Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การประชุมสุดยอด Obama – Medvedev

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2552

การประชุมสุดยอด Obama – Medvedev

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี Barack Obama ได้เดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นครั้งแรกและพบปะหารือกับประธานาธิบดี Medvedev ของรัสเซีย ผลการหารือชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มความสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซียที่กำลังจะดีขึ้น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ก่อนอื่น ผมอยากจะกล่าวถึงภูมิหลังความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซียในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสมัยของรัฐบาล Bush ซึ่งความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซีย เสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนถึงขั้น มีบางคนมองว่า การเมืองโลกจะกลับไปสู่สงครามเย็นภาค 2 หรือไม่

ในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด ซึ่งเป็นพวกสายเหยี่ยวได้มองรัสเซียในทางลบเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะการมองเป็นศัตรูและมีการเผชิญหน้าอย่างชัดเจน โดยมีปัญหาความขัดแย้งกันหลายเรื่อง

ในเรื่องระบบการเมือง รัฐบาล Bush มองว่า ระบบการเมืองของรัสเซียกำลังถอยหลังลงคลอง พัฒนาการประชาธิปไตยได้ถอยหลังลงไปอย่างมาก และมีความเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อย ๆ รองประธานาธิบดี Dick Cheney ในตอนนั้นได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัสเซียอย่างรุนแรงในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของระบอบประชาธิปไตยในรัสเซีย

สำหรับในด้านพลังงานรัฐบาล Bush ได้โจมตีรัสเซียว่า กำลังใช้การส่งออกพลังงานเป็นอาวุธในการ black mail ประเทศต่าง ๆ โดยจะเห็นการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติต่อยูเครน รวมทั้งยุโรปตะวันตก

นอกจากนั้น มีความขัดแย้งต่อแผนการของสหรัฐในจะสร้างระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธในยุโรป โดยสหรัฐมีแผนจะติดตั้งระบบที่โปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งอยู่ติดกับรัสเซีย ถึงแม้สหรัฐจะอ้างว่า ระบบดังกล่าวจะป้องกันการโจมตีจากอิหร่าน แต่รัสเซียก็ไม่เชื่อและคิดว่าสหรัฐมุ่งเป้ามาที่รัสเซีย

สำหรับรัสเซีย ก็มองว่าสหรัฐมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียและลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลของสหรัฐและตะวันตกเข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก คาบสุมทรบอลข่าน และเทือกเขาคอเคซัส รัสเซียไม่พอใจอย่างมากที่สหรัฐและตะวันตกผลักดันให้โคโซโวประกาศเอกราชจากเซอร์เบีย รวมทั้งการที่สหรัฐจะดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิก NATO

รัสเซียยังได้พยายามแข่งกับอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียกลางและในตะวันออกกลาง รัสเซียได้แสดงจุดยืนต่อต้านการบุกยึดครองอิรักของสหรัฐมาโดยตลอด และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ และรัสเซียยังได้ขายอาวุธให้แก่อิหร่านและซีเรีย และประกาศจะช่วยรัฐบาลทหารพม่าสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ด้วย

ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย คือ การที่รัสเซียทำสงครามบุกโจมตีจอร์เจีย ชัยชนะของรัสเซียในสงคราม เป็นการส่งสัญญานอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็น

มหาอำนาจทางทหารอีกครั้ง โดย Putin มีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะพลิกฟืนให้รัสเซียกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้งและสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่

การเยือนรัสเซียของ Obama

ต่อมาเมื่อ Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดี ก็ได้ประกาศนโยบายชัดเจนว่า ต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ หลังจากที่เสื่อมโทรมไปมากในสมัยรัฐบาล Bush และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Obama ก็ได้เดินทางไปรัสเซีย หลังจากได้หารือกับประธานาธิบดี Medvedev ก็ได้มีข้อตกลงกันหลายเรื่อง

