Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden (ตอนจบ)

การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 – วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2554

การเสียชีวิตของ Osama Bin Laden ได้นำไปสู่คำถามสำคัญ คือ หลังจากนี้ไป สถานการณ์การก่อการร้ายสากลจะเป็นอย่างไร คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ภูมิหลังและแนวโน้มในมิติที่ 1 คือ องค์กร al-Qaeda ดั้งเดิมที่เป็นแกนกลางของการก่อการร้าย ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ในมิติที่ 2-5 และข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบบบูรณาการ ดังนี้

แนวโน้ม (ต่อ)

สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอนาคต อาจวิเคราะห์ได้เป็น 5 มิติด้วยกัน โดยมิติที่ 1 คือ บทบาทขององค์กร al-Qaeda โดยตรง ซึ่งได้วิเคราะห์ไปแล้ว ตอนนี้จะมาวิเคราะห์ต่อในมิติที่เหลือ

• มิติที่ 2 : แนวร่วม al-Qaeda ในปากีสถานและอัฟกานิสถาน

แนวโน้มของการก่อการร้ายสากลในอนาคตในยุคหลัง Bin Laden มิติที่ 2 คือ เครือข่ายการก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda ในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน โดยกลุ่มที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มนักรบ Taliban สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ นักรบ Taliban และ al-Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหญ่อยู่บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน นักรบ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้ และสหรัฐฯกำลังตกที่นั่งลำบาก ฝ่าย Taliban เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐบาล นาย Karzai ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ พันธมิตรนาโต้ก็แตกแยก หลายประเทศต้องการถอนทหารกลับ

สำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน ก็ทรุดหนักเช่นเดียวกัน ปากีสถาน กำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ปากีสถานเป็นแหล่งซ่องสุมสำคัญของทั้ง al-Qaeda และ Taliban และนักรบ Taliban ในปากีสถาน ได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ


• มิติที่ 3 : แนวร่วมของ al-Qaeda ในโลกมุสลิม

นอกจากกลุ่ม Taliban ในอัฟกานิสถาน และอัฟกานิสถานแล้ว ยังมีกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda ในโลกมุสลิมอยู่อีกมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดมีจุดร่วมกัน คือ อุดมการณ์ในการทำสงครามศาสนา หรือ Jihad กับสหรัฐฯและตะวันตก กลุ่มที่สำคัญๆ มีดังนี้

- กลุ่ม al-Qaeda in the Arabian Peninsula ซึ่งกลุ่มนี้เน้นโจมตีรัฐบาลเยเมน และซาอุดิอาระเบีย
- กลุ่ม al-Shabaab เป็นกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลีย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ al-Qaeda ได้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้และตอนกลางของโซมาเลีย
- กลุ่ม al-Qaeda in the Islamic Maghreb เป็นกลุ่มก่อการร้ายทางตอนเหนือของอัฟริกา มีฐานที่มั่นอยู่ในอัลจีเรีย เป็นพันธมิตรกับ al-Qaeda และได้ร่วมมือกับ al-Qaeda ในการก่อการร้ายทั้งในอัลจีเรีย มาลี ไนเจอร์ ตูนีเซีย โมร็อกโก และ มอริเตเนีย โดยกลุ่มก่อการร้ายจากโมร็อกโก เป็นกลุ่มที่วางระเบิดสถานีรถไฟในกรุงมาดริด เมื่อปี 2004
- กลุ่ม Lashkar e-Tayyiba เป็นกลุ่มก่อการร้ายในอินเดียและปากีสถาน มีบทบาทสำคัญในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ปี 2008 เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda โดย Hafiz Mohammad Saeed ผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ ได้ช่วย Bin Laden ในการก่อตั้งองค์กร al-Qaeda ในปี 1988
- กลุ่ม al-Qaeda in Iraq ถึงแม้จะมีบทบาทลดลง แต่ก็ยังคงมีการก่อวินาศกรรมเป็นระยะๆในอิรัก
- กลุ่ม Jemaah Islamiah หรือ JI มีฐานที่มั่นอยู่ในอินโดนีเซีย มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ al-Qaeda กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีบทบาทมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิกอยู่ในหลายประเทศ ทั้งใน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย JI มีบทบาทสำคัญในการวางระเบิดที่เกาะบาหลีในปี 2002 มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน
- กลุ่ม Abu Sayyaf มีฐานที่มั่นอยู่ที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เชื่อมโยงกับเครือข่าย al-Qaeda และมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลฟิลิปปินส์

