ตีพิมพ์ในสยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์
ผลการประชุมสุดยอด G 8 ที่ Hokkaido
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G 8 ครั้งล่าสุดที่ Hokkaido คอลัมน์โลกทรรศน์วันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
เศรษฐกิจโลก
เรื่องแรกที่ G 8 ให้ความสำคัญคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลด โดยเน้นเรื่องปัญหาวิกฤตราคาน้ำมัน วิกฤตราคาอาหาร แนวโน้มภาวะเงินเฟ้อ เสถียรภาพของตลาดการเงิน และแนวโน้มนโยบายปกป้องทางการค้า
สำหรับเรื่องระบบการเงินโลกนั้น G 8 ให้ความสำคัญกับบทบาทของ IMF และแสดงความยินดีที่ได้มีความคืบหน้าในการปฏิรูป IMF แต่ผมมองว่า ท่าทีของ G 8 ยังคงเป็นท่าทีเดิมๆ ที่เป็นท่าทีของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งเน้นบทบาทของ IMF ในขณะที่โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และบทบาทของ IMF กำลังลดลงเรื่อย ๆ
เรื่องต่อมาที่ G 8 ให้ความสำคัญคือ การเจรจา WTO รอบ Doha ซึ่งเอกสารผลการประชุมเน้นว่า G 8 ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะผลักดันให้การเจรจารอบ Doha ประสบความสำเร็จ ซึ่งประเด็นนี้ ผมมองว่า G 8 ได้แต่แสดงจุดยืนกว้าง ๆ และคงไม่มีผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพราะ การเจรจารอบ Doha นั้น เราเห็นได้ชัดว่ากำลังจะล่ม
อีกเรื่องหนึ่ง ที่ G 8 ให้ความสำคัญคือ วิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่ง G 8 เน้นที่จะปรับสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ โดยพยายามที่จะให้มีการหารือกันระหว่างประเทศผู้ผลิต และประเทศผู้บริโภค สำหรับในด้านอุปทานหรือด้าน supply นั้น G 8 เน้นความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ส่วนในด้านอุปสงค์หรือ demand นั้น G 8 เน้นความสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ
ภาวะโลกร้อน
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจโลกแล้ว ในการประชุม G 8 ครั้งนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพพยายามผลักดันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลการประชุมถือว่า มีความคืบหน้าบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในแง่ท่าทีของสหรัฐฯที่ดูอ่อนลง จากในอดีตซึ่งสหรัฐฯจะไม่ยอมที่จะกำหนดเป็นตัวเลขในเรื่องของการลดก๊าซเรื่อนกระจก แต่ในระยะหลังๆ สหรัฐฯดูมีท่าทีอ่อนลง
ในการประชุมครั้งนี้ G 8 กำลัง “พิจารณา” ถึงเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2050 แต่ keyword คือ แค่กำลัง “พิจารณา” ยังไม่ได้ตกลง ซึ่งยังคงเป็นท่าทีของสหรัฐฯที่ยังไม่ยอมผูกมัดตัวเองกับเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยที่ประชุม G 8 ได้ตอกย้ำว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมจากประเทศสำคัญ ๆ ทุกประเทศ ซึ่งถึงแม้ในเอกสารผลการประชุมจะไม่ได้ระบุ แต่เราก็รู้ว่า สหรัฐฯหมายถึง จีน และอินเดีย โดยสหรัฐฯพยายามผลักดันให้ทั้ง 2 ประเทศมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ดูเหมือนเป็นการขัดกันในตัวเอง เพราะผลการประชุม G 8 ในเรื่องนี้คงจะไม่มีความหมาย ทั้งนี้เพราะ G 8 ไม่มี อินเดีย และจีน รวมอยู่ด้วย
G 8 ยังได้กล่าวถึง กฎเกณฑ์ในเรื่องการจัดการภาวะโลกร้อนในยุคหลังพิธีศาลเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2012 ขณะนี้ กำลังมีการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่หลังปี 2012 G 8 ได้กล่าวว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทุกประเทศ จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนในการรับผิดชอบในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งควรจะเจรจาให้เสร็จในปี 2009
การให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน
ทุกครั้งที่มีการประชุมสุดยอด G 8 ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มประเทศร่ำรวย 8 ประเทศ กลุ่มประเทศร่ำรวยเหล่านี้ ก็จะพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า ตนมีความเมตตาที่จะช่วยเหลือประเทศยากจน
ในการประชุมครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับทุกครั้ง ได้มีการพูดที่สวยหรูว่า G 8 จะช่วยเหลือประเทศยากจนให้บรรลุเป้าหมาย Millennium Development Goals หรือ MDG ซึ่งเป็นเป้าหมายของสหประชาชาติซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งจะแก้ไขปัญหาความยากจนในด้านต่าง ๆ แต่ผมมองเรื่องนี้ว่า ประเทศร่ำรวยคงไม่มีความจริงใจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ผมจำได้ดีว่า ในตอนประชุมสุดยอดของสหประชาชาติเมื่อปี 2005 สหรัฐฯเป็นประเทศที่คัดค้านเต็มที่ ที่จะให้มีการใส่เป้าหมาย MDG ในเอกสารผลการประชุม
สำหรับเรื่องที่กำลังเป็นเรื่องร้อนอยู่ในขณะนี้คือ เรื่องวิกฤตราคาอาหารโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนเป็นอย่างมาก G 8 ก็ตามเคย ออกมาพูดอย่างสวยหรูว่า จะผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ โดยบอกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ปีนี้ กลุ่ม G 8 ได้ลงขันเงินช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ
โดย G 8 ได้คุยอ้างว่า ได้มีการหารือถึงมาตรการทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน โดยเฉพาะผู้ที่ขาดแคลนอาหาร พัฒนาระบบการค้าและตลาดโลกในด้านเกษตรและอาหาร ส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารมากขึ้น และให้มีการเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร
นอกจากนี้ G 8 ยังบอกว่า จะต้องส่งเสริมให้มีเงินให้ความช่วยเหลือและการลงทุนในสาขาเกษตรในประเทศยากจนมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่า จะผลักดันให้มีการเพิ่มขึ้นของผลผลิตด้านเกษตรอีกเท่าตัว โดยเฉพาะในประเทศในทวีปแอฟริกา ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า รากเหง้าของปัญหาวิกฤตอาหารโลก ที่สำคัญเรื่องหนึ่ง ที่ G 8 ละเลยไม่ยอมพูดถึง ซึ่งถ้าพูดก็จะเข้าตัวเอง นั่นคือ นโยบายปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศร่ำรวยทั้งหลาย ในประเทศร่ำรวยได้มีการบิดเบือนกลไกตลาดเป็นอย่างมาก มีการให้เงินอุดหนุน (subsidy) มีมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทำให้การค้าสินค้าเกษตรไม่ได้เป็นไปโดยเสรี ถึงแม้ว่าในการเจรจา WTO รอบ Doha จะได้มีความพยายามเจรจาในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะประเทศร่ำรวยไม่ยอมเปิดเสรีสินค้าเกษตรของตน
ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ
สำหรับในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ก็มี 2-3 เรื่องที่เป็นเรื่องร้อน เรื่องแรกคือ ปัญหาเกาหลีเหนือ G 8 ตอกย้ำท่าทีของสหรัฐฯที่ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และกระตุ้นให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยสนับสนุนให้มีการเจรจา 6 ฝ่ายต่อไป แต่ผมมองว่า สิ่งที่ G 8 ประกาศ ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว คือเป็นการประกาศกว้างๆ ใช้คำพูดสวยหรู แต่คงไม่มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งในกรณีเกาหลีเหนือนั้น เป้าหมายของ G 8 ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนทั้งหมด
เช่นเดียวกับในกรณีอิหร่าน ซึ่ง G 8 ก็ตอกย้ำท่าทีของสหรัฐฯ โดยแสดงความห่วงใยต่อความล้มเหลวของอิหร่าน ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยุติการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ แต่ผมมองว่า ในที่สุดแล้ว ก็คงเหมือนในกรณีของเกาหลีเหนือ คือ อิหร่านก็คงไม่มีทางยอมที่จะยุติโครงการนิวเคลียร์ของตนได้ง่ายๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่ G 8 ให้ความสำคัญคือเรื่องพม่า ซึ่ง G 8 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ สำหรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่จะเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากพายุ Nagis นอกจากนี้ G 8 ยังแสดงความห่วงใยต่อปัญหาการเมืองภายในของพม่า โดยเรียกร้องให้พม่าเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และเรียกร้องให้พม่าปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมทั้ง นางอองซาน ซูจี
ประเมินผลการประชุม
· กล่าวโดยสรุป ผลการประชุมดูแล้ว ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมาย แต่ก็
ไม่ถึงกับล้มเหลว เรื่องสำคัญที่เป็นตัวชูโรงคือ เรื่องมาตรการวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน เรื่องภาวะโลกร้อน เรื่องวิกฤตการณ์อาหารโลก เป็นต้น
· อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการประชุมจะมีการใช้ภาษาที่สวยหรู ตั้งเป้าหมายที่ดูดี แต่
โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ไม่มีมาตรการและแผนการรองรับที่เป็นรูปธรรม การประชุมจึงเป็นลักษณะการ PR เสียมากกว่า โดยพยายามทำให้ชาวโลกรู้สึกว่า ประเทศร่ำรวยยังเอาจริงเอาจังที่จะแก้ไขปัญหาของโลก
· แต่ผลการประชุม G 8 กำลังมีความสำคัญน้อยลงทุกที ทั้งนี้เพราะกลุ่ม G 8 ไม่ได้
สะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจโลกในปัจจุบัน มีประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G 8 โดยเฉพาะจีน และอินเดีย จึงทำให้ G 8 ขาดความชอบธรรมในการเป็นกลุ่มประเทศผู้นำของโลก
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ
แสดงความคิดเห็น