Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้อำนวยการ IMF คนใหม่

ผู้อำนวยการ IMF คนใหม่

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม – วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2554

หลังจากที่ Dominique Strauss-Kahn อดีตผู้อำนวยการ IMF ชาวฝรั่งเศส ได้ถูกจับกุมตัวในกรณีอื้อฉาวทางเพศ ที่นครนิวยอร์ก และต่อมาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผ.อ. IMF ไปแล้วนั้น คำถามสำคัญในขณะนี้ คือ ใครจะมาเป็น ผ.อ. IMF คนใหม่ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์เรื่องนี้ โดยจะกล่าวถึงภูมิหลัง ท่าทีของประเทศต่างๆ และตัวเต็ง ผ.อ. IMF คนใหม่ ดังนี้

ภูมิหลัง

IMF หรือ International Monetary Fund กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นสถาบันทางการเงิน และเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจโลก ที่สหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นมา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้น สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวที่ผูกขาดอำนาจในการจัดระเบียบโลก สหรัฐฯ จึงได้ใช้อำนาจดังกล่าว สร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Bretton Woods System โดยได้มีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป ในการแบ่งอำนาจในการบริหารจัดการ IMF และธนาคารโลก โดยตกลงกันว่า ผ.อ. IMF ต้องเป็นคนที่มาจากยุโรป ในขณะที่ประธานธนาคารโลกต้องเป็นอเมริกัน

นอกจากนี้ รูปแบบการตัดสินใจของ IMF ก็ไม่ใช่ 1 ประเทศ 1 เสียง แต่เป็นระบบการให้น้ำหนักการลงคะแนนเสียง โดยขึ้นอยู่กับสัดส่วนเงินที่แต่ละประเทศลงขันใน IMF ซึ่งสหรัฐฯมีเงินมากที่สุด จึงมีอำนาจลงคะแนนเสียง หรือ voting power มากที่สุด ประมาณ 20% ขณะที่ยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มของ EU รวมกันแล้วมีคะแนนเสียงถึง 30% ซึ่งการจัดสรร voting power มีลักษณะลำเอียงให้กับตะวันตกเป็นอย่างมาก ในขณะที่ ประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกและประเทศยากจน แทบจะไม่มี voting power เลย แม้ว่าในปัจจุบัน IMF จะมีสมาชิกอยู่กว่า 150 ประเทศ ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ หากสหรัฐฯจับมือร่วมกับยุโรป รวมกันก็จะได้ 50% แล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆจากประเทศกำลังพัฒนา ต่อระบบการเลือก ผ.อ. IMF และระบบการลงคะแนนเสียง แต่ตะวันตกยืนกรานที่จะไม่ยอมเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ตะวันตกจำเป็นต้องขยายวงจาก G8 เป็น G20 โดยดึงเอามหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เข้ามาร่วมในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ จึงได้ยอมอ่อนข้อลงในเรื่องการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก แต่ดูเหมือนกับเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย โดยที่ประชุม G20 ครั้งล่าสุดได้ตกลงที่จะเพิ่มอำนาจการลงคะแนนเสียงใน IMF ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอีก 5% ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับสัดส่วน GDP ของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่น จีน อินเดีย และบราซิล สำหรับเรื่องหลักการสรรหา ผ.อ. IMF ก็ยังไม่ได้มีการตกลงกันใน G20

ท่าทีของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

ดังนั้น หลังจากที่ Dominique Strauss-Kahn ได้ประกาศลาออกจาก ผ.อ. IMF กระบวนการการต่อสู้เพื่อเสนอชื่อ ผ.อ. IMF คนใหม่จึงได้เกิดขึ้นทันที โดยมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผ.อ. IMF คนใหม่ ไม่ควรเป็นคนจากยุโรป แต่ควรเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม โดยรัฐมนตรีคลังบราซิล ได้ออกมาพูดว่า หลักเกณฑ์การสรรหา น่าจะเป็นระบบคุณธรรม โดยคนที่จะมาเป็นผู้นำ IMF ควรจะได้รับเลือกจากความสามารถ ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นชาวยุโรป เช่นเดียวกับทางกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้ประกาศว่า การเลือกผู้นำ IMF ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและคุณธรรม ในขณะที่อีกหลายๆประเทศ อย่างเช่น อัฟริกาใต้ ไทย และรัสเซีย ได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผ.อ. IMF คนใหม่ น่าจะมาจากประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับบุคคลที่เป็นตัวเต็งที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา คนแรก คือ อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจของตุรกี ชื่อ Kemal Dervis ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้วิกฤติการเงินของตุรกี ในปี 2001 หลายคนมองว่า คนที่มาจากตุรกี น่าจะเป็นตัวเลือกที่เป็นการประนีประนอม เพราะตุรกีถูกมองว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ขณะเดียวกัน ตุรกีก็กำลังจะเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะทำให้ ประเทศยุโรปยอมอ่อนข้อให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นาย Dervis ได้ออกมาประกาศว่า เขาไม่สนใจตำแหน่งนี้

ดังนั้น ถัดจากนาย Dervis ไป ก็ยังมีอีก 2 คนจากเอเชีย ที่อาจจะได้รับการผลักดันให้มาแข่งกับทางฝ่ายยุโรป คนแรกเป็นชาวอินเดีย ชื่อ Montek Singh Ahluwalia ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของเขา คือ อายุ ซึ่งตอนนี้ อายุ 67 ปี ซึ่งอาจจะดูอายุเยอะเกินไปสำหรับตำแหน่งนี้

ส่วนชาวเอเชียอีกคนที่ถูกจับตามอง คือ รัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์ ชื่อ Tharman Shanmugaratnam ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีคลังมาตั้งแต่ปี 2007 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลใหม่ของสิงคโปร์ ทำให้เขาได้ออกมาเปิดเผยว่า เขาไม่สนใจในตำแหน่ง ผ.อ. IMF

ดังนั้น ดูในภาพรวมแล้ว นาย Montek Singh Ahluwalia จากอินเดีย น่าจะมีโอกาสมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการผลักดัน ผ.อ. IMF ที่ไม่ใช่คนจากยุโรป คือ เอกภาพของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ว่า จะตกลงกันที่จะสนับสนุนคนใดคนหนึ่งได้หรือไม่ ขณะนี้ เสียงก็แตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสำคัญ คือ บราซิล จีน อินเดีย อัฟริกาใต้ และรัสเซีย ยังไม่สามารถพูดเป็นเสียงเดียวกันได้ว่า จะสนับสนุนใคร ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ ผิดกับทางยุโรป ที่มีการประสานท่าที และพูดเป็นเสียงเดียวกัน ในการสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง

ท่าทีของยุโรป

สำหรับในส่วนของยุโรปนั้น เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ขณะนี้ เสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนรัฐมนตรีเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ชื่อ Christine Lagarde โดยนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ Nicholas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศสนับสนุนคนจากยุโรป เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์ สวีเดน และนายกรัฐมนตรีอิตาลี Silvio Berlusconi ก็ได้ประกาศสนับสนุน Christine Lagarde กันหมด ทำให้ดูแล้วเธอน่าจะเป็นเต็งหนึ่ง และในขณะนี้ น่าจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะเป็น ผ.อ. IMF คนใหม่ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของ Lagarde คือ ในจำนวน ผ.อ. IMF ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 11 คน เป็นชาวฝรั่งเศสถึง 4 คน นอกจากนี้ ยังมีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป และ ผ.อ. WTO อีกด้วย พูดง่ายๆ คือ มีชาวฝรั่งเศสมากเกินไปในองค์กรเศรษฐกิจโลก

ท่าทีของสหรัฐฯ : ปัจจัยชี้ขาด

แต่ในที่สุดแล้ว คนที่จะตัดสินว่า ใครจะเป็น ผอ. IMF คนใหม่ คือ สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพราะสหรัฐฯยังคงเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก มีเงินใน IMF มากที่สุด มี voting power ใน IMF มากที่สุด ถึง 20% หากสหรัฐฯจับมือกับยุโรป ก็จะได้คะแนนถึง 50% แล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯในขณะนี้ ยังคงสงวนท่าที สหรัฐฯยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการ เพียงแต่พูดเป็นหลักการว่า อยากเห็นกระบวนการเลือกสรร ผ.อ.IMF ที่เปิดกว้างและรวดเร็ว

แต่ผมมองว่า ในที่สุดแล้ว สหรัฐฯน่าจะสนับสนุนคนจากยุโรปต่อไป ทั้งนี้ เพราะสหรัฐฯยังคงต้องการผูกขาดตำแหน่งประธานธนาคารโลกให้กับคนอเมริกันต่อไป ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับยุโรปที่แบ่งสรรกันให้ยุโรปคุม IMF และสหรัฐฯคุมธนาคารโลกมาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ สหรัฐฯยังต้องการผูกขาดตำแหน่งรอง ผ.อ. IMF ซึ่งเป็นคนอเมริกันมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯได้วางตัวไว้แล้วว่าจะเป็น David Lipton อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ และตอนนี้ช่วยงานอยู่ที่ทำเนียบขาว ว่าจะให้มาเป็นรอง ผ.อ. IMF คนใหม่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่า สหรัฐฯคงจะสนับสนุนคนจากยุโรป ซึ่งน่าจะเป็น Christine Lagarde เพื่อแลกกับการที่ยุโรปจะสนับสนุนสหรัฐฯในการผูกขาดตำแหน่งประธานธนาคารโลกให้กับคนอเมริกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: