Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พม่า : การเลือกตั้ง และ ออง ซาน ซูจี

พม่า : การเลือกตั้ง และ ออง ซาน ซูจี
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศติกายน 2553

ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เรื่องเกิดขึ้นในพม่าคือ การเลือกตั้งและการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

การเลือกตั้ง
• ภูมิหลัง

ครั้งสุดท้ายที่พม่าได้มีการเลือกตั้งคือ ในปี 1990 เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ในครั้งนั้น พรรค National League for Democracy หรือ NLD ซึ่งนำโดย ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลทหารไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ยังคงคุมอำนาจต่อไป และกักบริเวณซูจีมาเกือบตลอด ในตอนหลัง หลังจากถูกกดดันจากนานาชาติ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และในที่สุด ได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ 25% ในรัฐสภาต้องมาจากทหาร นอกจากนั้นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียง 80% คือ พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) เป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้นมา และผู้นำทหารหลายคนก็ลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพรรค USDP เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ คงจะเป็นรัฐบาลทหารเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนชุดจากชุดทหารมาเป็นชุดพลเรือนเท่านั้น และมีความเป็นไปได้มากว่านายพลตาน ฉ่วย จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสภา ซึ่งจะมีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี

ในส่วนของพรรค NLD และ ออง ซาน ซูจี บอยคอตการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายเลือกตั้งกำหนดว่า บุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจะไม่มีสิทธิ์ลงรับเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึง ซูจีด้วย จากการบอยคอตการเลือกตั้งทำให้พรรค NLD ต้องถูกยุบไปตามกฎหมายเลือกตั้ง นอกจากนี้ มีพรรคของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่บอยคอตการเลือกตั้งเหมือนกัน และหลายๆ เขตที่เป็นเขตของชนกลุ่มน้อยก็ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งภายหลังการเลือกตั้ง ปรากฏว่า กลุ่มกบฏชาวกระเหรี่ยงได้เปิดศึกปะทะกับฝ่ายรัฐบาล เพื่อเป็นการประท้วงการเลือกตั้ง ทำให้ชาวกระเหรี่ยงกว่า 2 หมื่นคนลี้ภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย บริเวณจุดที่มีการสู้รบคือ เมืองเมียวดี และผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้ามาไทยคือ บริเวณแม่สอดและด่านเจดีย์สามองค์

รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง

• ปฏิกิริยาจากประชาคมโลก
ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และปราศจากความโปร่งใส ดังนั้นจึงได้รับการโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันตก โดยทางสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโอบามาได้ออกมาโจมตีการเลือกตั้งว่า ไม่ free และไม่ fair ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังคงคุมขังนักโทษทางการเมืองกว่า 2 พันคน กฎหมายเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมทำให้พรรค NLD ไม่ได้เข้าร่วม และรัฐบาลปฏิเสธการลงทะเบียนของพรรคการเมืองจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไป ในยุทธศาสตร์การกดดันร่วมกับการปฏิสัมพันธ์ สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี

สำหรับ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ผิดหวังเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้งไม่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยเฉพาะการไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติเข้าไป สหรัฐฯ จะดำเนินยุทธศาสตร์กดดันต่อไป โดยสหรัฐฯ จะเจรจากับผู้นำพม่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยหากพม่าไม่ดำเนินมาตรการดังกล่าว สหรัฐฯ จะดำเนินการคว่ำบาตรพม่าต่อไป

สำหรับรัฐบาลตะวันตกอื่นๆ ก็มีท่าทีออกมาในทำนองเดียวกัน เช่น ออสเตรเลียออกแถลงการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ แสดงความผิดหวังกับการเลือกตั้ง ในขณะที่สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และผิดหวังกับการเลือกตั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษมีท่าทีในทำนองเดียวกัน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น รู้สึกผิดหวังต่อการเลือกตั้ง บัน คี มุน เลขาธิการ UN ก็ได้แสดงจุดยืนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม มีจีนกับอาเซียน ที่แสดงความยินดีกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกมากล่าวยินดีกับการเลือกตั้งว่า พม่ากำลังเดินหน้าสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้า road map สู่ประชาธิปไตย ในขณะที่อาเซียน ก็ได้ออกแถลงการณ์โดย รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ว่าอาเซียนยินดีต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ และถือเป็นก้าวสำคัญต่อการดำเนิน road map สู่ประชาธิปไตย และอาเซียนขอให้พม่าเดินหน้าในกระบวนการประชาธิปไตยและความปรองดองแห่งชาติต่อไป

ออง ซาน ซูจี
• การปล่อยตัว
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งในพม่า รัฐบาลทหารพม่าก็ใช้ยุทธศาสตร์ที่แยบยลเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการประกาศปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ในวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลังจากได้รับการปล่อยตัว ซูจี ได้กล่าวสุนทรพจน์ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน เน้นว่า จะเดินหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป และได้เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการพูด และกระตุ้นให้ผู้คนที่สนับสนุนนาง ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตน มีอีกหลายเรื่องที่ ซูจี จะเดินหน้าผลักดันคือ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ รวมทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม โดย ซูจี ได้บอกว่า จะเดินหน้าร่วมกับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

• ปฏิกิริยาจากประชาคมโลก
หลังจาก ซูจี ได้รับการปล่อยตัว ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะตะวันตกได้ออกมาแสดงความยินดี

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ซูจี เป็นวีรสตรีของเขา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในพม่าและทั่วโลก สหรัฐฯ ยินดีต่อการปล่อยตัวในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ซูจี จะไม่ได้ถูกคุมขังในบ้าน แต่ก็ยังเหมือนเป็นนักโทษในประเทศพม่า เพราะยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ นักโทษทางการเมืองกว่า 2 พันคนยังถูกคุมขังอยู่ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

ส่วน บัน คี มุน เลขาธิการ UN ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่เหลืออยู่ทั้งหมด

ในขณะที่ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส ได้ประกาศว่า ฝรั่งเศสให้ความสนใจอย่างมากต่อสถานะของ ออง ซาน ซูจี และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้อิสระเสรีภาพอย่างเต็มที่แก่นาง เช่นเดียวกับทาง EU ได้เรียกร้องในทำนองเดียวกัน คือให้รัฐบาลพม่าให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แก่นาง รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการประกาศท่าทีในเรื่องนี้จากพันธมิตรของพม่า อย่างเช่น จีนและอาเซียน โดยอาเซียนยังไม่ได้มีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ มีเพียงแต่คำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สุรินทร์ พิษสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ว่ารู้สึกโล่งอกต่อข่าวการปล่อยตัว และหวังว่านางซูจี จะสามารถเล่นบทในการสร้างความปรองดองแห่งชาติได้ และหวังว่านักโทษทางการเมืองที่เหลือจะได้รับประโยชน์จากท่าทีที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลพม่าในเรื่องนี้

แนวโน้ม
จากสถานการณ์การเมืองพม่าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งและการปล่อยตัวนางซูจี นั้น จึงมีคำถามว่า แนวโน้มในอนาคตของการเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ประเด็นแรกคือ การเลือกตั้งในครั้งนี้ถึงแม้จะถูกโจมตีว่า ไม่มีความโปร่งใส แต่จากการที่ได้มีการจัดการเลือกตั้ง ผมจึงมองว่า รัฐบาลใหม่ของพม่าที่มาจากการเลือกตั้งที่ถึงแม้จะไม่โปร่งใส แต่ก็จะมีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้นจะทำให้กระแสการต่อต้าน แรงกดดัน และมาตรการคว่ำบาตรลดลง ซึ่งเราก็เริ่มได้เห็นแล้วจากการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ล่าสุด โดยในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงว่า สหรัฐฯ มีแผนที่จะเปิดฉากการเจรจากับรัฐบาลใหม่ของพม่า โดยสหรัฐฯ บอกว่า กำลังเตรียมที่จะปรับความสัมพันธ์กับพม่าใหม่ ซึ่งพม่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่าผิดหวังว่า รัฐบาลใหม่ไม่ได้มาจากกระบวนการทางการเมืองที่มีความชอบธรรม แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีแผนที่จะปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่นี้

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือ บทบาทของ ออง ซาน ซูจี ในอนาคต ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่า นางจะมีบทบาทต่อไปอย่างไรในสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป การที่รัฐบาลทหารพม่ายอมปล่อยตัวนางออกมา ก็เพราะรัฐบาลมองว่า นางจะไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกต่อไป

ถึงแม้ว่า ซูจี จะตอกย้ำว่า จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป แต่ก็มีคำถามหลายคำถามว่า นางจะทำได้หรือไม่ โดย ซูจี ได้บอกว่า มีแผนที่จะหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ กว่า 30 พรรค แต่พรรคการเมืองเหล่านี้ก็กำลังระมัดระวังไม่อยากจะเป็นศัตรูกับรัฐบาลทหารพม่า จึงอาจจะไม่อยากเป็นพันธมิตรกับพรรค NLD ของซูจี ซึ่งขณะนี้ก็เป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย

มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าคงจะจับตามองความเคลื่อนไหวของ ซูจี อย่างใกล้ชิด และคงจะไม่ปล่อยให้นางมีอิสระเสรีภาพที่นางจะทำอะไรได้อย่างเต็มที่ อย่าลืมว่า การปล่อยตัวนางซูจี ครั้งนี้ไม่ใช่เป้นครั้งแรก ซูจี ถูกกักบริเวณครั้งแรกในปี 1989 และในปี 1995 ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่พอมาถึงปี 2000 ก็ถูกกักบริเวณอีก ปี 2002 ได้รับการปล่อยตัว แต่ปี 2003 ก็ถูกกักบริเวณอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จึงเป็นการถูกปล่อยตัวครั้งที่ 3 ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันว่านางจะไม่ถูกจับกุมและถูกกักบริเวณอีกในอนาคต

ดังนั้น การปล่อยตัวนางซูจี ในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากมายอะไรนักต่อการเมืองพม่า มีบางคนเปรียบเทียบซูจี กับ Nelson Mandela ในกรณีของ Mandela ถูกจำคุกอยู่ 27 ปี หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแอฟริกาใต้ และ Mandela ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ในกรณีของซูจี คงจะเป็นไปได้ยากที่จะเป็นเหมือน Mandela หรือที่เรียกว่า “Mandela Moment” ทั้งนี้เพราะรัฐบาลทหารพม่าคงจะไม่ยอมสูญเสียอำนาจไปง่ายๆ

ไม่มีความคิดเห็น: