นโยบายต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 35 วันศุกร์ที่ 21 - วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับภาพรวมนโยบายต่างประเทศของไทย รวมทั้งปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้ จะมาวิเคราะห์ต่อเกี่ยวกับแนวทางในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และบทบาทของไทยในเวทีอาเซียน
ประเทศเพื่อนบ้าน (ต่อ)
ผมว่า รัฐบาลต้องชัดเจนในการมองว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ในเรื่องนโยบายต่างประเทศของไทย ซึ่งตรงนี้ มีปัญหามากที่สุด คือตรงอื่นนั้น พอไปได้ แต่ที่มีปัญหามากที่สุดคือ เรื่องไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จะต้องระดมพลังในการรวบรวมความคิดว่า เราจะแก้อย่างไร ซึ่งผมมองว่า วิธีแก้นี้ จะต้องใช้เวลา ที่ผมได้เรียนไปแล้วว่า ลึกๆแล้ว คือปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งจะต้องไปแก้ที่รากเหง้าของปัญหา เรื่องของการที่เขาไม่ไว้ใจเรา โดยเฉพาะเรื่องที่กลัวเราไปครอบงำทางเศรษฐกิจ ตรงนี้ เราควรจะต้องไปปรับใหม่ ในเรื่องการการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในแบบที่เราจะต้องไม่ถูกมองว่า เราไปตักตวงผลประโยชน์เขา หรือเราไปครอบงำเขา คือ ต้องมีลักษณะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็น win-win game
ทีนี้ เราจะไปบอกนักธุรกิจเราอย่างไรให้เป็นอย่างนั้น รัฐบาลจะไปบอกนักธุรกิจอย่างไร ในเมื่อธรรมชาติของนักธุรกิจ ก็ต้องหาประโยชน์ส่วนตน และถ้าเผื่อไม่มีอะไรไปบีบ ให้ต้องให้เขาบ้าง ก็ไม่ค่อยอยากให้ ถ้าในแบบของผมคือ ทางฝ่ายธุรกิจ เราไปบีบมากคงจะไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องมีอิสระของเขาในการดำเนินธุรกิจ แต่ในเรื่องของจิตสำนึก เราคงจะต้องพยายามที่จะปลูกฝัง มีเวทีหลายเวทีที่รัฐบาลกับภาคธุรกิจได้มาเจอกัน ตรงนี้คงต้องมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้มากกว่านั้นคือ ความสัมพันธ์กับรัฐ ที่รัฐบาลสามารถทำได้เองคือ ในเรื่องของการไปปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ในเรื่องของการที่จะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ เช่น เอาเงินไปให้กู้บ้าง เอาเงินไปช่วยให้เปล่าบ้าง ลาวอยากจะฝึกอะไร เราก็ไปฝึกให้ อยากจะเรียนในไทยก็ให้มาเรียน ให้การช่วยเหลือทำนองนี้ คือต้องมีเรื่องให้ความช่วยเหลือ ต้องช่วยผลักดัน ให้เขามีการพัฒนาขึ้นมาใกล้กับเรา ไม่ให้ห่างกันมากขนาดนี้
อีกเรื่องที่รัฐบาลต้องทำคือ เรื่องของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะไปช่วยในเรื่องของการแก้ความรู้สึกลึกๆ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ อาจต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ ตั้งกรรมการระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อมาดูเรื่องประวัติศาสตร์ให้ตรงกัน ประเทศยุโรป เรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ผมว่าเขาทำ และตอนนี้ เขาก็ประสบความสำเร็จในเรื่องว่าประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเขาทิ้งไปหมดแล้ว มาเริ่มกันใหม่ ผมว่าทำได้หลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ และเห็นได้ชัดเจนคือ ในเรื่องของการแก้ไขตำราเรียน ซึ่งอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อให้มีข้อเท็จจริงตรงกันมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเฉพาะเรื่องที่เราต้องแก้ เช่น เรื่องของไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีปัญหาใหญ่ เช่น เรื่องของเขาพระวิหาร ซึ่งจะต้องแก้ด้วยการเจรจา แก้ปัญหาเรื่องเขตทับซ้อน เรื่องว่าจะทำอย่างไร ในเรื่องที่เขาพระวิหารจะเป็นมรดกโลก เราคงจะต้องผลักดันในเรื่องของการร่วมกันบริหารจัดการมรดกโลก ตรงนี้ ผมว่า น่าจะออกมาเป็น win-win ได้ คือในเรื่องของปัญหาเขตทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร มีตัวอย่างมาแล้ว ในเรื่องที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เช่น JDA ไทยกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นเขตทับซ้อนในทะเล ที่เราตกลงกันไม่ได้ว่า เป็นของใคร ทีนี้เราก็มาจัดการบริหารร่วมกัน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันนี้จะมา apply ใช้ได้ ในกรณีเขตทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ในเมื่อยังแก้กันยากว่า ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง เราก็มาใช้ประโยชน์ร่วมกันดีกว่า มาบริหารร่วมกันดีกว่า อันนี้น่าจะเป็นทางออก ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการเจรจา
ส่วนปัญหาเรื่องเขตแดน ตรงนี้คงต้องใช้เวลา คือเรามีคณะกรรมการปักปันเขตแดนอยู่แล้ว ระหว่างไทยกับกัมพูชา ไทยกับพม่า ไทยกับลาว อันนี้คงต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ คงต้องยอมรับว่า ต้องใช้เวลา
อาเซียน
อันนี้ คงจะต้องเป็นแนวทาง ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน แต่อย่างที่ผมได้เรียนในตอนต้นแล้วว่า ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนั้นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ยังมีอีกหลายส่วน ที่เราต้องดำเนินการ ในส่วนที่ผมอยากจะกล่าวถึงต่อไปคือ เรื่องของอาเซียน เรื่องของเวทีพหุภาคีต่างๆที่ไทยเป็นสมาชิก อาเซียนเป็นเวทีที่สำคัญมากสำหรับไทย เพราะเราเป็นคนผลักดัน ที่ทำให้มีอาเซียนเกิดขึ้นมาเมื่อ 42 ปีที่แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา อาเซียนให้ประโยชน์เราได้มาก เพราะว่าไทยต้องยอมรับว่า เราเป็นประเทศเล็ก ซึ่งในเวทีโลก ประเทศใหญ่จะได้เปรียบ ดังนั้น เมื่อเราเป็นประเทศเล็ก ทางเดียวที่เราจะมีเสียงดังขึ้นมาคือ การรวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้นมา ซึ่งอาเซียนนี้ หากเรารวมตัวกันให้ดี เราพูดเป็นสียงเดียวกัน มีตลาดเดียวกัน ก็จะทำให้ไทยได้ประโยชน์มากในผลประโยชน์แห่งชาติตรงนี้ ขณะนี้ อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยไปแล้ว ในอดีตจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา เป็นมหาอำนาจ แต่ตอนนี้ ไม่ใช่แล้ว และเรื่องการลงทุน อาเซียนก็เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญมากสำหรับไทย
จริงๆแล้ว อาเซียนมีหลายเรื่อง มีเรื่องของการที่จะผลักดันความร่วมมือในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งจะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2015 ประชาคมนี้แบ่งออกเป็นสามประชาคมย่อย คือ ประชาคมการเมือง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมวัฒนธรรม
ประชาคมการเมืองและความมั่นคง จะเน้นในเรื่องที่เราจะมาร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างไร ทำให้อาเซียนเป็นกลไกที่จะแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร อันนี้จะเป็นประโยชน์ เพราะว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราคงจะจำได้ว่า สมัยที่มีคอมมิวนิสต์ สมัยสงครามเย็น อาเซียนก็เป็นประโยชน์ต่อไทยมาก ในการเป็นปราการในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ อาเซียนเป็นประโยชน์ต่อเรา ในสมัยที่มีปัญหากัมพูชา ตอนที่เวียดนามไปยึดเขมร เราได้ใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์ อาเซียนเป็นกลไก เป็นเครื่องมือ ในการดำเนินนโยบายทางด้านความมั่นคงของไทยมาโดยตลอด ในอนาคตที่เรากำลังจะสร้างเป็นประชาคมการเมืองขึ้นมา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยเป็นอย่างมาก
ไทยเคยเป็นผู้นำในอาเซียนมาโดยตลอด แต่ระยะหลังนี้ เราแผ่วลงไป เพราะหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้สถานะของไทยตกต่ำลงไป หลังๆ เราก็มาทะเลาะกันเอง ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะไปนำใคร ตอนนี้ สิงคโปร์มาแรงมากในอาเซียน ซึ่งเขาพยายามที่จะผลักดันให้ตัวเองเป็นผู้นำทางความคิด เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ส่วนเวียดนามก็กำลังเล็งๆ อยู่ ปีนี้เวียดนามเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเขาก็ตั้งเป้าหมายเต็มที่ และมีความทะเยอทะยานมาก ที่จะผงาดขึ้นมาเป็นตัวแสดงที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ดังนั้น ในขณะนี้ เรามีคู่แข่ง ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
จุดยืนของไทยคือ อาเซียนมีประโยชน์ต่อเรา ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ซึ่งทางด้านเศรษฐกิจ หากเราเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ เป็นตลาดร่วมอาเซียนได้ เราจะได้ประโยชน์ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการเงิน ดังนั้นเราจะต้องกลับมามีบทบาทนำในอาเซียน ในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น