เรื่องแรกที่ตกลงกัน คือ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์ลง โดยจะลดหัวรบนิวเคลียร์ลงให้เหลือ 1 ใน 3 ของจำนวนหัวรบในปัจจุบัน และตกลงที่จะร่วมมือกันในการรักษาความปลอดภัยให้กับวัตถุดิบนิวเคลียร์ภายใน 4 ปี โดย Obama ถึงกับประกาศว่า เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐ คือ การที่จะทำให้ทั้งโลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันเกี่ยวกับกรณีเกาหลีเหนือและอิหร่าน โดยทางสหรัฐยินดีที่รัสเซีย ร่วมมือกับสหรัฐในการผ่านข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่ให้มีมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเกาหลีเหนือ สำหรับในกรณีอิหร่าน ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในเรื่อง ระบบการป้องกันขีปนาวุธ และจะมีการทำการประเมินภัยคุกคามจากขีปนาวุธร่วมกัน ในสุนทรพจน์ของ Obama เขาได้ตระหนักดีว่า รัสเซียไม่เห็นด้วยกับระบบการป้องกันขีปนาวุธในยุโรปของสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐก็กำลังจะทบทวนแผนดังกล่าว และ Obama ได้ตอกย้ำว่า ระบบดังกล่าวเพื่อป้องกันการโจมตีจากอิหร่านและไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัสเซีย สหรัฐพร้อมที่จะร่วมมือกับรัสเซียในการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป

เรื่องสำคัญเรื่องที่สองที่ตกลงกันได้ คือ ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งทั้งรัสเซียและสหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดย Obama ได้กล่าวกับรัสเซียว่า เป้าหมายของสหรัฐ คือการทำลายเครือข่าย Al Qaeda และนักรบตาลีบัน ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน และสหรัฐต้องการความร่วมมือจากรัสเซียเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ดูแล้วยังขัดแย้งกันอยู่ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับจอร์เจียและยูเครน รัสเซียไม่พอใจอย่างมากที่สหรัฐจะดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกของ NATO โดยในการแถลงข่าว Obama ยอมรับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานะของจอร์เจีย แต่ Obama ได้ตอกย้ำว่า อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจอร์เจีย จะต้องได้รับการยอมรับ โดยในสุนทรพจน์ของ Obama ที่ได้กล่าวที่ New Economic School ในกรุงมอสโก ได้ตอกย้ำประเด็นนี้ โดยบอกว่า ระบบโลกจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในอำนาจอธิปไตยของกันและกัน หลักการดังกล่าวจะต้องเอามาใช้กับยูเครนและจอร์เจียด้วย (ซึ่งเท่ากับเป็นการประณามรัสเซียทางอ้อมว่า รัสเซียทำสงครามบุกจอร์เจียเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจอร์เจีย) และ Obama ได้กล่าวต่อว่า สำหรับสมาชิก NATO นั้น ต้องเป็นความเต็มใจของประชาชนในประเทศนั้นที่เลือกที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ NATO และสหรัฐจะไม่บีบบังคับประเทศใด ๆ แต่ที่สำคัญ คือ NATO ต้องการความร่วมมือจากรัสเซียไม่ใช่การเผชิญหน้า

แนวโน้มความสัมพันธ์

ผมขอประเมินว่า โดยภาพรวมแล้ว การเยือนรัสเซียของ Obama ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง เป้าหมายของ Obama คือ ปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่ง Obama ใช้คำว่า reset ซึ่งดูแล้ว จากผลการหารือ และดูจากสุนทรพจน์ของ Obama เห็นได้ชัดว่า Obama พยายามเต็มที่ ที่จะปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย และดูแล้ว แนวโน้มคามสัมพันธ์ก็น่าจะดีขึ้น

เห็นได้ชัดว่า แนวนโยบายของ Obama นั้นเป็นแนวเสรีนิยมและอุดมคตินิยม ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดีและเน้นการผูกมิตรและความร่วมมือระหว่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่หนทางข้างหน้ายังมีอุปสรรคนานัปการ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของการเมืองโลกนั้น สวนทางกับแนวคิดของ Obama คือมีลักษณะเป็นโลกแห่งสัจจนิยม ที่มองโลกในแง่ร้าย และมักจะมองประเทศอื่นว่าเป็นศัตรู การเมืองโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันและความขัดแย้ง ลึก ๆ แล้ว รัสเซียก็ยังไม่ไว้ใจสหรัฐ และลึก ๆ แล้วทั้งสองประเทศก็คงจะหลีกหนีตรรกะของการเมืองโลกไปไม่พ้น นั่นก็คือทั้งสองประเทศก็ต้องการเป็นมหาอำนาจและต้องการขยายอิทธิพล จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความขัดแย้งกันเพื่อที่จะต่อสู้กันเพื่ออำนาจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่มีความคิดเห็น: