Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

NATO กับยุทธศาสตร์ใหม่ : Strategic Concept

NATO กับยุทธศาสตร์ใหม่ : Strategic Concept
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดนาโต้ ครั้งล่าสุด ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการจัดทำเอกสารยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ ที่เรียกว่า Strategic Concept คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว โดยเน้นวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ ดังนี้

การประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง
ในเอกสาร Strategic Concept ได้วิเคราะห์ประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง ดังนี้

• ในปัจจุบัน ภูมิภาคยุโรปมีสันติภาพและภัยคุกคามจากการโจมตีอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ภูมิภาคในโลก ยังมีการสะสมเพิ่มกำลังทางทหาร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค ทั้งนี้รวมถึงการแพร่ขยายของการพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญของภูมิภาค

• การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธร้ายแรงอื่นๆ ก็เป็นภัยคุกคามสำคัญ

• การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของนาโต้ โดยกลุ่มก่อการร้ายได้แพร่ขยายเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อนาโต้ และถ้าหากผู้ก่อการร้ายสามารถมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในความครอบครอง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

• ความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของนาโต้ได้ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะการค้าอาวุธ การค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์

• ภัยคุกคามในอินเตอร์เน็ตเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ โดยการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคได้

• สมาชิกนาโต้บางประเทศ ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายการส่งพลังงาน ดังนั้นความมั่นคงทางพลังงานจึงเป็นประเด็นสำคัญ

collective defense
ในเอกสาร Strategic Concept ได้แบ่งภารกิจของนาโต้เป็น 3 ด้าน ด้านที่หนึ่งเรียกว่า collective defense หรือการป้องกันร่วมกัน ด้านที่สองคือ crisis management หรือการจัดการกับวิกฤติการณ์ และด้านที่สามคือ cooperative security หรือความมั่นคงร่วมกัน

สำหรับภารกิจแรกคือ collective defense นั้น นาโต้จะป้องปรามและป้องกันต่อภัยคุกคาม โดยความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของนาโต้คือ การป้องกันสมาชิกจากการถูกโจมตี โดยยุทธศาสตร์หลักที่จะใช้ คือ การป้องปราม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า deterrence ซึ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างการป้องปรามด้วยอาวุธธรรมดาและการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะมีการปฏิบัติการร่วมในลักษณะการป้องกันร่วม หรือ collective defense โดยนาโต้จะเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ การป้องกันภัยคุกคามจากอาวุธร้ายแรง การป้องกันการโจมตีในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต พัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีจากผู้ก่อการร้าย รวมถึงความสามารถในความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเครือข่ายด้านพลังงาน

crisis management
ภารกิจที่สองของนาโต้คือ การจัดการวิกฤติการณ์ ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ นาโต้จึงมีภารกิจที่จะเข้าไปป้องกันวิกฤติการณ์และความขัดแย้ง จัดการวิกฤติการณ์ และส่งเสริมฟื้นฟู บูรณะหลังความขัดแย้ง นาโต้มีขีดความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง โดยมีความสามรถในการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในบริเวณที่มีความขัดแย้ง

cooperative security
ภารกิจที่สามของนาโต้คือ การสร้างความมั่นคงร่วมกัน โดยนาโต้จะเน้นความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศ ควบคุมอาวุธและป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธ ซึ่งรวมถึงอาวุธธรรมดาและอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง

สำหรับในกรณีของสมาชิกภาพนั้น นาโต้มีนโยบายที่จะเปิดกว้าง สำหรับประเทศในยุโรปที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคต นอกจากนี้ นาโต้จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลก

นาโต้จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับยูเครนและจอร์เจีย นอกจากนี้ จะส่งเสริมบูรณาการกับประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ Mediterranean Dialogue ซึ่งจะเปิดกว้างสำหรับประเทศสมาชิก ซึ่งก็คือประเทศรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

บทวิเคราะห์
• จากการวิเคราะห์เอกสาร Strategic Concept ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้นั้น จะเห็นได้ว่า นาโต้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในการที่จะเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดในโลก

• Global NATO : อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เอกสารให้ดี จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของเอกสารชี้ให้เห็นว่า นาโต้กำลังถอยหลัง ซึ่งมีหลายเรื่องด้วยกันที่เป็นความล้มเหลว

เรื่องแรกคือ ความล้มเหลวในเรื่อง Global NATO คือ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดคราวนี้ ในช่วงต้นปี ได้มีการผลักดันแนวคิดเรื่อง Global NATO คือ การขยายขอบเขตของนาโต้ให้ครอบคลุมทั่วโลก โดยจะไม่เน้นจัดการความมั่นคงในยุโรปเหมือนในอดีตอีกต่อไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่บทบาทของนาโต้ได้ขยายออกไปเรื่อยๆ จนขอบข่ายการปฏิบัติการของนาโต้ได้ขยายไปทั่วโลก นาโต้มีกองกำลังทหารในหลายทวีป มีเรือรบของนาโต้จัดการกับปัญหาโจรสลัดในทะเลนอกฝั่งโซมาเลีย นาโต้ได้เข้าไปมีบทบาทในการฝึกทหารของอิรัก และมีกองกำลังนาโต้ในอัฟกานิสถานเกือบ 10,000 คน นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังนาโต้ในดาร์ฟูร์ของซูดานด้วย

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของนาโต้ เกิดขึ้นในสงครามอัฟกานิสถาน โดยสหรัฐฯ ได้ดึงนาโต้เข้าไปในสงครามอัฟกานิสถาน แต่สงครามกลับยืดเยื้อ สหรัฐฯ ต้องการให้นาโต้เพิ่มกำลังทางทหารเข้าไป แต่หลายประเทศในยุโรปไม่เห็นด้วย จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ และหลายประเทศมีท่าทีอยากจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ดังนั้น ความล้มเหลวครั้งใหญ่ในอัฟกานิสถานของนาโต้ จึงทำให้แนวคิดเรื่อง Global NATO สะดุดหยุดลง หลายประเทศสมาชิกมองว่า นาโต้ควรจะกลับมาสู่ภารกิจเดิมคือ เน้นความมั่นคงในยุโรป จึงเห็นได้ว่า ในเอกสาร Strategic Concept นี้ จึงได้ละทิ้งคำว่า Global NATO และขอบข่ายภารกิจก็จำกัดลง โดยกลับมาเน้นที่ยุโรป สำหรับภูมิภาคอื่น ก็เพียงแต่พูดกว้างๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจง

• สมาชิกใหม่ : ความล้มเหลวของนาโต้อีกประการคือ การขยายจำนวนสมาชิกใหม่ สหรัฐฯ ต้องการให้นาโต้ขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต คาบสมุทรบอลข่าน และเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย สหรัฐฯ และนาโต้ สนับสนุนการประกาศเอกสารของโคโซโว และมีแนวโน้มจะเชิญบอสเนีย มาเซโดเนีย และมอนเตเนโกร เป็นสมาชิก นาโต้ได้ชักชวนยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัสเซียทำสงครามบุกจอร์เจียในปี 2008 สงครามรัสเซีย-จอร์เจียนี้เอง ที่ทำให้แผนการขยายจำนวนสมาชิกของนาโต้สะดุดหยุดลง ในเอกสาร Strategic Concept ก็ไม่ได้มีข้อความที่จะเอายูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิกอีก ความล้มเหลวของการเอายูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิก ถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ของนาโต้ ซึ่งจะมีผลต่อประเทศอื่นๆ ที่อยากจะเข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคต

• รัสเซีย : ตัวแสดงสำคัญในยุทธศาสตร์ของนาโต้นั้นคือ รัสเซีย จริงๆ แล้วสหรัฐฯ มีวาระซ่อนเร้น ที่จะใช้นาโต้ในการครองความเป็นเจ้า ทั้งในทวีปยุโรป และในระดับโลก วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ คือใช้นาโต้เพื่อปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย สำหรับรัสเซียก็เหมือนกับจะรู้ทันสหรัฐฯ โดยมองว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียโดยใช้นาโต้เป็นเครื่องมือ ดังนั้น ความขัดแย้งหลักในยุโรปในอนาคต จะเป็นความขัดแย้งระหว่างนาโต้ ซึ่งมีสหรัฐฯ ชักใยอยู่เบื้องหลัง กับรัสเซีย

ไม่มีความคิดเห็น: