สงครามเกาหลี ?
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2553
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ในคาบสมุทรเกาหลี โดยทางเกาหลีเหนือได้ยิงถล่มเกาะที่อยู่ในเขตเกาหลีใต้ และได้เกิดการยิงตอบโต้กันขึ้น การปะทะกันครั้งนี้ จึงมีคำถามว่า จะนำไปสู่การเกิดสงครามเกาหลีภาค 2 หรือไม่ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ สาเหตุและปัจจัยของการปะทะ รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มว่า สถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามครั้งใหม่ได้หรือไม่
เหตุการณ์การปะทะ
เหตุการณ์การปะทะกันครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยทางเกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ไปที่เกาะ Yeonpyeong โดยกระสุนปืนใหญ่กว่า 50 นัด ได้โจมตีเป้าหมายฐานทัพทหารของเกาหลีใต้รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนบนเกาะ ส่วนทางฝ่ายเกาหลีใต้ได้ยิงปืนใหญ่ตอบโต้กลับไปกว่า 80 นัด การยิงต่อสู้กันประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงเมื่อปี 1953 ที่เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่เข้าสู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือน ปรากฏว่า มีชาวเกาหลีใต้เสียชีวิต 4 คน เป็นทหาร 2 คน และเป็นพลเรือน 2 คน
ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม ได้เกิดวิกฤติมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยในครั้งนั้น เรือรบของเกาหลีใต้ชื่อ Cheonan ได้ถูกระเบิดตอร์ปิโดจมลง มีลูกเรือเสียชีวิต 46 คน เกาหลีใต้เชื่อว่า เป็นฝีมือของเกาหลีเหนือ
ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ
หลังเหตุการณ์ได้มีปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้
รองโฆษกทำเนียบขาว ได้แถลงว่า ประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐฯ จะปกป้องพันธมิตรคือ เกาหลีใต้ ต่อมา ทางทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติการกระทำที่ก้าวร้าว และขอให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงสงบศึกของปี 1953 ทำเนียบขาวมองว่า การกระทำครั้งนี้ของเกาหลีเหนือก้าวร้าวมาก และสหรัฐฯ จะทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องเกาหลีใต้
หลังจากนั้น โอบามาได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า สหรัฐฯ ขอประณามการโจมตีของเกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ กำลังพยายามแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมระหว่างประเทศเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ
โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวออกมาในทำนองเดียวกัน และบอกว่า สหรัฐฯ กำลังหารือกับเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เพื่อหามาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือ
ต่อมา สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington เดินทางมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีใต้ และเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จึงไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับกองกำลังทหารของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ที่มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน
สำหรับญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี Naoto Kan ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในภาวะฉุกเฉินว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์วิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตือนถึงอันตรายของเหตุการณ์ในครั้งนี้ และประณามการกระทำของเกาหลีเหนือ ซึ่ง EU และอังกฤษก็ได้ประณามเกาหลีเหนือด้วย สำหรับทางฝรั่งเศสได้มีข่าวออกมาว่า กำลังผลักดันให้มีการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงด่วน เพื่อพิจารณาวิกฤติการณ์ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะมีบทบาทสำคัญในการกดดันเกาหลีเหนือคือ จีน แต่ท่าทีของจีนกลับออกมาในลักษณะที่ไม่ประณามเกาหลีเหนือ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนได้กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศคือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ควรจะแสวงหาสันติภาพ และบอกว่า ขณะนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้มีการเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว
ในอดีต จีนปกป้องเกาหลีเหนือมาโดยตลอด และผู้นำเกาหลีเหนือก็ขอความช่วยเหลือจากจีนมาโดยตลอด สำหรับจีนนั้นมองเกาหลีเหนือว่าเป็นรัฐกันชนเกาหลีใต้และกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะหลังจากที่เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2006 จีนแสดงความไม่พอใจ ด้วยการลงคะแนนเสียงสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือในคณะมนตรีความมั่นคง ดังนั้น ในขณะนี้ จึงไม่มีความชัดเจนว่า จีนจะมีอิทธิพลในการกดดันเกาหลีเหนือมากน้อยแค่ไหน
แต่สำหรับสหรัฐฯ แล้ว ก็มองว่า จีนเป็นกุญแจสำคัญ ทางโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จึงได้แถลงว่า สหรัฐฯ ต้องการให้จีนร่วมมือในการส่งสัญญาณให้เกาหลีเหนือเห็นว่า การโจมตีเกาหลีใต้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และควรหยุดการกระทำดังกล่าว สหรัฐฯ เห็นว่า จีนจะมีบทบาทสำคัญในการกดดันเกาหลีเหนือ และกดดันให้เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน
สาเหตุและปัจจัย
สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมเกาหลีเหนือจึงโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ ผมอยากจะแบ่งสาเหตุและปัจจัยออกเป็น ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
• ปัจจัยภายใน
