Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554

เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 18 ที่กรุง จาการ์ตา อินโดนีเซีย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ความขัดแย้ง ไทย-กัมพูชา

เรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ในเอกสารผลการประชุม ได้กล่าวว่า ที่ประชุมยินดีที่ทั้งไทยและกัมพูชา จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติด้วยการเจรจา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยการแก้ปัญหาจะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ รวมทั้งการเข้ามาปฏิสัมพันธ์จากอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ที่ประชุมยินดีที่ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงในเรื่องของเอกสารระบุอำนาจหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียที่จะส่งเข้ามาในบริเวณที่มีความขัดแย้ง

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุม 3 ฝ่าย ซึ่งเป็นการประชุมนอกรอบ มีผู้นำของอินโดนีเซีย คือ ประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono เป็นประธานการประชุม โดยมี นายกฯอภิสิทธิ์ และ Hun Sen เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้า และไม่ได้มีเอกสารผลการประชุมออกมา

สำหรับการวิเคราะห์ของผมนั้น มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

ประเด็นแรก คือ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียน ที่ในการประชุมสุดยอดได้มีการหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งของประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง ดังนั้น จึงอาจจะสรุปสั้นๆ ได้ว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ประสบความล้มเหลว รวมทั้ง การประชุม 3 ฝ่าย ก็ประสบความล้มเหลว ถึงแม้ว่า ต่อมา ในวันที่ 9 พฤษภาคม จะมีการหารือนอกรอบ ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ประเด็นสำคัญที่ติดขัดอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องการรับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่ หรือ TOR ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ไทยให้ความเห็นชอบกับ TOR ในขณะที่ฝ่ายไทย ยืนกรานว่า การส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน จะทำได้ก็ต่อเมื่อ กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ทับซ้อน และวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา

เป้าหมายของไทย คือ ไม่ต้องการให้เรื่องกลับไปที่ UNSC อีก แต่ทางกัมพูชาก็มีเป้าหมายตรงกันข้าม ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทย คือ ต้องไม่ให้เข้าทางกัมพูชา ไทยต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และต้องทำให้การประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้ แต่ขณะนี้ มีจุดล่อแหลมที่อันตราย เพราะการประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนประสบความล้มเหลว และหากความขัดแย้งลุกลามบานปลายขึ้นมาอีก ก็อาจทำให้ UNSC เข้ามายุ่งเต็มตัว ซึ่งก็จะเป็นฝันร้ายของไทย

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค

เรื่องที่ 2 ที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมสุดยอด คือ เรื่องสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยเฉพาะการกำหนดท่าทีต่อเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit หรือ EAS)

สำหรับภูมิหลังของเรื่องนี้ คือ ในอดีต อาเซียนให้ความสำคัญกับ อาเซียน+3 โดยเป้าหมายระยะยาว คือ การพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า อาเซียน+3 เป็นกรอบที่กีดกันสหรัฐฯ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯลดลง สหรัฐฯจึงได้มีท่าทีคัดค้านอาเซียน+3 ต่อมา จึงได้มีการพัฒนากรอบ East Asia Summit หรือ EAS ขึ้นมา เพื่อดึงเอามหาอำนาจเข้ามาถ่วงดุลจีน โดยอาเซียน หวังว่า EAS จะเป็นช่องทางในการดึงสหรัฐฯเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอาเซียน เพื่อที่จะทำให้สหรัฐฯลดความหวาดระแวงการรวมกลุ่มในภูมิภาค รวมทั้งการดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลจีน

ปลายปีนี้ ประธานาธิบดี Obama จะมาเข้าร่วมประชุมสุดยอด EAS เป็นครั้งแรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯคงมองว่า สหรัฐฯจะได้ประโยชน์หลายประการ อาทิ การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคได้เต็มที่ และการเป็นสมาชิกใน EAS จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า ความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 นั้น เข้มข้นกว่า EAS ดังนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ คือ การที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความร่วมมือที่เข้มข้น และพยายามเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

จากท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯทำให้อาเซียนเริ่มวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้ โดยสหรัฐฯอาจจะพยายามเข้ามาแย่งบทบาทนำใน EAS แทนอาเซียน ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จึงได้มีการหารือกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับท่าทีของอาเซียนต่อ EAS ซึ่งจากเอกสารผลการประชุม สามารถสรุปท่าทีของอาเซียนได้ ดังนี้

• EAS จะเป็นเวทีการหารือในระดับผู้นำ และจะหารือกันในประเด็นปัญหาด้านยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างๆ
• EAS จะร่วมมือกันในด้านพลังงาน การเงิน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา และด้านสาธารณสุข
• อาเซียนจะเป็นแกนกลางของ EAS
• EAS จะหารือประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งที่เป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงแบบดั้งเดิม และประเด็นปัญหาความมั่นคงแบบใหม่ๆ
• นอกจากการหารือกันในระดับผู้นำประเทศ อาจให้มีความร่วมมือในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
• จะให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนให้การสนับสนุนการประชุม EAS

จะเห็นได้ว่า ท่าทีของอาเซียนที่กล่าวข้างต้นนั้น ขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐฯทุกเรื่อง คือ สหรัฐฯไม่ต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ แต่สหรัฐฯต้องการให้มีการหารือกันอย่างเข้มข้น และมีการหารือกันในหลายระดับ ทั้งระดับผู้นำประเทศ ระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่ และให้มีคณะกรรมการหรือคณะทำงาน แต่ท่าทีของอาเซียน คือ ให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำประเทศเท่านั้น และไม่ต้องการให้ EAS พัฒนาเป็นสถาบันที่เป็นทางการ ในขณะที่สหรัฐฯต้องการตรงกันข้าม สหรัฐฯต้องการให้ EAS พัฒนาไปเป็นสถาบัน และสหรัฐฯอาจจะคิดถึงขั้นให้ EAS มีสำนักเลขาธิการต่างหากด้วย ซึ่งอาเซียนก็ตอบกลับไปว่า อาเซียนจะใช้สำนักเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่ในเรื่องนี้แทน

ส่วนในเรื่องประเด็นความร่วมมือนั้น Hillary Clinton ได้เคยประกาศแล้วว่า สหรัฐฯตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้ EAS พัฒนาเป็นองค์กรด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค (สหรัฐฯมีเอเปค เป็นองค์กรหลักด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอยู่แล้ว) โดยได้มีการประกาศว่า Obama จะมาผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางทะเล ด้านการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และด้านการรักษาสันติภาพ แต่เห็นได้ชัดจากผลการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ว่า อาเซียนไม่เห็นด้วย โดยอาเซียนได้ตอกย้ำว่า EAS จะร่วมมือกันในด้านพลังงาน การเงิน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา และด้านสาธารณสุข

อีกเรื่องที่เป็นวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ คือ การที่สหรัฐฯต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยต้องการเข้ามามีบทบาทนำใน EAS ซึ่งจะมาขัดแย้งกับท่าทีของอาเซียน ที่อาเซียนตอกย้ำมาตลอดว่า อาเซียนต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมของภูมิภาค และต้องการเป็นแกนกลางของ EAS

เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า สหรัฐฯจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อท่าทีของอาเซียนในเรื่องนี้

อาเซียนในเวทีโลก

และเรื่องสุดท้ายที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือ บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ ASEAN Community in a Global Community of Nations คือ การผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทในเวทีโลก อินโดนีเซียได้พยายามผลักดันเป็นอย่างมากในสิ่งที่เรียกว่า ASEAN beyond 2015 Initiative โดยอินโดนีเซียให้เหตุผลว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 จะทำให้อาเซียนมีบทบาทความรับผิดชอบในเวทีโลกมากขึ้น โดยในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสาระสำคัญสรุปได้ว่า ภายในปี 2022 อาเซียนจะมีท่าทีร่วมในประเด็นปัญหาของโลก โดยท่าทีของอาเซียนจะมีความเป็นเอกภาพ และจะมีการส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียนในการที่จะเข้าไปมีส่วนในการจัดการกับปัญหาของโลก โดยจะมีการระบุถึงประเด็นปัญหาของโลกร่วมกัน ประสานและร่วมมือกันในประเด็นปัญหาโลก ในเวทีพหุภาคีต่างๆ อาทิ UN

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า ตามทฤษฎีแล้ว น่าจะดีกับอาเซียน หากอาเซียนมีบทบาทในเวทีโลกได้ และมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาของโลกได้ แต่ปัญหาสำคัญ คือ ในทางปฏิบัติ อาเซียนจะมีความสามารถในการเล่นบทบาทนี้ได้หรือ ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในการเล่นบทบาทนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการผลักดันอินโดนีเซียให้กลายเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก กับบทบาทของอินโดนีเซียในฐานะสมาชิก G20 สรุปแล้ว ผมมองว่า อาเซียนไม่ควรทำเรื่องเกินตัว หลังปี 2015 อาเซียนยังมีปัญหาในการทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์อยู่มากมายหลายเรื่อง อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน บูรณาการในเชิงลึกและในเชิงกว้าง การทำให้อาเซียนกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เรื่องเหล่านี้ เป็นโจทย์และการบ้านหนักสำหรับอาเซียนในยุคหลังปี 2015 อยู่แล้ว ไทยและอาเซียน จึงไม่ควรเล่นตามเกมของอินโดนีเซีย แถลงการณ์ร่วมในการประชุมในครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะชี้ให้เห็นว่า อาเซียนจะมีบทบาทในเวทีโลก และจัดการกับปัญหาของโลกได้

ไม่มีความคิดเห็น: