Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011

ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 – วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2554

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีการประชุม Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ สุนทรพจน์ดังกล่าว เป็นการประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯล่าสุดต่อเอเชีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม

ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Gates ได้กล่าวตอกย้ำว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในฐานะเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก จะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยสหรัฐฯกับเอเชีย ในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเชื่อมต่อเข้าหากันมากขึ้น และด้วยแนวโน้มนี้ จะทำให้สหรัฐฯต้องคงยุทธศาสตร์กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร ปฏิสัมพันธ์ทางทหาร และดำเนินยุทธศาสตร์การป้องปรามในภูมิภาค

ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯในเอเชีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก Gates ได้กล่าวว่า เขาสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขณะนี้ ประเทศต่างๆในภูมิภาค ต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ

Gates ได้กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ในเอเชีย จะตั้งอยู่บนหลักการ ดังต่อไปนี้

- การค้าเสรีและเปิดกว้าง
- ระเบียบระหว่างประเทศที่เน้นสิทธิและความรับผิดชอบของประเทศต่างๆ และหลักนิติธรรม
- การเข้าถึงอย่างเปิดกว้างต่อพื้นที่สาธารณะ ทั้งทางทะเล ทางอากาศ และทาง internet
- หลักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยปราศจากการใช้กำลัง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สถานการณ์ในภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไป สหรัฐฯก็ต้องมีความยืดหยุ่นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ โดยนอกจากจะคงบทบาทในภูมิภาค แต่ในอนาคต สหรัฐฯจะต้องเพิ่มบทบาทด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพิ่มสมรรถนะภาพใหม่ๆ และปฏิรูปกองกำลังทหาร เพื่อเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ

Gates กล่าวต่อไปว่า ปฏิสัมพันธ์ทางทหารของสหรัฐฯ จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพในภูมิภาค ในขณะนี้ ถึงแม้จะมีการพูดกันมากว่า สหรัฐฯเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สหรัฐฯกำลังปรับยุทธศาสตร์ใหม่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยให้มีความสมดุลในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะการเน้นการคงบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในมหาสมุทรอินเดีย

Gates กล่าวต่อไปว่า ในอนาคต ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯ จะเน้นปฏิสัมพันธ์ทางทะเล การฝึกอบรมในลักษณะพหุภาคีกับประเทศต่างๆในภูมิภาค นอกจากนี้ กองทัพเรือและกองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังร่วมมือกันในการพัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า Air-Sea Battle เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า กองกำลังสหรัฐฯจะสามารถเคลื่อนย้ายและปฏิบัติการทางทหารได้ เพื่อปกป้องพันธมิตรและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

กล่าวโดยรวม ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ เน้นการคงและเพิ่มบทบาททางทหารในเอเชีย โดยการสนับสนุนพันธมิตร ในขณะเดียวกัน ก็เตรียมพร้อมในการป้องปรามและเอาชนะศัตรูในอนาคต

พันธมิตร

ประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญมากที่สุด คือ พันธมิตรทางทหาร โดย Gates ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ ดังนี้

- ญี่ปุ่น : ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น ถือเป็นเสาหลักของเสถียรภาพในภูมิภาค
- เกาหลีใต้ : พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ ยังคงเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาค กองกำลังของทั้ง 2 ประเทศ จะพัฒนาสมรรถนะภาพร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องปรามและเอาชนะการรุกรานจากเกาหลีเหนือ
- ออสเตรเลีย : เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว สหรัฐฯและออสเตรเลีย ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขยายความร่วมมือทางทหารของทั้ง 2 ประเทศ
- สิงคโปร์ : ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับสิงคโปร์ ได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ภายใต้กรอบความตกลง Strategic Framework Agreement กองทัพเรือสหรัฐฯจะใช้สิงคโปร์เป็นฐานสำคัญ
- เวียดนาม : ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และทางทหาร
- อินเดีย : ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศกลายเป็นหุ้นส่วนกัน โดยความสัมพันธ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกัน และผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจร่วมกัน ความเป็นหุ้นส่วนของทั้ง 2 ประเทศ จะเป็นเสาหลักของเสถียรภาพในเอเชียใต้
เวทีพหุภาคี

Gates ได้กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ความสัมพันธ์ทวิภาคี จะมีความสัมพันธ์เป็นลำดับแรก แต่สหรัฐฯก็พยายามส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคีด้วย สิ่งท้าทายสำคัญในเอเชีย คือ การขาดกลไกความร่วมมือในภูมิภาค Gates ได้กล่าวว่า เขาได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้สหรัฐฯเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำเชิญของอาเซียน ที่จะเข้าร่วมการประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ซึ่งมีชื่อย่อว่า ADMM+8 โดยเขาหวังว่า เวทีนี้ จะมีความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล การบรรเทาภัยพิบัติ และการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

จีนและความมั่นคงทางทะเล

สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้น สหรัฐฯพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นบวก และสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ Gates กล่าวว่า เขาพยายามสร้างความร่วมมือทางทหารกับจีน เมื่อเดือนมกราคม Gates ก็ได้เดินทางไปเยือนจีน และเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว นายพล Chen ผู้นำทหารของจีน ก็ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม Gates ได้กล่าวว่า ความมั่นคงทางทะเล เป็นเรื่องที่สหรัฐฯห่วงกังวล (ถึงแม้ Gates จะไม่ได้กล่าวถึงจีน แต่เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์) โดยท่าทีของสหรัฐฯชัดเจน คือ สหรัฐฯมีผลประโยชน์แห่งชาติ ในเสรีภาพในการเดินเรือ และการค้า และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า โดยภาพรวมแล้ว สุนทรพจน์ของ Gates ในครั้งนี้ แม้จะเป็นการประกาศยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯล่าสุดต่อเอเชีย แต่ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์และนโยบายเดิมของสหรัฐฯ
• อย่างไรก็ตาม หากดูประเทศที่ Gates กล่าวถึงในการเป็นพันมิตรและหุ้นส่วน เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯเน้นพันธมิตรหลัก คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ส่วนหุ้นส่วนใหม่ที่ Gates พูดถึง คือ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่า Gates ไม่ได้กล่าวถึงไทยเลย โดยปกติแล้ว การประกาศนโยบายของสหรัฐฯต่อเอเชีย จะเน้นการกล่าวถึงพันธมิตรทางทหารทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย ผมมองว่า ขณะนี้ สถานการณ์การเป็นพันธมิตรของไทยน่าเป็นห่วง มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่า ในสายตาของสหรัฐฯ ไทยมีความสำคัญลดลง ซึ่งเรื่องนี้ อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ในระยะยาว ไทยอาจตกชั้นจากพันธมิตรชั้น 1 โดยประเทศที่มาแรง และกำลังจะแซงหน้าไทยในความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
• สำหรับในกรณีของจีนนั้น แม้ในสุนทรพจน์จะไม่ได้กล่าวโจมตีจีนในทางลบ แต่ในความเป็นจริง สหรัฐฯกำลังมองจีนว่าเป็นคู่แข่ง และเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นร้อนที่ชี้ให้เห็นถึงการมองจีนในแง่ลบมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความขัดแย้งในหมู่เกาะ สแปรตลีย์ แม้ Gates จะไม่ได้โจมตีจีนในสุนทรพจน์ แต่ในช่วงตอบคำถาม ก็ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯกำลังเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆต่อความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ Gates ถึงกับกล่าวว่า เขากลัวว่า หากปราศจากกฎเกณฑ์และวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน ความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่การปะทะกันทางทหารได้

ไม่มีความคิดเห็น: