ปัญหาอู่ตะเภา
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ วันที่ 28 มิถุนายน 2555
เรื่องปัญหาอู่ตะเภากำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้
อเมริกาจะเข้ามาอู่ตะเภาทำไม
ก่อนจะตอบ เราก็ต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐ ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐ
คือต้องเท้าความว่า อเมริกาครองความเป็นเจ้ามานาน แต่พอหลังๆ จีนเริ่มผงาดขึ้นมา
และกำลังจะกลายเป็นคู่แข่ง เพราะฉะนั้น อเมริกาก็ปรับยุทธศาสตร์ทางทหารใหม่ โดยจะกลับมามีบทบาทมากขึ้น
โดยเฉพาะบทบาทที่จะมาสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
ถ้าเราติดตามความเคลื่อนไหวของอเมริกา เราจะเห็นชัดเจนเลยว่า
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ อเมริกามาในเชิงรุก แหย่จีนในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่ย์
ซ้อมรบที่ทะเลเหลือง ตีสนิทกับอาเซียน เอาเรือรบมาจอดเทียบท่าที่เวียดนาม
กระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ก็เป็นท่าเรือใหญ่สำหรับเรือรบสหรัฐ
กับไทยก็ซ้อมรบกันมานาน สองปีที่ผ่านมา โอบามาเยือนอินโดนีเซีย 2 ครั้ง ตอนนี้ก็กำลังจีบอินโดนีเซียอยู่
จีบอินเดียอยู่ และประกาศไปเมื่อปีที่แล้วว่า จะส่งทหารไปประจำการที่เมือง
Darwin ทางเหนือของออสเตรเลีย
นี่คือภาพทั้งหมดที่อเมริกากำลังทำอยู่
เห็นชัดว่า อเมริกาต้องการเพิ่มบทบาทในภูมิภาค ถามว่าเพราะอะไร อเมริกามีวาระซ้อนเร้นอยู่
เพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร เพื่อที่จะสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
นี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเพิ่งมาประชุมที่สิงคโปร์ประกาศชัดเจนว่า
จะย้ายทหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพเรือ แต่ก่อน
จะแบ่งเป็น 50/50 ระหว่างแอตแลนติกกับแปซิฟิก
แต่ภายในปี 2020 จะกลายเป็นแปซิฟิก 60 % แอตแลนติก 40 % ปีที่แล้ว โอบามาประกาศชัดเจนว่า
เอเชียตอนนี้สำคัญที่สุดในด้านนโยบายทางทหาร
เพราะฉะนั้น
จากบริบทตรงนี้ ก็ไม่แปลกเลย ที่อเมริกาจะมาตีสนิทกับไทยมากขึ้น จะมาเพิ่มบทบาททางทหาร
มาร่วมมือทางทหารกับไทยมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ทีนี้
ถ้าดูแบบนี้แล้ว การที่อเมริกาจะมาร่วมมือกับไทยในการใช้อู่ตะเภา
การที่อเมริกาจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในเรื่องภัยพิบัติ
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเด็นคือว่า มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรมล้วนๆ
หรือเรื่องภัยพิบัติล้วนๆ หรือจะมีมิติทางด้านการทหารแอบแฝงอยู่
ซึ่งอันนี้ก็น่าคิด แต่ถ้าจะให้ผมเดา ก็คงจะมีเรื่องมิติทางการทหารแอบแฝงอยู่
ทีนี้
NASA จะเข้ามา เขาก็บอกว่า จะเข้ามาสำรวจภูมิอากาศ
แต่ก็มีบางคนว่า จะเกี่ยวกับทางการทหารหรือไม่ ก็สงสัยกันได้ แต่ก็ต้องไปดูกันว่า
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ลึกๆเราก็คงไม่ทราบ แต่ว่าอาจจะพอคาดเดาได้
คือดูจากยุทธศาสตร์ใหญ่ของอเมริกา ที่กำลังมาทำโน่นทำนี่กับไทย คาดเดาได้ว่า
อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร
ประเด็นต่อไปคือว่า
แล้วไทยจะเอายังไง ในอดีต เราเป็นพันธมิตรทางทหารกับอเมริกามาตลอด ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น
ตั้งแต่ปี 1950
ตอนที่เราส่งทหารไปร่วมรบกับอเมริกาตอนสงครามเกาหลี เราเป็นสมาชิก SEATO เราร่วมรบกับอเมริกาในสงครามเวียดนาม เราเป็นพันธมิตรมายาวนานมาก
จนการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของไทย ทำให้เราได้รับการยอมรับจากอเมริกา ในการที่เป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งในภูมิภาค
ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
ที่เขาถือว่าเป็นพันธมิตรที่มีสนธิสัญญาทางการทหาร
ญี่ปุ่นตอนนี้ก็สนิทกับอเมริกามาก ที่จะสกัดจีนเหมือนกัน เกาหลีก็แน่นอน ตอนนี้ก็มีฐานทัพอเมริกาอยู่
เช่นเดียวกันฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และไทย เราก็มีซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งเป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
เพราะฉะนั้น
จากบริบทตรงนี้ ไทยก็สนิทกับอเมริกามาตลอด แต่นโยบายของเราก็พยายามเดินสายกลาง เราพยายามจะสนิทกับจีนด้วย
ความสัมพันธ์กับจีน เราก็มีความสัมพันธ์กับจีนยาวนานเหมือนกัน
ยุทธศาสตร์ของไทยที่ผ่านมาคือ เราจะเอาทั้งสองประเทศ เราไม่ต้องการเลือกข้าง
เราต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีน ทั้งกับสหรัฐ เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา
เราพยายามจะสร้างดุลยภาพ เดินสายกลาง ซึ่งอเมริกาก็รู้ว่า เรา “ตีสองหน้า” แต่ตอนนี้ ประเด็นคือว่า
หากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนดี ก็ไม่มีอะไร
แต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ เริ่มมีแนวโน้มของความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น อเมริกาก็ต้องการที่จะมาบีบพันธมิตรให้เป็นพวกเขา อย่าไปเป็นพวกจีน
ไทยก็ถูกบีบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จะมาเดินสายกลาง เดินอยู่บนเส้นด้าย
ไม่ยอมเลือกข้าง ไม่ได้ ไทยบอกว่า อยากเป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งกับสหรัฐ แต่ไทยไม่เต็มที่กับสหรัฐ
แล้วจะถือว่าไทยเป็นพันธมิตรประเภทไหนกัน ไทยก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
อเมริกาก็เริ่มไม่พอใจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ หลังๆ เขาก็เริ่มที่จะมีแนวโน้มที่จะลดความสำคัญของไทยลง
แล้วหันไปให้ความสำคัญกับอินโดนีเซีย ไปตีสนิทกับเวียดนามและสิงคโปร์มากขึ้น
เขามีตัวเลือกเยอะ เขาไม่จำเป็นที่จะต้องมาพึ่งไทย
จากบริบทดังกล่าว ผมคิดว่า ฝ่ายข้าราชการประจำ ก็คงจะเห็นภาพว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง
ยังไงเราก็ต้องดีกับอเมริกา และในบริบทที่ผมได้กล่าวไปแล้ว คือแนวโน้มที่เขากำลังลดความสำคัญของไทยลง
แล้วไปให้ความสำคัญกับอินโดนีเซีย เวียดนามและสิงคโปร์มากขึ้น เรากำลังจะตกชั้นจากพันธมิตรชั้นหนึ่ง
อันนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ข้าราชการประจำรู้อยู่ลึกๆ แต่สาธารณชนอาจไม่รู้ ดังนั้น
การที่จะไปเสนอให้อเมริกามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการภัยพิบัติ
เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เป็นเรื่องความร่วมมือระหว่างทหารไทยกับทหารสหรัฐ
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทหารไทยกับทหารสหรัฐก็ร่วมมือกันอยู่แล้ว เราก็มีซ้อมรบกันทุกปีอยู่แล้ว
ผมดูแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องที่หนักใจของไทยคือ
ในขณะที่เราไปใกล้ชิดกับสหรัฐ แล้วจีนจะคิดอย่างไร ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา
เราก็บอกว่า เราต้องการดีกับทั้งสองฝ่าย แต่หากเราจะหันไปร่วมมือกับสหรัฐ จีนก็อาจจะไม่พอใจ
แต่ทางจีนก็ยังไม่ได้ประกาศอะไรออกมาว่า จีนไม่พอใจในเรื่องนี้ จีนก็น่าจะรู้ว่า
การที่อเมริกาเข้ามาตรงนี้ก็เพื่อต้องการปิดล้อมจีน
แต่ว่าการเข้ามาแบบนี้ไม่ได้เป็นการเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เรากังวลมากเกินไปหรือเปล่า
แต่ที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้
ก็เพราะการเมืองภายใน ฝ่ายค้าน
ประชาธิปัตย์ก็หยิบเอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง
มันคล้ายกับตอนที่ไทยมีปัญหากับกัมพูชาในเรื่องเขาพระวิหาร ตอนนั้นประชาธิปัตย์
และเสื้อเหลืองก็เอาตรงนี้มาเป็นประเด็นในการโจมตีรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย และก็ได้รับความสำเร็จพอสมควรทีเดียวในเกมส์นี้
ผมเลยมองว่า มันกลายเป็นเรื่องของเกมส์การเมืองภายใน ที่หยิบเอาประเด็นเรื่องการต่างประเทศมา
เพื่อที่จะมาทำคะแนน โจมตีรัฐบาลซะมากกว่า แต่โดยจริงๆแล้ว เนื้อแท้ของเรื่องนี้ไม่น่าจะมีอะไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น