนั้น ยิ่งง่ายสำหรับมหาอำนาจที่จะเข้ามาแบ่งแยกและทำลายอาเซียน

                ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ ในการที่เราจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ก่อนหน้านี้ เราพูดถึงประชาคมอาเซียนในแง่ดีมาตลอด อาเซียนจะผงาดขึ้นมา กลายเป็นประชาคมที่มีความเข้มแข็ง เป็นตัวแสดงที่สำคัญในภูมิภาค ก่อนหน้านี้ อาเซียนกำลังเนื้อหอม มหาอำนาจเริ่มให้ความสำคัญกับอาเซียน โอบามาก็มาหาอาเซียนทุกปี เรามองว่า อาเซียนกำลังเด่นขึ้นมาก แต่อยู่ดีๆ เราก็มาพังให้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

                การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เราจะควรประชุมกันนอกรอบ และหารือ ประนีประนอมกัน และนำไปสู่การผลักดันให้มีแถลงการณ์ร่วมออกมาให้ได้

                การแก้ไขปัญหาระยะยาว เรื่องแรก เรายังรู้สึกไม่ได้เป็นพวกเดียวกันอย่างแท้จริง เมื่อตั้งประชาคมอาเซียนได้สำเร็จ เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน เรื่องที่สองคือเรื่องหลักการตัดสินใจ ของอาเซียน คือฉันทามติ คือ 9 ประเทศเอา แต่ 1 ประเทศไม่เอา ก็คือไม่เอา เพราะฉะนั้น หลักการฉันทามติ ในแง่ดี ทำให้อาเซียนเดินหน้าไปพร้อมๆกัน แต่ในแง่เสีย ทำให้อาเซียนช้า กฎบัตรอาเซียนควรเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจ จากฉันทามติมาเป็นลงคะแนนเสียง

                                เรื่องทั้งหมด เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่ ผมเชื่อว่า การแก้ปัญหาคงต้องเริ่มด้วยการเจรจา และเห็นด้วยกับท่าทีของอาเซียนและจีนที่เห็นตรงกันว่า เราควรจะเดินหน้าในการจัดทำ Code of Conduct เดินหน้าในการ implement ปฎิญญา 2002 ที่กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะยึดมั่นในหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน หรือ CBM ทุกฝ่ายต้องสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจกัน ในทางปฏิบัติ คือ นโยบายทางทหารต้องโปร่งใส ยุติการเคลื่อนไหวทางการทหาร ร่วมมือทางทหารมากขึ้นระหว่างอาเซียนกับจีน เรื่องการเจรจา ทุกฝ่ายต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธีด้วยการเจรจา ซึ่งอาเซียนกับจีนต้องไปคุยกันว่า มีเวทีไหนที่จะสามารถเจรจากันได้ เช่น เวทีเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน เวทีประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน เวทีประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีน อาเซียน+3 ADMN+8 ซึ่งเวทีเหล่านี้น่าจะช่วยได้

                ทุกฝ่ายจะต้องสร้างกิจกรรมความร่วมมือ ในเรื่องทะเลจีนใต้ร่วมกัน เช่น ความร่วมมือในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากเราร่วมมือกันตรงนี้ได้ ความหวาดระแวงก็จะลดลง ต่อไปอาจจะมาสำรวจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันได้ ในลักษณะ JDA หรือ Joint Development Area

 

วิกฤต Eurozone2012 (ตอนที่ 2)


วิกฤต Eurozone2012 (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2555

                สถานการณ์และแนวโน้ม

วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ใช้เงินEuro17 ประเทศ ที่เรียกว่า Eurozone นั้น กำลังเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยในตอนแรกรัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ แม้ว่าจะได้มีการพยายามกอบกู้วิกฤต ทั้งในกรอบของ EU,IMF และ G20 แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

                สถานการณ์ล่าสุด แม้ว่าจะได้มีการเลือกตั้งใหม่ที่กรีซและพรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดได้รับชัยชนะแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่า วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่สเปนอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีการตื่นกลัวกันว่าวิกฤต Eurozoneกำลังจะลุกลามบานปลายกันไปใหญ่ แม้ว่าล่าสุดจะมีความพยายามจัดประชุมสุดยอด EU หลายครั้ง แต่มาตรการกอบกู้วิกฤตก็ยังไม่เพียงพอ ขณะนี้มีแนวคิดแตกออกเป็น 2 แนว แนวคิดหนึ่งเรียกร้องให้มีบูรณาการในยุโรปมากขึ้น แต่อีกแนวคิดหนึ่งต้องการกดดันให้ประเทศที่มีปัญหาเลิกใช้เงิน Euro

                ตัวแสดงสำคัญในการกอบกู้วิกฤต คือ เยอรมนี แต่ชาวเยอรมันก็แตกแยกกัน เพราะถ้าจะเอาจริงๆ เยอรมนีจะต้องลงขันจ่ายเงินเพื่ออัดฉีดเงินช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งชาวเยอรมันบางกลุ่มก็คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยประเทศอื่น  นอกจากนี้ เยอรมนีก็รู้ดีว่า อาจจะต้องช่วยทั้งอิตาลี สเปน โปรตุเกส และกรีซ ซึ่งก็คงจะช่วยไม่ไหว

สำหรับฝรั่งเศสก็เป็นตัวแสดงสำคัญอีกประเทศ แต่แม้ว่าประธานาธิบดี Francois Hollande จะได้กล่าวว่า ฝรั่งเศสพร้อมที่จะยืดหยุ่นสำหรับมาตรการรัดเข็มขัดกับประเทศที่มีปัญหา แต่โจทย์สำคัญสำหรับฝรั่งเศส คือ เศรษฐกิจของฝรั่งเศสเองก็เปราะบาง ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของวิกฤตEurozone ได้

                ผลกระทบ

·       ภาพรวม

วิกฤต Eurozoneที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ล่าสุดและแนวโน้มในอนาคต กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก  สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ โดยยังไม่มีความแน่นอนว่ามาตรการกอบกู้วิกฤตของ EU  จะสามารถกอบกู้วิกฤตได้หรือไม่ ดังนั้นโอกาสที่วิกฤตจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ก็อาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดการล่มสลายของ Eurozoneก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือ great depression คือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหม่ที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 70 ปี

·       ผลกระทบต่อมหาอำนาจเศรษฐกิจ

วิกฤต Eurozoneจะส่งผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับทางอ้อมคือจะไปกระทบต่อเศรษฐกิจของมหาอำนาจ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจโลก

โดยเฉพาะสำหรับสหรัฐนั้น แม้ว่าสหรัฐจะส่งออกไป Eurozoneคิดเป็นเพียง1-2% ของ GDP แต่ธนาคารสหรัฐก็ทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารยุโรป จึงอาจได้รับผลกระทบ นอกจากนี้บรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆของสหรัฐก็เข้าไปลงทุนในยุโรปเป็นจำนวนมหาศาล วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปจะกระทบต่อการลงทุนของสหรัฐและต่อมูลค่าหุ้นของสหรัฐ ด้วย

สำหรับมหาอำนาจเศรษฐกิจอีกประเทศ คือ จีน ก็คงจะได้รับผลกระทบ ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงEU นำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน

สำหรับอินเดีย นั้น พึ่งพาการส่งออกน้อยกว่าจีน โดยการส่งออกของอินเดียคิดเป็น 22% ของ GDP ในขณะที่จีนมีสัดส่วนถึง 30% ดังนั้นผลกระทบจากวิกฤตEurozoneต่ออินเดียจึงมีไม่มากนัก

สำหรับมหาอำนาจเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ บราซิล รัสเซีย ประเทศเหล่านี้พึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบ โดยยุโรปเป็นผู้บริโภครายสำคัญ ปัญหาคือวิกฤต Eurozoneทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ตกต่ำลง ซึ่งก็ได้เห็นแล้วจากราคาน้ำมันที่ลดลงเรื่อยๆ โดยจะทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการที่รายได้จากการส่งออกลดลง

·       ผลกระทบต่อไทย

สำหรับประเทศไทย นั้น หากวิกฤต Eurozoneบานปลายก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรงทั้งทางด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

ในด้านการค้า EU มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือประมาณ 27% ของเศรษฐกิจโลกEurozoneเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย สัดส่วนของตลาดตะวันตกคิดเป็น 30% ของการส่งออกของไทย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวิกฤตลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก

                สำหรับผลกระทบทางด้านการลงทุน ประเทศยุโรปเป็นประเทศที่มาลงทุนในลำดับต้นๆของไทย หากวิกฤตบานปลายนักลงทุนยุโรปก็จะลดการลงทุนในไทยลง รวมทั้งตลาดหุ้นและตลาดการเงินด้วย

                กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่า วิกฤต Eurozoneยังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากเกิด worst-case scenario คือวิกฤตลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกก็จะส่งผลกระทบต่อไทยเป็นอย่างมาก เราจึงควรต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด และคงจะต้องรีบเตรียมรับมือ หากวิกฤตรลุกลามบานปลาย

 

ปัญหาอู่ตะเภา

ปัญหาอู่ตะเภา
 
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 28 มิถุนายน 2555
 

เรื่องปัญหาอู่ตะเภากำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

อเมริกาจะเข้ามาอู่ตะเภาทำไม ก่อนจะตอบ เราก็ต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐ ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐ คือต้องเท้าความว่า อเมริกาครองความเป็นเจ้ามานาน แต่พอหลังๆ จีนเริ่มผงาดขึ้นมา และกำลังจะกลายเป็นคู่แข่ง เพราะฉะนั้น อเมริกาก็ปรับยุทธศาสตร์ทางทหารใหม่  โดยจะกลับมามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทที่จะมาสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ถ้าเราติดตามความเคลื่อนไหวของอเมริกา เราจะเห็นชัดเจนเลยว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ อเมริกามาในเชิงรุก แหย่จีนในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่ย์ ซ้อมรบที่ทะเลเหลือง ตีสนิทกับอาเซียน เอาเรือรบมาจอดเทียบท่าที่เวียดนาม กระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ก็เป็นท่าเรือใหญ่สำหรับเรือรบสหรัฐ กับไทยก็ซ้อมรบกันมานาน สองปีที่ผ่านมา โอบามาเยือนอินโดนีเซีย 2 ครั้ง ตอนนี้ก็กำลังจีบอินโดนีเซียอยู่ จีบอินเดียอยู่ และประกาศไปเมื่อปีที่แล้วว่า จะส่งทหารไปประจำการที่เมือง Darwin ทางเหนือของออสเตรเลีย

นี่คือภาพทั้งหมดที่อเมริกากำลังทำอยู่ เห็นชัดว่า อเมริกาต้องการเพิ่มบทบาทในภูมิภาค ถามว่าเพราะอะไร  อเมริกามีวาระซ้อนเร้นอยู่ เพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร เพื่อที่จะสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน นี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเพิ่งมาประชุมที่สิงคโปร์ประกาศชัดเจนว่า จะย้ายทหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพเรือ แต่ก่อน จะแบ่งเป็น 50/50 ระหว่างแอตแลนติกกับแปซิฟิก แต่ภายในปี 2020 จะกลายเป็นแปซิฟิก 60 % แอตแลนติก 40 % ปีที่แล้ว โอบามาประกาศชัดเจนว่า เอเชียตอนนี้สำคัญที่สุดในด้านนโยบายทางทหาร

เพราะฉะนั้น จากบริบทตรงนี้ ก็ไม่แปลกเลย ที่อเมริกาจะมาตีสนิทกับไทยมากขึ้น จะมาเพิ่มบทบาททางทหาร มาร่วมมือทางทหารกับไทยมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ทีนี้ ถ้าดูแบบนี้แล้ว การที่อเมริกาจะมาร่วมมือกับไทยในการใช้อู่ตะเภา การที่อเมริกาจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในเรื่องภัยพิบัติ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเด็นคือว่า มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรมล้วนๆ หรือเรื่องภัยพิบัติล้วนๆ หรือจะมีมิติทางด้านการทหารแอบแฝงอยู่ ซึ่งอันนี้ก็น่าคิด แต่ถ้าจะให้ผมเดา ก็คงจะมีเรื่องมิติทางการทหารแอบแฝงอยู่

ทีนี้ NASA จะเข้ามา เขาก็บอกว่า จะเข้ามาสำรวจภูมิอากาศ แต่ก็มีบางคนว่า จะเกี่ยวกับทางการทหารหรือไม่ ก็สงสัยกันได้ แต่ก็ต้องไปดูกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ลึกๆเราก็คงไม่ทราบ แต่ว่าอาจจะพอคาดเดาได้ คือดูจากยุทธศาสตร์ใหญ่ของอเมริกา ที่กำลังมาทำโน่นทำนี่กับไทย คาดเดาได้ว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร

                ประเด็นต่อไปคือว่า แล้วไทยจะเอายังไง ในอดีต เราเป็นพันธมิตรทางทหารกับอเมริกามาตลอด ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ตั้งแต่ปี 1950 ตอนที่เราส่งทหารไปร่วมรบกับอเมริกาตอนสงครามเกาหลี เราเป็นสมาชิก SEATO เราร่วมรบกับอเมริกาในสงครามเวียดนาม เราเป็นพันธมิตรมายาวนานมาก จนการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของไทย ทำให้เราได้รับการยอมรับจากอเมริกา ในการที่เป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ที่เขาถือว่าเป็นพันธมิตรที่มีสนธิสัญญาทางการทหาร ญี่ปุ่นตอนนี้ก็สนิทกับอเมริกามาก ที่จะสกัดจีนเหมือนกัน เกาหลีก็แน่นอน ตอนนี้ก็มีฐานทัพอเมริกาอยู่ เช่นเดียวกันฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และไทย เราก็มีซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งเป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

                เพราะฉะนั้น จากบริบทตรงนี้ ไทยก็สนิทกับอเมริกามาตลอด แต่นโยบายของเราก็พยายามเดินสายกลาง เราพยายามจะสนิทกับจีนด้วย ความสัมพันธ์กับจีน เราก็มีความสัมพันธ์กับจีนยาวนานเหมือนกัน ยุทธศาสตร์ของไทยที่ผ่านมาคือ เราจะเอาทั้งสองประเทศ เราไม่ต้องการเลือกข้าง เราต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีน ทั้งกับสหรัฐ เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา เราพยายามจะสร้างดุลยภาพ เดินสายกลาง ซึ่งอเมริกาก็รู้ว่า เราตีสองหน้า แต่ตอนนี้ ประเด็นคือว่า หากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนดี ก็ไม่มีอะไร แต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ เริ่มมีแนวโน้มของความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น อเมริกาก็ต้องการที่จะมาบีบพันธมิตรให้เป็นพวกเขา อย่าไปเป็นพวกจีน ไทยก็ถูกบีบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จะมาเดินสายกลาง เดินอยู่บนเส้นด้าย ไม่ยอมเลือกข้าง ไม่ได้ ไทยบอกว่า อยากเป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งกับสหรัฐ แต่ไทยไม่เต็มที่กับสหรัฐ แล้วจะถือว่าไทยเป็นพันธมิตรประเภทไหนกัน ไทยก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ อเมริกาก็เริ่มไม่พอใจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ หลังๆ เขาก็เริ่มที่จะมีแนวโน้มที่จะลดความสำคัญของไทยลง แล้วหันไปให้ความสำคัญกับอินโดนีเซีย ไปตีสนิทกับเวียดนามและสิงคโปร์มากขึ้น เขามีตัวเลือกเยอะ เขาไม่จำเป็นที่จะต้องมาพึ่งไทย

                จากบริบทดังกล่าว ผมคิดว่า ฝ่ายข้าราชการประจำ ก็คงจะเห็นภาพว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังไงเราก็ต้องดีกับอเมริกา และในบริบทที่ผมได้กล่าวไปแล้ว คือแนวโน้มที่เขากำลังลดความสำคัญของไทยลง แล้วไปให้ความสำคัญกับอินโดนีเซีย เวียดนามและสิงคโปร์มากขึ้น เรากำลังจะตกชั้นจากพันธมิตรชั้นหนึ่ง อันนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ข้าราชการประจำรู้อยู่ลึกๆ แต่สาธารณชนอาจไม่รู้ ดังนั้น การที่จะไปเสนอให้อเมริกามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการภัยพิบัติ เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เป็นเรื่องความร่วมมือระหว่างทหารไทยกับทหารสหรัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทหารไทยกับทหารสหรัฐก็ร่วมมือกันอยู่แล้ว เราก็มีซ้อมรบกันทุกปีอยู่แล้ว ผมดูแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องที่หนักใจของไทยคือ ในขณะที่เราไปใกล้ชิดกับสหรัฐ แล้วจีนจะคิดอย่างไร ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา เราก็บอกว่า เราต้องการดีกับทั้งสองฝ่าย แต่หากเราจะหันไปร่วมมือกับสหรัฐ จีนก็อาจจะไม่พอใจ แต่ทางจีนก็ยังไม่ได้ประกาศอะไรออกมาว่า จีนไม่พอใจในเรื่องนี้ จีนก็น่าจะรู้ว่า การที่อเมริกาเข้ามาตรงนี้ก็เพื่อต้องการปิดล้อมจีน แต่ว่าการเข้ามาแบบนี้ไม่ได้เป็นการเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เรากังวลมากเกินไปหรือเปล่า

                แต่ที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะการเมืองภายใน ฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ก็หยิบเอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง มันคล้ายกับตอนที่ไทยมีปัญหากับกัมพูชาในเรื่องเขาพระวิหาร ตอนนั้นประชาธิปัตย์ และเสื้อเหลืองก็เอาตรงนี้มาเป็นประเด็นในการโจมตีรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย และก็ได้รับความสำเร็จพอสมควรทีเดียวในเกมส์นี้ ผมเลยมองว่า มันกลายเป็นเรื่องของเกมส์การเมืองภายใน ที่หยิบเอาประเด็นเรื่องการต่างประเทศมา เพื่อที่จะมาทำคะแนน โจมตีรัฐบาลซะมากกว่า แต่โดยจริงๆแล้ว เนื้อแท้ของเรื่องนี้ไม่น่าจะมีอะไร