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างขององค์กรหลักๆที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda แต่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ยังมีองค์กรก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda กระจายอยู่ในที่ต่างๆทั่วโลกอีกมากมาย

• มิติที่ 4 : กลุ่มก่อการร้ายในระดับท้องถิ่น

กลุ่มก่อการร้ายในมิตินี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า home-grown terrorist เป็นผู้ก่อการร้ายในระดับท้องถิ่น แต่มีแนวร่วมกับ al-Qaeda ซึ่งในขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในสหรัฐฯและยุโรป ตัวอย่างเช่น การก่อวินาศกรรมในลอนดอน เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายเชื้อสายปากีสถานที่เกิดในอังกฤษ และมีผู้ก่อการร้ายสัญชาติอเมริกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การก่อวินาศกรรมที่ Fort Hood และเมื่อเร็วๆนี้ มีชาวอเมริกัน 3 คน ได้ไปฝึกการก่อการร้ายกับ al-Qaeda ในปากีสถาน และได้วางแผนจะระเบิดฆ่าตัวตายในรถไฟใต้ดินของนครนิวยอร์ค แต่รัฐบาลสหรัฐฯป้องกันไว้ได้ก่อน

• มิติที่ 5 : อุดมการณ์ของ al-Qaeda

มิติสุดท้าย คือ อุดมการณ์ของ al-Qaeda ที่ต้องการทำสงครามศาสนา หรือ Jihad ต่อต้านตะวันตก ขณะนี้ อุดมการณ์ดังกล่าวได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม ถึงแม้จะมีชาวมุสลิมเป็นจำนวนน้อยที่เลื่อมใสในอุดมการณ์ดังกล่าว แต่คนจำนวนนี้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมาก หากก่อวินาศกรรมที่ส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ข้อเสนอการแก้ปัญหาการก่อการร้ายแบบบูรณาการ

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ได้ดำเนินมาเกือบ 10 ปีแล้ว และไม่ประสบความสำเร็จ ในสมัยรัฐบาล Bush ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังเป็นหลัก โดยไม่ได้แก้ที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง จึงทำให้สถานการณ์บานปลาย เข้าทำนอง ยิ่งปราบ ยิ่งเพิ่ม ในสมัยรัฐบาล Obama ในตอนแรก ก็ดูว่า Obama จะปฏิรูปยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาใหม่ โดยจะไม่เน้นการใช้กำลัง และจะแก้ปัญหาโดยเน้นที่รากเหง้าของปัญหา แต่หลังจากบริหารประเทศมาได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง นโยบายของ Obama ก็กำลังจะเหมือนกับนโยบายของ Bush มากขึ้นทุกที ในระยะหลัง Obama หันมาให้ความสำคัญกับการใช้กำลัง โดยเฉพาะการสังหาร Bin Laden เห็นได้ชัดว่า Obama ได้ละทิ้งแนวทางของตนที่ได้เคยประกาศไว้ว่า จะแก้ที่รากเหง้าของปัญหา ดังนั้น จึงเป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ยุทธศาสตร์ของ Obama ในที่สุดก็กลับมาเหมือนกับยุทธศาสตร์ของ Bush

ผมขอเสนอว่า จะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการก่อการร้ายใหม่ โดยจะต้องเป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ เน้นการแก้ที่รากเหง้าของปัญหา และจะเป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาที่มีทั้งการแก้ปัญหาในเชิงลบโดยการใช้กำลัง และการแก้ปัญหาในเชิงบวก โดยเน้นแก้ที่รากเหง้าของปัญหา ควบคู่กันไป ซึ่งรากเหง้าของปัญหา ได้แก่ ปัญหาการปะทะกันทางอารยธรรม (clash of civilizations) ลัทธิครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ นโยบายของสหรัฐฯต่อตะวันออกกลาง โดยเฉพาะนโยบายต่อปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ และปัญหาภายในโลกมุสลิม ซึ่งรวมถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และสุดท้าย คือ การทำสงครามอุดมการณ์ เพื่อเอาชนะจิตวิญญาณของประชาชน โดยเฉพาะชาวมุสลิม


* อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หนังสือของผม เรื่อง การก่อการร้ายสากล ตีพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า ปี 2550

ไม่มีความคิดเห็น: