ตะวันออกกลางในยุคหลังสงครามอิรัก
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 32 วันศุกร์ที่ 30 เมษายน - วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม 2553
ภายหลังจากที่สหรัฐได้ทำสงครามบุกยึดครองอิรัก เมื่อปี 2003 เวลาได้ผ่านไปแล้ว 7 ปี สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกกลางได้เปลี่ยนไปมาก ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นผลมาจากสงครามอิรักนั่นเอง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์ในตะวันออกกลางในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามอิรัก ดังนี้
การผงาดขึ้นมาของอิหร่าน
การบุกยึดครองอิรักของสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อดุลยภาพแห่งอำนาจในภูมิภาค ก่อนหน้าสงครามอิรัก การถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคเป็นการถ่วงดุลกันระหว่างอาหรับกับอิหร่าน โดยมีรัฐบาลซัดดัม เป็นรัฐกันชนสำคัญในการคานอำนาจอิหร่าน อย่างไรก็ตามภายหลังสงครามอิรักดุลแห่งอำนาจก็ได้อิงไปทางอิหร่าน ดังนั้นการโค่นล้มระบอบซัดดัม จึงทำให้ชาติอาหรับเกิดความหวาดระแวงว่าอิหร่านจะผงาดขึ้นมาครบงำตะวันออกกกลาง
อิหร่านได้ฉวยโอกาสจากสุญญากาศแห่งอำนาจดังกล่าว แต่อิหร่านก็ประสบกับอุปสรรคหลายประการในการที่จะผงาดขึ้นมาครอบงำภูมิภาค อิหร่านร่ำรวยจากการขายน้ำมันและการปลุกระดมลัทธิชาตินิยม ทำให้ตั้งแต่ปี 2003 อิหร่านได้พยายมจะขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง โดยอิหร่านก็มีพันธมิตรที่เหนียวแน่น คือ กลุ่ม HAMAS และ Hizballah โดย HAMAZ ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในฉนวนกาซ่า ในขณะที่ Hizballah ได้ต่อสู้กับกองทัพอิสราเอลในปี 2006 เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ชาติอาหรับ โดยเฉพาะในกลุ่มนิกายซุนนีย์มองว่า อิหร่านและกลุ่มชีอะห์กำลังได้รับชัยชนะ
อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้ประสบกับข้อจำกัดในการขยายอิทธิพล โดย Hizballah ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2009 ในขณะที่อิหร่านเอง ก็เกิดความวุ่นวายทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2009 ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขยายอิทธิพลของอิหร่าน นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของอิหร่านเป็นลบมากขึ้นในสายตาชาวอาหรับ โดยเฉพาะบทบาทของอิหร่านที่เข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในอิรัก
การตอบสนองของชาติอาหรับที่เกี่ยวกับการผงาดขึ้นมาของอิหร่านมีหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะการผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์การปฏิสัมพันธ์ การถ่วงดุลอำนาจและการสกัดกั้น โลกอาหรับมีภาพอิหร่านที่มีทั้งเป็นลบและเป็นบวก ภาพที่เป็นลบคือ การที่อิหร่านเข้าไปวุ่นวายในอิรัก และการท้าทายชาวมุสลิมนิการซุนนีย์ (ชาวอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์) แต่ภาพในแง่บวกของอิหร่านคือ การลุกขึ้นมาท้าทายตะวันตก และการต่อต้านอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ในโลกอาหรับไม่มีประเทศที่เล่นบทเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจอิหร่านอย่างเด่นชัด จึงกลายเป็นว่าตัวแสดงสำคัญในตะวันออกกลาง กลายเป็นประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ คือ อิสราเอล ตุรกี อิหร่าน และสหรัฐ
การผงาดขึ้นมาของอิหร่านยังเกี่ยวพันกับเรื่องวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน โดยทางตะวันตกและสหรัฐได้กล่าวหาอิหร่านว่า กำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตะวันตกได้พยายามกดดันอิหร่านด้วยวิธีการต่างๆ โดยการผลักดันมาตรการคว่ำบาตร แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ความขัดแย้ง
สงครามอิรักยังได้ทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคในหลายๆ เรื่องทรุดหนักลง
สงครามอิรักได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมุสลิมนิกายชีอะห์และมุสลิมนิกายซุนนีย์ โดยเฉพาะในอิรัก หลังสงคราม ได้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างชาวอิรักนิกายชีอะห์กับซุนนีย์ ถึงขั้นเกือบจะเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งความขัดแย้งระหว่างสองนิกายได้แพร่ขยายไปในหลายๆ ประเทศในตะวันออกกลาง
สงครามอิรักยังได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาว Kurd กับหลายประเทศทรุดหนักลง โดยสงครามอิรักได้ทำให้ชาว Kurd ในอิรัก เรียกร้องการปกครองตนเอง ซึ่งมีผลทำให้เกิดกระแสเดียวกันขึ้นในหมู่ชาว Kurd ที่อาศัยอยู่ใน ซีเรีย ตุรกี และอิหร่าน โดยเฉพาะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของชาว Kurd ในตุรกี คือกลุ่ม PKK ได้อาศัยทางตอนเหนือของอิรักเป็นแหล่งซ่องสุม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาว Kurd ทำให้ ซีเรีย ตุรกี และอิหร่าน พยายามร่วมมือกัน ซึ่งทำให้แผนของสหรัฐที่จะดึงซีเรียออกจากอิทธิพลของอิหร่านเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
และสงครามอิรักไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม กลับนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้ว่ารัฐบาลโอบามาจะพยายามแก้ปัญหา โดยเสนอทางแก้ที่เรียกว่า two state solution คือการให้รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เส้นทางสันติภาพในตะวันออกกลางก็เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะมีหลายเรื่องที่ยากที่จะหาข้อยุติ อาทิ เขตแดนของรัฐปาเลสไตน์ สถานะของกรุงเยรูซาเลม สถานะของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 5 ล้านคน และปัญหาการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต West Bank
ขบวนการก่อการร้าย
หลังสงครามอิรัก ขบวนการก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่ม Al-Qa’ida ไม่ได้หมดไป แต่ในทางตรงกันข้าม กลับแพร่ขยายออกไปมากขึ้น โดยหลังสงคราม อิรักได้กลายเป็นศูนย์กลางของการทำสงครามศาสนาหรือสงคราม Jihad เพื่อต่อต้านสหรัฐ อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Al-Qa’ida in Iraq แม้ในตอนแรกจะได้รับการสนับสนุนจากชาวอาหรับ แต่ในระยะหลังๆ ก็เสื่อมความนิยมลง แต่แม้ว่าบทบาทของ Al-Qa’ida ในอิรักจะลดลง แต่กลับกลายเป็นว่า บทบาทของ Al-Qa’ida ในประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางกลับเพิ่มมากขึ้น การก่อการร้ายมีแนวโน้มจะลุกลามขยายตัว โดยเฉพาะใน เยเมนและโซมาเลีย สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถานก็ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะทั้งนักรบตาลีบันและ Al-Qa’ida ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหม่อยู่บริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน โดยนักรบตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานและปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ประชาธิปไตย
สาเหตุหนึ่งที่ประธานาธิบดีบุชอ้าง ในการทำสงครามอิรักก็เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอิรัก โดยหวังว่าประชาธิปไตยในอิรักจะส่งผลกระทบเป็น domino effect จะทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นทั่วตะวันออกกลาง แต่ผลที่เกิดขึ้น กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม 7 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยในอิรักและอัฟกานิสถานก็ง่อนแง่น และยังไม่มีแนวโน้มว่าประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ จะพัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม สงครามอิรักกลับเป็นตัวยับยั้งการปฏิรูปทางการเมือง เพราะรัฐบาลอาหรับมองเห็นแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอิรักจะสร้างความหายนะให้กับประเทศตน กลับกลายเป็นว่า ชาวอาหรับกลับหันมาสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ มากกว่าจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง โดยชาวอาหรับมองว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สหรัฐยัดเยียดเข้ามา และมองว่าประชาธิปไตยในอิรักเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความวุ่นวายถึงขั้นเกือบจะเป็นสงครามกลางเมือง
มหาอำนาจ
ประเด็นสุดท้ายคือ ผลกระทบของสงครามอิรักต่อบทบาทของมหาอำนาจในตะวันออกกลาง เห็นได้ชัดว่า บทบาทของสหรัฐได้ตกต่ำลง โดยเฉพาะความล้มเหลวภายหลังสงครามอิรัก อิทธิพลของสหรัฐกำลังลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่อิทธิพลของมหาอำนาจอื่นๆ กำลังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรัสเซียกับจีน จากความล้มเหลวของสหรัฐในอิรัก ทำให้ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางเริ่มไม่มีความมั่นใจต่อสมรรถภาพของสหรัฐ จึงได้เริ่มหันไปตีสนิทกับจีนและรัสเซียมากขึ้น โลกอาหรับได้สูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถานะของสหรัฐในการเล่นบทเป็นผู้ให้หลักประกันความมั่นคง
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2003 ทั้งจีนและรัสเซียได้พยายามเพิ่มบทบาทมากขึ้นในตะวันออกกลาง โดยรัสเซียได้พยายามที่จะท้าทายอิทธิพลของสหรัฐ และพยายามเข้าไปมีบทบาทในการเป็นตัวกลางแก้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคก็ยังมีข้อจำกัด
สำหรับในส่วนของจีน ก็มียุทธศาสตร์ที่พยายามเน้นในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน โดยพยายามตีสนิทกับประเทศในตะวันออกกลางเพื่อซื้อน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้นบทบาทจีนจะเพิ่มมากขึ้นเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่บทบาททางด้านการทหารและการเมืองยังมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโลกอาหรับจะมีท่าทีในทำนองต้องการดึงรัสเซียกับจีนมาถ่วงดุลสหรัฐ แต่ลึกๆ แล้ว รัสเซียกับจีนก็ไม่สามารถมาแทนที่สหรัฐได้ ในการเล่นบทเป็นผู้นำในการสร้างระเบียบความมั่นคงในภูมิภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น