Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การผงาดขึ้นมาของจีน (ตอนที่ 1)

การผงาดขึ้นมาของจีน (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 – วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2554

การผงาดขึ้นมาของจีน หรือ The Rise of China กำลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในปัจจุบันและในอนาคต คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า จะวิเคราะห์การผงาดขึ้นมาของจีน โดยในตอนที่ 1 จะวิเคราะห์พลังอำนาจแห่งชาติ ผลกระทบ เป้าหมายและพฤติกรรมของจีน และตอนหน้าจะวิเคราะห์ในส่วนสุดท้าย คือ การวิเคราะห์จุดอ่อนของจีน

พลังอำนาจแห่งชาติ

• อำนาจทางเศรษฐกิจ
จุดเด่นที่สุดของการผงาดขึ้นมาของจีน คือ ทางด้านเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจของจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน จีนได้ขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ โดยที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงมาก คือ เกินกว่า 10% ทุกปี ดังนั้น หากจีนสามารถรักษาอัตรานี้ต่อไปได้ ภายในประมาณปี 2025 เศรษฐกิจของจีนน่าจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ตัวเลขและสถิติต่างๆทางด้านเศรษฐกิจ มีแนวโน้มว่า จีนจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าสหรัฐฯไปในหลายๆเรื่อง ตัวอย่างเช่น

- ขณะนี้ จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐฯ
- จีนมีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลก ประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญ
- ในด้านการลงทุน จีนเป็นประเทศที่มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด
- จีนมีเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากที่สุดในโลก ประมาณ 240,000 ล้านเหรียญ
- จีนเป็นประเทศที่มีคนใช้ internet มากที่สุดในโลก ประมาณ 200 ล้านคน
- จีนเป็นตลาดอันดับ 1 ของสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ มากมาย
- จีนมีแนวโน้มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
- จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก และขณะนี้ จีนมีนโยบายในเชิงรุกเป็นอย่างมากในการลงทุนแสวงหาแหล่งพลังงานจากทั่วโลก
- ทางด้านเทคโนโลยี จีนไล่ตามสหรัฐฯมาติดๆ โดยเฉพาะเรื่อง R & D ในอนาคต จีนจะไล่ทันอเมริกาในเทคโนโลยีหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านไฮเทค
นอกจากนี้ ในปีนี้ จีนได้เปิดเผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ข้างหน้า โดยจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 7 สาขา ซึ่งจีนต้องการเป็นผู้นำโลก อาทิ สาขาพลังงานทางเลือก เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ รถยนต์พลังงานทางเลือก และเทคโนโลยีพลังงานใหม่ เป็นต้น โดยรัฐบาลจีน ตั้งงบประมาณไว้ถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยตั้งเป้าในปี 2020 อุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของ GDP ของจีน ในปี 2020 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจมูลค่าถึง 25 ล้านล้านเหรียญ โดยสัดส่วนของอุตสาหกรรมใหม่จะมีมูลค่า 3.75 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะมีสัดส่วนเท่ากับ GDP ของประเทศเยอรมนีทีเดียว นอกจากนี้ จีนยังตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ถึงปีละ 40 ล้านคัน

• อำนาจทางทหาร

จุดแข็งที่สุดของจีน คือ อำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้อำนาจทางทหารของจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจีนได้ทุ่มงบประมาณทางทหารเพิ่มมากขึ้นทุกปี และได้เสริมสร้างสมรรถนะภาพทางทหารในทุกๆด้าน ถึงแม้ว่า เม็ดเงินงบทหารของจีนจะยังคงน้อยกว่าสหรัฐฯอยู่มาก แต่แนวโน้ม คือ จีนได้เพิ่มงบทหารเกือบ 20% ทุกปี ซึ่งจะทำให้ในอนาคต งบประมาณทางทหารของจีนจะขยับเข้าใกล้สหรัฐฯมากขึ้นทุกที ผลที่เด่นชัด คือ การผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทหารในเอเชียตะวันออกของจีน แม้จีนจะยังไม่สามารถแข่งกับสหรัฐในระดับโลกได้ แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อีกไม่นาน จีนจะท้าทายอำนาจทางทหารของสหรัฐฯได้

• อำนาจทางวัฒนธรรม

ผมมองว่า ถึงแม้จีนจะแข่งกับสหรัฐฯทางด้านวัฒนธรรมด้วย แต่ยังถือเป็นจุดอ่อนของจีน จีนพยายามแข่งกับสหรัฐฯในการเสนอตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีน ที่เรียกว่า ฉันทามติปักกิ่ง แข่งกับ ฉันทามติวอชิงตัน แต่โดยรวมแล้ว จีนยังไม่สามารถแข่งกับสหรัฐฯได้ ซึ่งผมจะวิเคราะห์ต่อในตอนหน้า ผมขอย้ำว่า อำนาจทางวัฒนธรรมถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของจีน

ผลกระทบ

ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนนั้น มาแรงมาก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ในอนาคต จีนคงจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คำถามสำคัญ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลก เป้าหมายที่แท้จริงของจีนคืออะไร จีนต้องการจะครองโลกหรือไม่ ระเบียบโลกขณะนี้ ยังเป็นระเบียบโลกของตะวันตกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ในอนาคต เมื่อจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จีนจะท้าทายระเบียบโลกของสหรัฐฯหรือไม่ และระเบียบโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจะมีลักษณะของความขัดแย้งกัน ระหว่างระเบียบโลกของตะวันตกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ แต่ก็มีจีนที่จะเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในโลก แล้วประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุด จะยอมเป็นรองประเทศที่มีอำนาจน้อยกว่าได้อย่างไร คำถามเหล่านี้ ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ซึ่งคงเป็นเครื่องหมายคำถามอันใหญ่สำหรับโลกในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามวิเคราะห์และหาคำตอบบางส่วน แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนและได้ข้อสรุปก็ตาม

• เป้าหมายและพฤติกรรมของจีน

ยังไม่มีใครรู้แน่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของจีนคืออะไร จีนจะเป็นอย่างที่จีนประกาศ คือ การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise หรือจีนจะแข็งกร้าวและต้องการครอบงำโลก ดังนั้น เราจึงยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องเป้าหมายของจีน แต่ที่เราจะสามารถดูได้ คือ ดูได้จากพฤติกรรมของจีน ซึ่งเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในปีที่แล้วว่า พฤติกรรมของจีนมีลักษณะของความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมก้มหัวให้ใครอีกต่อไป และมีลักษณะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างของพฤติกรรมของจีนในปีที่แล้ว ที่แสดงให้เห็นความแข็งกร้าวของจีน ได้แก่

- การที่บริษัท Google ได้ประกาศถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่า ถูกรัฐบาลจีนล้วงข้อมูลและเซ็นเซอร์
- จีนได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงจากการที่สหรัฐฯประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน
- หลังจากที่ Obama พบกับดาไลลามะที่ทำเนียบขาว จีนได้โจมตี Obama อย่างรุนแรง
- จีนไม่ยอมสหรัฐฯที่บีบให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน
- จีนขัดแย้งกับสหรัฐฯและตะวันตกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องพม่า เรื่องเกาหลีเหนือ
- จีนได้ต่อต้านและประท้วงการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน ชื่อ Liu Xiaobo
- ความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้ปะทุขึ้นมา โดยมีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในปัญหานี้ รวมทั้ง จีน สหรัฐฯ และประเทศอาเซียน
- จีนยังได้ขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆอีก เช่นในกรณีขัดแย้งกับญี่ปุ่น เรื่อง เกาะเตียวหยู หรือ เซนซากุ และขัดแย้งกับอินเดียในเรื่องปัญหาเรื่องพรมแดน
- จีนได้ดำเนินโยบายต่างประเทศในเชิงรุก โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับบทบาทของจีนในเอเชียใต้ก็เพิ่มขึ้น โดยจีนได้ให้ความช่วยเหลือต่อศรีลังกา ขยายบทบาทกองทัพเรือในมหาสมุทรอินเดีย สร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งที่พม่าและปากีสถาน และให้ความช่วยเหลือทางด้านนิวเคลียร์ต่อปากีสถาน สำหรับในทวีปอื่นๆ จีนก็ขยายความสัมพันธ์อย่างรวดเร็วในทวีปอัฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

(โปรดอ่านต่อ ตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า ซึ่งจะเน้นวิเคราะห์จุดอ่อนของจีนในการผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก)

ไม่มีความคิดเห็น: