Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมธนาคารโลกปี 2010

ผลการประชุมธนาคารโลกปี 2010
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 33 วันศุกร์ที่ 7 - วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2553

ทุกๆ ปี จะมีการประชุมใหญ่ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่กรุงวอชิงตัน ดีซี คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

การเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับไฮไลท์ ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การเพิ่มอำนาจในการลงคะแนนเสียง (voting power) ให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยได้มีการตัดสินใจเพิ่มอำนาจในการลงคะแนนเสียงให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็น 47% (เพิ่มขึ้น 3.13%) ในขณะที่สหรัฐมีอำนาจในการลงคะแนนเสียง 15.85% ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มี voting power มากที่สุด รองลงมาเป็นญี่ปุ่น มี 6.84% ในขณะที่จีนขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 มี voting power เพิ่มขึ้นเป็น 4.42%
การที่จีนมี voting power เพิ่มขึ้นถือเป็นไฮไลท์ ของการประชุมในครั้งนี้ เพราะในอดีต จีนมีเพียง 2.77% แต่การก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ทำให้จีนแซงหน้าประเทศในยุโรปไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการผงาดขึ้นมาของจีนทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็ได้ voting power เพิ่มเช่นเดียวกันโดยเฉพาะ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รัสเซียก็ได้ voting power เพิ่มขึ้นเป็น 2.77%

Robert Zoelick ประธานธนาคารโลกชาวอเมริกัน ได้แถลงข่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ voting power ในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงความเป็นจริงถึงระบบเศรษฐกิจโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญ

สำหรับ Timothy Geithner รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า อำนาจในการลงคะแนนเสียงครั้งใหม่นี้ เป็นการสะท้อนถึงบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในระบบเศรษฐกิจโลก และเป็นการปกป้องเสียงของประเทศเล็กและประเทศยากจน โดย Geithner ย้ำว่า ในครั้งนี้สหรัฐไม่มีความประสงค์ที่จะเพิ่ม voting power ของตน

อย่างไรก็ตาม ได้มีข่าวออกมาว่า การเจรจาในเรื่องนี้ได้มีมาหลายเดือนแล้ว และมีความตึงเครียดและมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศยุโรปไม่ยอมลด voting power ของตน ในขณะที่บางประเทศก็ไม่พอใจต่อผลการประชุมในครั้งนี้ โดยรัฐมนตรีคลังของอัฟริกาใต้ ได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อผลการประชุม โดยได้บอกว่า รู้สึกผิดหวังที่กระบวนการในครั้งนี้มีผลทำให้ voting power ของประเทศในอัฟริกาลดลง โดยเฉพาะ voting power ของ อัฟริกาใต้และไนจีเรียได้ลดลง นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังของบราซิลได้ออกมาบอกว่า โดยภาพรวมแล้วประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีเสียงเพียงพอในธนาคารโลก


การแก้ปัญหาความยากจน
บทบาทหลักของธนาคารโลกในปัจจุบันคือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมซึ่งมีสมาชิก 186 ประเทศ ได้ตกลงที่จะเพิ่มเงินทุนในธนาคารโลกอีก 86,000 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นเงินกู้สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มเงินทุนในครั้งนี้ทำให้เงินทุนของธนาคารโลกเพิ่มขึ้นเป็น 276,000 ล้านเหรียญ

ประธานธนาคารโลก Zoelick ได้กล่าวว่า การเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะเอาไปใช้ประโยชน์ในการสร้างงานและช่วยเหลือคนยากจน โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การช่วยเหลือกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME และช่วยเหลือคนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ

การเพิ่มทุนของธนาคารโลกในครั้งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพราะ จากรายงานของธนาคารโลกที่มีชื่อว่า Global Monitoring Report ประจำปี 2010 ได้รายงานว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา และส่งผลกระทบต่อการที่จะบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่เรียกว่า Millennium Development Goals หรือ MDG ที่ได้ตั้งเป้าไว้ว่า จะลดจำนวนคนยากจนลง จากจำนวนในปี 1990 ลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2015
ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้กระทบต่อปัญหาความยากจนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนอาหาร ปัญหาสุขอนามัย การเข้าถึงน้ำสะอาด

อย่างไรก็ตาม ในรายงานดังกล่าว ได้สรุปในแง่บวกว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวนคนยากจนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญต่อวันนั้น จะมีอยู่ประมาณ 920 ล้านคน ซึ่งจะลดลงจากตัวเลขในปี 1990 ที่มีคนยากจนอยู่ถึง 1,800 ล้านคน

บทวิเคราะห์
ผมมองว่า ถึงแม้การประชุมธนาคารโลกในครั้งนี้จะมีความคืบหน้าในการเพิ่ม voting power ให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะให้กับประเทศจีนก็ตาม แต่การปฏิรูปสถาบันการเงินโลก ยังคงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน กว่าจะมีความโปร่งใสและธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง
ทั้งนี้เพราะตั้งแต่การก่อตั้ง ทั้งธนาคารโลกและ IMF ได้ถูกครอบงำโดยตะวันตกมาโดยตลอด คือจริงๆ แล้ว สหรัฐเป็นคนที่สร้างธนาคารโลกและ IMF ขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง 2 สถาบันจึงถูกครอบงำโดยสหรัฐและตะวันตกโดยสิ้นเชิง ทั้งธนาคารโลกและ IMF มีการจัดสรรอำนาจการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับตะวันตก โดยใน IMF ยุโรปมี voting power ถึง 30% และสหรัฐมีถึง 20% ในขณะที่ประธานธนาคารโลกก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาโดยตลอด เช่นเดียวกับผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรปมาโดยตลอด
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสุดยอด G20 ที่พิตสเบิร์ก เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้มีข้อเสนอให้มีการเพิ่ม voting power ใน IMF ให้กับประเทศในเอเชีย เพิ่มขึ้น 10% แต่ในการประชุม G20 ที่พิตสเบิร์ก ตกลงจะเพิ่มให้เพียง 2.5% และจะเพิ่ม voting power ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพียง 5% เท่านั้น และทั้งสหรัฐและยุโรปก็ยังคงหวงเก้าอี้ โดยไม่ยอมที่จะให้ประธานธนาคารโลกคนใหม่มาจากประเทศที่ไม่ใช่สหรัฐ และไม่ยอมให้ผู้อำนวยการ IMF คนใหม่ มาจากประเทศที่ไม่ใช่ยุโรป

IMF จะมีการทบทวนโควตาการลงคะแนนเสียงในปี 2011 จีนได้เสนอให้ตัดโควตา voting power ของประเทศร่ำรวยลง 7% เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า การปฏิรูปธนาคารโลกและ IMF จะมีความคืบหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คงต้องจับตาดูกันต่อว่า อีกนานเท่าไรเราถึงจะมีประธานธนาคารโลกที่ไม่ใช่คนอเมริกันและผู้อำนวยการใหญ่ IMF ที่ไม่ใช่คนยุโร

ไม่มีความคิดเห็น: