วิกฤติอินเดีย-ปากีสถาน
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 19-วันพฤหัสที่ 25 ธันวาคม 2551
การก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่มุมไบเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน แต่ผลกระทบเรื่องใหญ่ที่ตามมาก็คือ อันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งหลังจากการก่อการร้ายที่มุมไบ ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานก็เข้าขั้นวิกฤติ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงที่มาของวิกฤติดังกล่าว โดยจะวิเคราะห์ถึงบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายที่น่าจะเป็นตัวการการก่อวินาศกรรมที่มุมไบ และผลกระทบที่ตามมา ต่อความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถาน
กลุ่มก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba (LeT)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มุมไบ ในตอนแรก ยังไม่มีความแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของใคร ตอนแรก กลุ่ม Deccan Mujahideen ได้ออกมารับผิดชอบ แต่ต่อมา ก็มีความเข้าใจว่าเป็นกลุ่มเดียวกับ Indian Mujahideen ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมในอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการจับกุมผู้ก่อการร้ายได้ ซึ่งเป็นชาวปากีสถาน และหลังจากได้มีการสืบสวนสอบสวน หลักฐานต่างๆได้ชี้ไปว่า คงไม่ใช่ฝีมือจากกลุ่ม Indian Mujahideen แต่น่าจะเป็นฝีมือจากกลุ่มก่อการร้ายชาวปากีสถานที่อันตรายที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า Lashkar-e-Taiba หรือเรียกย่อว่า LeT
ถึงแม้กลุ่ม LeT จะได้เคยมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตแคชเมียร์ แต่กลุ่มดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นองค์กรของชาวแคชเมียร์ แต่สมาชิกประกอบด้วยชาวปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแคว้นปัญจาบ โดยทางอินเดียได้กล่าวหาว่ากลุ่ม LeT ได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและอาวุธ รวมทั้งการฝึกฝน จากหน่วยงานข่าวกรองของรัฐบาลปากีสถาน ซึ่งมีชื่อหน่วยงานว่า Inter-Service Intelligence (ISI)
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มก่อการร้าย LeT ก็ไม่ได้เกี่ยวกับแคชเมียร์โดยตรง แต่กลับมีอุดมการณ์คล้ายกับกลุ่ม al-Qeada คือ การมีแนวคิดมุสลิมหัวรุนแรง และต้องการที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น โดยเฉพาะที่อินเดีย
ดังนั้น ในช่วงที่อินเดียค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ ในการมีสันติภาพ ความมั่งคั่ง รวมทั้งพัฒนาการประชาธิปไตย ที่มีการแยกศาสนาออกจากการเมือง และมีระบบการเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ พัฒนาการเหล่านี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของกลุ่ม LeT ที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในอินเดีย
นอกจากนี้ ในระยะหลังๆ การที่อินเดียร่วมมือกับสหรัฐและตะวันตก ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้ LeT ถึงกับประกาศว่า อินเดียเป็นหนึ่งใน “อักษะระหว่างสหรัฐ ยิว และฮินดู” ที่จะต้องได้รับการต่อต้านด้วยการใช้กำลัง
ด้วยอุดมการณ์ดังกล่าว การโจมตีของ LeT ในเมืองมุมไบ จึงน่าจะเป็นความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจอินเดียถดถอย ทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเมืองและสังคมเปิดของอินเดีย และก่อให้เกิดความแตกแยกกันทางเชื้อชาติศาสนา
อาจจะกล่าวได้ว่า รองจาก al-Qeada แล้ว LeT ถือได้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียใต้ที่สำคัญที่สุด และมีเครือข่ายทั่วโลกเหมือน al-Qeada โดยขอบข่ายการดำเนินการ การหาแหล่งเงิน และการหาสมาชิกนั้น ครอบคลุมประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน อิรัก เอเชียกลาง ยุโรป แอฟริกา และออสเตรเลีย
วิกฤติอินเดีย-ปากีสถาน
ดังนั้น หลังจาก LeT ได้ก่อวินาศกรรมในเมืองมุมไบ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่หลังจากเหตุการณ์มุมไบ ความสัมพันธ์ก็เข้าขั้นวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติคือ การที่อินเดียเชื่อว่า การก่อการร้ายที่มุมไบเป็นฝีมือของ LeT ซึ่งมีรัฐบาลปากีสถานรู้เห็นเป็นใจ และอาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศทำให้อภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ก็อยู่เฉยไม่ได้ ถึงขั้น Condoleezza Rice ต้องรีบเดินทางไปเจรจาห้ามศึก เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม
ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานครั้งใหม่ อาจนำไปสู่สงคราม ซึ่งในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มีการรบกันถึง 4 ครั้ง
รัฐบาล Bush จึงได้พยายามกดดันให้รัฐบาลปากีสถาน จัดการกับกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ รัฐบาลปากีสถานก็ตอบสนองต่อแรงกดดันจากสหรัฐ ด้วยการกวาดจับผู้ก่อการร้ายได้หลายคน ในจำนวนผู้ก่อการร้ายที่กวาดจับได้ครั้งล่าสุดนั้นมี Zaki-ur-Rehman Lakhvi ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่ม LeT รวมอยู่ด้วย ซึ่งทางตำรวจอินเดียระบุว่าเป็นคนวางแผนก่อวินาศกรรมที่มุมไบ
ทางฝ่ายอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานมีความจริงใจที่จะไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ในอดีตอินเดียมองว่า รัฐบาลปากีสถานได้ใช้กลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งกลุ่ม LeT ต่อสู้กับอินเดียในลักษณะสงครามตัวแทน โดยกลุ่มเหล่านี้ มักจะชูเรื่องความขัดแย้งแคชเมียร์เป็นประเด็นหลัก รัฐบาลปากีสถานมักจะอ้างมาตลอดว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะยุติขบวนการก่อการร้ายคือ การแก้ปัญหาแคชเมียร์
ทางฝ่ายอินเดียได้เรียกร้องให้ทางปากีสถานส่งตัวผู้ก่อการร้ายที่จับได้ประมาณ 20 คนให้กับอินเดีย แต่ทางฝ่ายปากีสถานก็ปฏิเสธ
นอกจากนี้ ตำรวจอินเดียยังได้กล่าวหาว่า กลุ่ม LeT ได้ฝึกฝนผู้ก่อการร้ายประมาณ 30 คนมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ในแหล่งซ่องสุม 3-4 แห่งในปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ในการก่อวินาศกรรมที่มุมไบนั้น เป็นการปฏิบัติการโดยกลุ่ม LeT จำนวน 10 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวปากีสถานและถูกทางอินเดียสังหารไป 9 คน อย่างไรก็ตาม ทางปากีสถาน ก็ยังคงยืนยันและปฏิเสธว่า กลุ่มก่อการร้ายที่มุมไบนั้น ไม่ใช่ชาวปากีสถาน
สถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ จึงนำไปสู่ความตึงเครียด ถึงขั้นที่มีชาวอินเดียเสนอให้รัฐบาลใช้กำลังทหารโจมตีปากีสถาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดีย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคือ Manmohan Singh ยังแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามกับปากีสถาน
สำหรับทางฝ่ายปากีสถานนั้น ประธานาธิบดีปากีสถานคือ Asif Ali Zardari ก็ได้สั่งการให้กองทัพปากีสถานเตรียมพร้อม หลังจากได้รับสัญญาณ โดยเฉพาะคำขู่จากรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย คือ นาย Pranab Mukherjee
นอกจากนี้ ความตึงเครียดล่าสุด ก็กำลังจะเปิดแผลเก่าคือ ความขัดแย้งแคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งแคชเมียร์นั้น มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 ทั้งสองประเทศได้เปิดสงครามรบกันมาแล้วหลายครั้งเพื่อแย่งชิงแคชเมียร์ เมื่อตอนปลายปี 2001 ได้มีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีรัฐสภาของอินเดีย ซึ่งในตอนนั้น อินเดียก็กล่าวหากลุ่ม LeT ว่าอยู่เบื้องหลัง และเกือบจะทำให้ทั้งสองประเทศเข้าสู่สงครามอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ได้มีความพยายามในการเจรจาหยุดยิง และสันติภาพก็ดูว่าจะเกิดขึ้นในแคชเมียร์ อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายที่มุมไบ และความตึงเครียดอินเดีย-ปากีสถานครั้งล่าสุด ก็ทำให้หลายฝ่ายกลัวว่า ความขัดแย้งแคชเมียร์กำลังจะปะทุขึ้นอีก
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากครับ
แสดงความคิดเห็น