ปัจจัยที่สำคัญที่นำไปสู่การโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนผ่านผู้นำของเกาหลีเหนือ จาก Kim Jong-il เป็น Kim Jong-un ซึ่งเป็นลูกชาย โดย Kim Jong-il ขณะนี้ มีสุขภาพไม่ดีและกำลังจะให้ Kim Jong-un ขึ้นมาเป็นผู้นำเกาหลีเหนือแทน ในเดือนกันยายน ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ Kim Jong-un ได้รับตำแหน่งสำคัญในพรรค จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์จมเรือรบเกาหลีใต้ ในเดือนมีนาคม และการโจมตีเกาหลีใต้ครั้งล่าสุด น่าจะเป็นเพราะ ต้องการแสดงให้เห็นว่า Kim Jong-un นั้นมีความสามารถพอที่จะเป็นผู้นำคนใหม่ ทั้งนี้ น่าจะเป็นความพยายามที่จะแสดงให้ฝ่ายทหารเกาหลีเหนือเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของ Kim Jong-un ทหารเกาหลีเหนือกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้อาจจะเป็นการกระทำของฝ่ายทหาร โดยอาจจะไม่ได้ปรึกษากับทางผู้นำเกาหลีเหนือ
• ปัจจัยภายนอก
แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ และเกาหลีเหนือได้ใช้วิธีนี้มาหลายครั้งแล้ว คือ การทำความก้าวร้าวเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และเพื่อเรียกร้องความสนใจ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ
การเจรจา 6 ฝ่าย ซึ่งได้หยุดชะงักมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2009 สาเหตุมาจากการที่เกาหลีเหนือไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในปี 2005 ที่เกาหลีเหนือจะต้องยอมยุติและปลดอาวุธนิวเคลียร์ ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรพยายามตั้งเงื่อนไขว่า การเจรจา 6 ฝ่ายจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือยอมที่จะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ของตน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ปฏิเสธมาโดยตลอด และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เกาหลีเหนือได้เปิดเผยถึงโรงงานนิวเคลียร์ผลิตแร่ยูเรเนียมให้กับนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ Stephen Bosworth ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ในการเจรจากับเกาหลีเหนือถึงกับกล่าวว่า สหรัฐฯ คงจะไม่เจรจากับเกาหลีเหนือหากยังมีโครงการนิวเคลียร์อยู่ ซึ่งน่าจะทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจเป็นอย่างมาก และอาจนำไปสู่การโจมตีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ เพื่อกดดันให้สหรัฐฯ กลับมาเจรจา 6 ฝ่าย กับเกาหลีเหนือใหม่
นอกจากนี้ เกาหลีเหนืออาจต้องการเจรจา 6 ฝ่ายในรอบใหม่ เพราะเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ และต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
และสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการเป็นอย่างมากคือ การเจรจา 2 ฝ่ายกับสหรัฐฯ เกาหลีเหนือต้องการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ตั้งเงื่อนไขมาตลอดว่า จะไม่จอมเจรจาหากเกาหลีเหนือไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์
แนวโน้ม : สงครามเกาหลี ?
ดังนั้นคำถามสำคัญคือ ความขัดแย้งในครั้งนี้จะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามเกาหลีครั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผมคือ สงครามเกาหลีครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็รู้ดีว่า หากเกิดสงครามขึ้น ทั้ง 2 ประเทศก็จะประสบกับหายนะ โดยชาวเกาหลีใต้กว่าครึ่ง อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับพรมแดนเกาหลีเหนือ ซึ่งหากเกิดสงคราม เกาหลีเหนือซึ่งมีจรวดขีปนาวุธกว่า 12,000 ลูก ก็สามารถยิ่งถล่มเกาหลีใต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะกรุงโซล ซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนเกาหลีเหนือมาก สำหรับเกาหลีเหนือ หากเกิดสงครามกับเกาหลีใต้ สหรัฐฯ ก็คงจะใช้กำลังทหารโดยเฉพาะการทิ้งระเบิดและขีปนาวุธถล่มเกาหลีเหนือ ซึ่งก็คงจะทำให้เกาหลีเหนือแหลกลาญไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นสงครามจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลียังคงจะยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้เพราะ การเจรจาต่อรองไม่สามารถหาสูตรที่ลงตัวได้ คือ เกาหลีเหนือต้องการเจรจา แต่สหรัฐฯ ก็ตั้งเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ไม่มีทางจะยอม ดังนั้นวิกฤติในคาบสมุทรเกาหลีคงจะมีต่อไป ตราบใดที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนท่าที โดยมีความเป็นไปได้ว่า ขั้นต่อไปของเกาหลีเหนืออาจจะเป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 หรือการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจมีการโจมตีเกาหลีใต้อีก โดยเกาหลีเหนือคงจะพยายามกดดันสหรัฐฯ ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้กลับมาเจรจาให้ได้
ผมมองว่า ทางออกปัญหาเกาหลีเหนือ อยู่ที่สหรัฐฯ จะต้องปรับเปลี่ยนท่าที โดยสหรัฐฯ จะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เกาหลีเหนือคงจะไม่มีทางยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตน เพราะการมีอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเกาหลีเหนือ และจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะจากการถูกโจมตีจากสหรัฐฯ ดังนั้นสหรัฐฯ ควรเปลี่ยนเป้าหมายการเจรจาใหม่ โดยเปลี่ยนจากการที่จะให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมันสายไปแล้ว มาเป็นเป้าหมายไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติม หรือส่งออกอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ควรยอมเจรจา 2 ฝ่ายกับเกาหลีเหนือ แทนที่จะยืนกรานเจรจา 6 ฝ่าย และสหรัฐฯ ควรจะยอมเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ และให้หลักประกันความมั่นคงว่าจะไม่โจมตี และโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ ทั้งนี้เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือจะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และยุติการส่งออกอาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น