Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

มุมไบ: การก่อการร้ายระลอกใหม่

มุมไบ: การก่อการร้ายระลอกใหม่
ไทยโพสต์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4419 วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2551

เหตุการณ์การก่อการร้าย

เมื่อช่วงประมาณวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอินเดีย ที่เมืองมุมไบ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยกลุ่มก่อการร้ายได้เข้าโจมตีโรงแรมชื่อดัง 2 แห่ง รวมทั้งภัตตาคาร สถานีรถไฟ และโรงพยาบาลในช่วงเวลาพร้อมๆกัน มีผู้คนเสียชีวิตไปเกือบ 200 คน

เหตุการณ์การก่อการร้ายได้เริ่มขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยกลุ่มก่อการร้ายได้บุกเข้ากราดยิง และขว้างระเบิด เข้าใส่ผู้คนที่สถานีรถไฟในเมืองมุมไบ และในเวลาเดียวกัน ได้มีระเบิดใกล้กับสนามบินของเมืองมุมไบ นอกจากนี้ ยังมีการบุกเข้าไปในโรงแรมหรูชื่อดังของมุมไบ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก โรงแรมหนึ่งชื่อ Taj Mahal และอีกโรงแรมหนึ่งชื่อ Trident Oberoi โดยเฉพาะโรงแรม Taj Mahal นั้น ถือได้ว่าเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงที่สุดโรงแรมหนึ่งของอินเดีย

ในอดีตนั้น เมืองมุมไบเคยถูกก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุด โดยเมื่อปี 2003 มีคนเสียชีวิตไป 50 คนจากระเบิดนอกโรงแรม Taj Mahal และในปี 2006 มีคนเสียชีวิตไปอีก 180 คน จากระเบิดที่สถานีรถไฟ 7 แห่ง แต่การก่อวินาศกรรมครั้งล่าสุด ถือว่ารุนแรงที่สุด และถือว่าเป็นระลอกใหม่ของการก่อการร้ายสากล ที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนกับว่าทำท่าจะเพลาลง

กลุ่มก่อการร้าย

หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การก่อการร้ายครั้งนี้ เป็นฝีมือของใคร ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจน มีอยู่หลายทฤษฎี

ทฤษฎีแรก มุ่งเป้าไปที่กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดียเอง โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ ก็ได้มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Deccan Mujahideen ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่หลายคนก็สงสัยว่า อาจจะไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีการก่อวินาศกรรมในอินเดียหลายครั้ง ในกรุง New Delhi, Bangalore และ Jaipur โดยกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมในอินเดีย ที่มีชื่อว่า Indian Mujahideen ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญ กลุ่ม Indian Mujahideen นี้ เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดีย ซึ่งวิวัฒนาการมาจากกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์ โดยกลุ่มนี้ต้องการที่จะปลุกระดมคนมุสลิมในอินเดีย ซึ่งมีจำนวน 150 ล้านคน ให้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับชาวฮินดู

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่ 2 ที่มุ่งเป้าไปที่ปากีสถาน ดูมีน้ำหนักมากกว่า โดยนายกรัฐมนตรีของอินเดีย คือ Manmohan Singh ได้กล่าวว่า การโจมตีนั้น เป็นการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายภายนอกประเทศ ต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียคือ Pranab Mukherjee ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว เชื่อมโยงกับปากีสถาน โดยล่าสุด ทางตำรวจได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่ง และจากการสอบสวนได้มีรายงานข่าวว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นชาวปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ผู้นำปากีสถานก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า ปากีสถานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ต่อมา ได้มีการระบุถึงกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นตัวการสำคัญ ซึ่งกลุ่มที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือ กลุ่ม Lashkar-e-Toiba ซึ่งมีฐานอยู่ใกล้เมือง Lahore ในปากีสถาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับไล่อินเดียออกจากแคชเมียร์ และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นทั่วอินเดีย กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับ Taliban และ al-Qeada ทางรัฐบาลอินเดียได้กล่าวหา Lashkar และปากีสถานว่า อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในเขตแคชเมียร์ และเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในอินเดีย

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีรายงานข่าวถึงความเคลื่อนไหวของ Lashkar ว่า ได้ย้ายฐานที่ตั้งจากในเขตแคชเมียร์ของปากีสถาน เข้าไปอยู่ในเขตเดียวกับ Taliban และ al-Qeada ในแนวพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน Lashkar ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการเข้าไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน เพื่อโจมตีกองกำลังสหรัฐด้วย และ Lashkar ก็ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวางแผนของ al-Qeada

Ayman al-Zawahiri ผู้นำ al-Qeada อันดับ 2 รองจาก Bin laden ได้เคยประกาศกร้าวว่า เป้าหมายของ al-Qeada คือ การทำลายกระบวนการสันติภาพระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และต้องการที่จะปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ al-Qeada นั้น ได้เคยขู่หลายครั้งที่จะโจมตีอินเดีย ในปี 2006 กลุ่มก่อการร้ายชาวอาหรับ สมาชิก al-Qeada ได้พยายามก่อวินาศกรรมเมือง Goa ทางตะวันตกของอินเดีย เป้าหมายการโจมตีของ al-Qeada ล่าสุดในอินเดีย คือ การโจมตีศูนย์กลางทางศาสนาของชาวยิวทางตอนใต้ของเมืองมุมไบ

ผลกระทบต่อโลก

การก่อการร้ายระลอกใหม่ที่เมืองมุมไบในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

· ประการที่ 1 หากทฤษฎีแรกเป็นจริง นั่นก็คือ แนวโน้มของการก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดีย ซึ่งมักจะหมายถึงกลุ่ม Indian Mujahideen ดังนั้น หากกลุ่มมุสลิมที่มีอยู่ในอินเดียถึง 150 ล้านคน ถ้าแนวคิดหัวรุนแรงเริ่มระบาด ก็จะก่อให้เกิดแนวรบของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ในอดีต อินเดียเคยภาคภูมิใจว่า ชาวมุสลิมในอินเดียไม่มีกลุ่มหัวรุนแรง ถึงขั้นประธานาธิบดี Bush เคยกล่าวชมนายกรัฐมนตรีอินเดียในตอนพบปะหารือกันเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่า “อินเดียถึงแม้จะมีชาวมุสลิมถึง 150 ล้านคน แต่ก็ไม่ได้เป็นสมาชิก al-Qeada เลยแม้แต่คนเดียว”

ชาวมุสลิมในอินเดียอยู่ในสถานะหมิ่นเหม่ที่จะถูกปลุกปั่นให้มีแนวคิดหัวรุนแรงได้ง่าย ทั้งนี้ เพราะความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมที่ฝังรากลึกมานาน และยังมีปัญหาแคชเมียร์ที่สร้างความแตกแยกให้กับคนทั้งสองศาสนา ในอินเดียนั้น ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การงาน และรายได้ เมื่อเทียบกับชาวฮินดู

· ผลกระทบประการที่ 2 เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กำลังมีกระบวนการสันติภาพ และความขัดแย้งกำลังลดลง แต่จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มุมไบ ทำให้อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศอีกครั้งหนึ่ง

· ผลกระทบประการสุดท้ายจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในครั้งนี้ คือ ผลกระทบต่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่า กำลังประสบความสำเร็จ และดูเหมือนกับว่า การก่อการร้ายกำลังลดลง แต่เหตุการณ์มุมไบ ถือเป็นจุดเปลี่ยนผันอีกครั้งหนึ่งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกับกลุ่ม al-Qeada ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่า al-Qeada กำลังสูญเสียบทบาทลง ดังนั้น หาก al-Qeada ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวมุสลิมในอินเดีย ให้เข้าร่วมกับขบวนการหัวรุนแรงมากขึ้น ก็คงจะเป็นฝันร้ายของประชาคมโลก ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคต

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