วันศุกร์ที่ 31 กรกฏคม - วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2552
Hillary Clinton เยือนไทย
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นาง Hillary Clinton รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์การเยือนไทยของ Hillary ดังนี้
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นาง Hillary Clinton รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์การเยือนไทยของ Hillary ดังนี้
ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ
เมื่อ Hillary มาถึงไทยในวันที่ 21 กรกฎาคม ภารกิจแรกคือ เข้าพบและหารือกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยในระหว่างการหารือ นายกอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และถึงแม้ขณะนี้โลกกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ นายกอภิสิทธิ์ยังได้หารือกับนาง Hillary ถึงเรื่องปัญหาการค้า โดยเน้นว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและไทยควรจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าคือ GSP ต่อไป สำหรับในฐานะประธานอาเซียน นายกอภิสิทธิ์กล่าวแสดงความยินดีที่สหรัฐตัดสินใจที่จะภาคยานุวัติหรือให้การรับรองต่อสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น
ในส่วนของ Hillary ได้กล่าวว่า สหรัฐต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ เป็นประเทศประชาธิปไตยด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเหนือสิ่งอื่นใด คือเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนานถึง 175 ปี Hillary ได้ใช้ภาษาดอกไม้ ยาหอมประเทศไทยในหลายเรื่อง โดยบอกว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เล่นบทบาทสำคัญในการจัดประชุมอาเซียนและผลักดันจุดยืนในเชิงสร้างสรรค์ต่อปัญหาในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาพม่าและเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ Hillary ยังกล่าวถึงพันธมิตรทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยกล่าวถึงการซ้อมรบ COBRA GOLD และการที่ไทยสนับสนุนทหารสหรัฐนั้น ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการทางทหารสหรัฐทั่วโลก
อาเซียน – สหรัฐ
ต่อมาในวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม Hillary ได้เดินทางไปประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต และในการแถลงข่าวที่ภูเก็ต Hillary บอกว่า การเข้าร่วมประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาค Hillary กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐได้หวนคืนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว สหรัฐเห็นว่า ภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพและความมั่งคั่งของโลก Hillary ประกาศว่า จะลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน และสหรัฐกำลังจะส่งทูตผู้แทนถาวรประจำอาเซียน มาประจำอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาด้วย ซึ่งจะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่ส่งทูตมาประจำที่อาเซียน
Hillary บอกว่า มาตรการเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของสหรัฐ เพราะภูมิภาคอาเซียนมีประชากรถึงเกือบ 600 ล้านคน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐ และสหรัฐลงทุนในอาเซียนมากกว่าไปลงทุนในจีน
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ได้มีการจัดประชุมระหว่างสหรัฐกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นครั้งแรก ซึ่งก็มี ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยก่อนหน้านั้น มีข่าวออกมาว่า สหรัฐให้ไทยช่วยเป็นตัวกลางจัดการประชุมระหว่างสหรัฐกับอินโดจีนขึ้นเป็นครั้งแรก หลังการประชุมได้มีการจัดทำเอกสารแถลงข่าวร่วม โดยได้บอกว่า รัฐมนตรีของทั้ง 5 ประเทศ ได้หารือกัน โดยเน้นถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับประเทศเหล่านี้ โดยความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือ 7 ล้านเหรียญสำหรับโครงการทางด้านสิ่งแวดล้อม ในด้านสาธารณสุข สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือ 138 ล้านเหรียญ และในด้านการศึกษาให้ความช่วยเหลือ 16 ล้านเหรียญ
เกาหลีเหนือ
สำหรับในการประชุม ARF นั้น เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่อง เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐและ Hillary ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดย Hillary ได้แถลงข่าวว่า ได้หารือกับพันธมิตรในกรอบการประชุม 6 ฝ่าย และในระหว่างการประชุม ARF มีหลายประเทศทั่วภูมิภาคแสดงความห่วงใยต่อพฤติกรรมเกาหลีเหนือ Hillary โจมตีเกาหลีเหนือว่า ผู้แทนเกาหลีเหนือในที่ประชุมกลับปฏิเสธความรับผิดชอบ และยังคงยืนกรานในการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป สหรัฐและพันธมิตรไม่สามารถยอมรับที่จะให้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะเดินหน้าต่อไปที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ Hillary ได้เสนอเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือจะต้องยุติการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และหลังจากนั้นสหรัฐจึงจะยอมสถาปนาความสัมพันธ์และเจรจาสันติภาพและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ
นอกจากนี้ Hillary ยังได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า กำลังกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งสหรัฐมองว่า จะส่งผลเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้านของพม่า สหรัฐในฐานะเป็นพันธมิตรกับไทยจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
บทวิเคราะห์
· ผมมองว่าการเยือนไทยของ Hillary ในครั้งนี้ เป็นการสานต่อแนวนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะกับอาเซียน ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี Obama ได้เคยประกาศนโยบายต่อเอเชียว่า จะหันมาเน้นพหุภาคนิยมแทนที่ทวิภาคีนิยม ซึ่งเป็นนโยบายของสหรัฐในอดีต โดยจะเห็นได้จากภาษาดอกไม้ที่ Hillary ใช้ในการกล่าวถึงไทยและอาเซียน ซึ่งแนวโน้มก็เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ และ ความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐ น่าจะกระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต
· อย่างไรก็ตาม การมาเยือนไทยในครั้งนี้ Hillary ก็ไม่มีของขวัญ หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมมาให้ไทย เพียงแต่มีแต่คำชม ไทยจึงควรผลักดัน ให้มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผมมองว่า มีสองเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรก คือ ไทยน่าจะผลักดันให้มีการปัดฝุ่นรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐ ขึ้นมาใหม่ และอีกเรื่องคือ ไทยน่าจะพยายามล็อบบี้ให้ประธานาธิบดี Obama มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
· สำหรับความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐนั้น ผลที่เป็นรูปธรรมในครั้งนี้ คือ การรับรองสนธิสัญญาไมตรีของอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนควรผลักดัน คือ การเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนทั้งกลุ่ม และจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่ยังไม่เคยมีการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนเลย
· เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ การที่สหรัฐจัดประชุมรัฐมนตรีกับประเทศอินโดจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งผมมองว่า สหรัฐกำลังมียุทธศาสตร์ใหม่ต่ออินโดจีน โดยพยายามกระชับความสัมพันธ์กับกัมพูชาและลาว ในอดีต นับตั้งแต่แพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐไม่เคยสนใจอินโดจีนเลย และประเทศอินโดจีนก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนมาโดยตลอด จึงเป็นไปได้ว่า ความพยายามใกล้ชิดกับอินโดจีนของสหรัฐ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเกมยุทธศาสตร์การถ่วงดุลจีนของสหรัฐนั่นเอง
· สุดท้าย ผมไม่อยากให้เราหลงระเริงกับภาษาดอกไม้ของ Hillary มากเกินไป เพราะในที่สุดแล้ว เป้าหมายของสหรัฐในภูมิภาคไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม เป้าหมายหลักของสหรัฐคือการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น เป้าหมายของทั้งรัฐบาล Bush และ Obama ก็เหมือนกัน ที่จะต่างกันก็คือ วิธีการในการครองความเป็นเจ้าเท่านั้น คือในสมัย Bush เน้นการใช้ไม้แข็ง และเน้นอำนาจทางการทหาร ส่วนในสมัย Obama ก็หันมาใช้ไม้อ่อนและการทูตในการครองความเป็นเจ้าแทน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น