นโยบายต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 34 วันศุกร์ที่ 14 - วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ และในอีก 2 ตอนข้างหน้า จะเป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทย โดยในตอนที่ 1 จะเป็นการวิเคราะห์ถึงภาพรวมของนโยบายต่างประเทศไทยและนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้า จะวิเคราะห์ต่อเกี่ยวกับนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเน้นข้อเสนอการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนั้น จะวิเคราะห์บทบาทของไทยในเวทีพหุภาคี โดยจะเน้นไปที่บทบาทของไทยในอาเซียน ส่วนตอนที่ 3 ตอนสุดท้าย จะเน้นความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ และในส่วนสุดท้ายจะเสนอ grand strategy ข้อเสนอนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกของไทย
ภาพรวม
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย เรื่องนโยบายต่างประเทศของไทย เราอาจจะมองข้ามไป เรามักนึกไปว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะว่ากระทบกับเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง กระทบกันไปหมด ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วันนี้ ผมจะชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องใกล้ตัว
จุดยืนของเราในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีหลักการสำคัญมากอันหนึ่ง คือ เราจะทำอะไร ต้องดูในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ อันนี้จะเป็นจุดที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศต้องคำนึงถึงตลอดเวลา ในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ทีนี้ เราจะให้คำจำกัดความอย่างไรกับผลประโยชน์แห่งชาติ
เรื่องใหญ่ๆ ของไทย ที่เราต้องดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำเนินการทางการทูต เรื่องแรกคือ เราจะเอายังไงกับประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่า ยังไงเราก็ต้องอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน เรายกประเทศหนีไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อบ้าน อันนี้เป็นจุดใหญ่มากสำหรับประเทศไทย เราจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทีนี้พอออกไปนอกกรอบของประเทศเพื่อนบ้าน จะมีกรอบเวทีพหุภาคีต่างๆ อย่างเช่น อาเซียน ซึ่งเราร่วมมือกันอยู่ นอกจากอาเซียนแล้ว เรายังมี APEC มีหลายเวทีที่ทับซ้อนกัน แล้วไทยจะเอาอย่างไร ขณะนี้ มีการเกิดขึ้นของสิ่งที่นักการทูตเรียกว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาค หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Regional Architecture ตอนนี้ กำลังมี debate กันมาก ถกเถียงกันมากว่า ระบบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค หรือสถาบันในภูมิภาค ควรจะมีรูปร่าง หน้าตาอย่างไร แล้วองค์กรไหน สถาบันไหน ควรจะเป็นแกนกลางของระบบ ไทยควรจะต้องกำหนดจุดยืนว่า เราจะเอาอย่างไร
พอไกลตัวออกไปอีก จะเป็นเรื่องมหาอำนาจ มหาอำนาจมีทั้งสหรัฐ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น พอเกินจากนี้ออกไป จะเป็นเรื่องของเวทีใหญ่ๆ เช่น UN WTO และภูมิภาคอื่นๆ นี่เป็นเรื่องที่เยอะแยะมากมายมหาศาล ในสิ่งที่ไทยจะต้องกำหนดจุดยืน และเราจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เราได้ประโยชน์
ประเทศเพื่อนบ้าน
กลับมาที่เรื่องประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่บอกไปแล้วว่า เรื่องสำคัญคือ เขาเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างไรก็ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ก็มีประเด็นหลายเรื่อง ที่มีปัญหาขึ้นมา เช่นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า มีเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ที่เราต้องค้าขายและติดต่อกับเขา ไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมาก พม่าก็ไป ลาวก็ไป กัมพูชาก็เหมือนกัน ปัญหาคือ เราจะกำหนดนโยบายอย่างไร
ปัญหาที่ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นมาคือ ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์คืออะไร เราคงจำกันได้ว่า สองร้อยปีก่อน พม่าเคยมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก ประเทศเพื่อนบ้านมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งมักเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ดี เป็นประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวด ขมขื่น กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยกับพม่า ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นด้วยกันทั้งคู่ มีทั้งที่เขามาบุกเรา และเราไปบุกเขา
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แต่ละประเทศพยายามที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา และพยายามบอกว่า ตัวเองเป็นพระเอก ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้าย ไทยเราก็เป็นแบบนี้ เรามักจะมองว่าเราเป็นพระเอก ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้าย เลยกลายเป็นเรื่องของมิติทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น เลยทำให้เรามองประเทศเพื่อนบ้านในแง่ลบ เช่นกับพม่า เขมร มาเลเซีย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เขาก็มองเราในแง่ลบ คือ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน ถามว่า ประเทศไหนรักเราบ้าง คำตอบคือ แทบไม่มีใครรักเราเลย ลึกๆ แล้ว ลองไปถามพม่าว่า เขาชอบเราไหม เขาก็ไม่ชอบเรา ไม่ไว้ใจเรา ถามว่าเขมรเขาชอบเราไหม ไว้ใจเราไหม เขาก็ไม่ไว้ใจเรา มาเลเซียก็เหมือนกัน เวียดนามก็เหมือนกัน ลาวก็เหมือนกัน เขาก็ไม่ไว้ใจเรา นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ในสถานการณ์ลำบาก
สถานการณ์ปัจจุบันซ้ำเติมอดีตเข้าไปอีก ยี่สิบปีที่ผ่านมา ที่เป็นยุคทองของเรา เราก็ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เราเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ เราไปดำเนินธุรกิจแบบฉวยโอกาสมากเกินไป เราถูกมองว่าเป็นนักฉวยโอกาส อันนี้เป็นการซ้ำเติมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้เขามองเราว่า เราเข้าไปครอบงำเขาทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน ธุรกิจ
นอกจากนี้ ไทยก็เจริญกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในแง่ของเศรษฐกิจ และในเชิงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งทางด้านวัฒนธรรม ตอนนี้ เรามีการส่งออกหนัง ละครไทย เพลงไทย ซึ่งเขาก็บริโภควัฒนธรรมเรา แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีความรู้สึกในลักษณะ love-hate relationship คือ มองว่า เรากำลังครอบงำทางวัฒนธรรม ผู้นำของประเทศเพื่อนบ้าน จึงแสดงออกในลักษณะคล้ายๆ ต่อต้านออกมา คงจะจำกันได้กับเหตุการณ์เผาสถานทูตที่กัมพูชา ซึ่งเกิดจากดาราเราถูกกล่าวอ้างว่า จะไปเอานครวัดกลับมา ทำให้ชาวเขมรไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้ เป็นปัญหาที่ฝังรากลึก
(โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 ในคอลัมน์โลกทรรศน์ สัปดาห์หน้า)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น