การผงาดขึ้นมาของจีน (ตอนจบ)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 1 – วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2554
การผงาดขึ้นมาของจีน หรือ The Rise of China กำลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในปัจจุบันและในอนาคต คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์การผงาดขึ้นมาของจีน โดยได้วิเคราะห์พลังอำนาจแห่งชาติ ผลกระทบ เป้าหมายและพฤติกรรมของจีน ไปแล้ว สำหรับตอนนี้ จะเป็นตอนจบ โดยจะวิเคราะห์จุดอ่อนของจีน
• จุดอ่อนของจีน
สำหรับคำถามที่ว่า ในอนาคต จีนจะครองโลกหรือครอบงำโลกได้หรือไม่ และจีนจะมาแทนที่สหรัฐฯในการเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ได้หรือไม่ ในการตอบคำถามนี้ ผมมองว่า แม้ว่าในอนาคต จีนจะมีพลังอำนาจมากขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่จีนยังไม่น่าจะมีคุณสมบัติที่จะครองโลกหรือครอบงำโลกได้ และจีนยังไม่น่าจะมาแทนที่สหรัฐฯได้ ในฐานะมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ เพราะจีนมีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้
- ทางด้านเศรษฐกิจ
ในอนาคต ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายเรื่อง ที่อาจจะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสะดุดหรือชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมาก ต่อการผงาดขึ้นมาของจีนทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัว อาทิ
อัตราการเพิ่มของประชากรลดลงอยู่ที่ 1.75% จะทำให้ในอนาคต ประชากรของจีนจะหดตัว และจะทำให้ในอนาคต จีนจะมีประชากรที่มีอายุมากเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อแรงงานในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า ในอนาคต จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สดในโลก แต่ไม่ได้หมายความว่า จีนจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก เพราะระเบียบเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ภายใต้ฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเน้นทุนนิยม กลไกตลาด การค้าเสรี และการเปิดเสรีในทุกรูปแบบ แต่เศรษฐกิจของจีนสวนทางกับฉันทามติวอชิงตัน เศรษฐกิจของจีนยังเป็นเศรษฐกิจปิด อันดับของจีนในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 140 ของโลก จีนมีปัญหาทั้งเรื่องค่าเงินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง การเปิดเสรีทางการเงิน นโยบายเศรษฐกิจที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ไม่ใช่กลไกตลาด ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก โดยการเป็นผู้นำตามฉันทามติวอชิงตัน คือ การเป็นผู้นำในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของจีนใหญ่ที่สุดในโลก เพราะจีนมีประชากรถึง 1,300 ล้านคน ซึ่งถ้าหารออกมาเป็น GDP ต่อหัวแล้ว จีนจะยังคงตามห่างสหรัฐฯและตะวันตกอยู่อย่างมาก หมายความว่า ในอนาคต คุณภาพชีวิตของคนจีนจะยังสู้ตะวันตกไม่ได้
และการที่จีนมีระบอบเผด็จการ มีผลกระทบต่อการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของจีน เพราะจีนไม่สามารถเปิดกว้างในเรื่องเสรีภาพของการสื่อสารได้ ดังนั้น จีนจึงมีปัญหากับ Google และจีนก็ปิดกั้นการใช้ internet อย่างเข้มงวดมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จีนไม่ทันกับโลกอนาคต ที่เป็นยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน จีนจึงไม่สามารถเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกได้ ในอนาคต จะเป็นยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน แต่จีนกลับกำลังทำสงครามกับโลกาภิวัฒน์ทางด้านข้อมูลและเทคโนโลยี
- ด้านการทหาร
จุดอ่อนของจีนอีกประการ คือ อำนาจทางทหาร ถึงแม้จีนจะมีความพยายามอย่างมากในการทุ่มงบประมาณทางทหาร แต่ก็ยังห่างจากสหรัฐฯหลายช่วงตัว ตัวเลขปัจจุบัน งบประมาณทหารของจีนอยู่ที่ 45,000-70,000 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่งบทหารของสหรัฐฯสูงถึง 700,000 ล้านเหรียญ จีนคงต้องใช้เวลาอีกนานในการไล่ตามสหรัฐฯ
แต่ที่สำคัญกว่างบประมาณทางทหาร คือ การผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางทหารของโลกจะต้องได้รับความเชื่อใจ และประเทศต่างๆจะต้องยอมเป็นพันธมิตรทางทหารด้วยความเต็มใจ ซึ่งแนวโน้ม คือ จีนยังขาดตรงนี้อยู่มาก ในขณะที่สหรัฐฯได้รับการยอมรับ และมีพันธมิตรทางทหารอยู่ทั่วโลก และจะยังคงเป็นอย่างนี้อยู่อีกยาวนาน ในทางกลับกัน ท่าทีที่แข็งกร้าวทางทหารของจีนที่ผ่านมา ได้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านหวาดระแวงจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และการข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วยกำลังทางทหาร จะทำให้จีนไม่สามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางทหารในภูมิภาคและในโลกได้ จีนคงจะประสบความยากลำบากอย่างยิ่ง ที่จะสร้างพันธมิตรทางทหารเหมือนกับที่สหรัฐฯมีกับประเทศต่างๆทั่วโลก
ในช่วงที่ผ่านมา จีนพยายามอย่างยิ่งในความพยายามที่จะขายไอเดียเรื่อง การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวทางทหารของจีน โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้วและในปีนี้ ได้ทำลายภาพลักษณ์ของจีน โดยเฉพาะสโลแกน การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ ได้รับผลกระทบอย่างมาก พฤติกรรมของจีน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านหวั่นวิตก และนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน ญี่ปุ่นได้ประกาศว่า จีนจะกลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ สหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็มีแนวโน้มใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อที่จะให้สหรัฐฯมาถ่วงดุลทางทหารกับจีน และเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงจากภัยคุกคามจากจีนในอนาคต
- ด้านวัฒนธรรม
ผมมองว่า จุดอ่อนที่สุดของจีน ที่จะทำให้จีนไม่สามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลกได้ เหมือนกับที่สหรัฐฯเป็น คือ จุดอ่อนทางด้านวัฒนธรรมของจีน หรือที่เรียกว่า soft power ซึ่งก็คือ อำนาจทางวัฒนธรรมที่ต่างจาก hard power ที่เป็นอำนาจทางทหาร คือ อำนาจที่ไปบังคับให้คนอื่นเขาทำตามเราโดยที่เขาไม่เต็มใจ แต่ soft power เป็นอำนาจที่เราอยู่เฉยๆ แต่คนอื่นยอมทำตามเรา และยอมให้เราเป็นผู้นำด้วยความเต็มใจ ไม่ได้เป็นการบังคับ เพราะชื่นชมในตัวเรา มองในแง่นี้ จีนยังขาด soft power อยู่อีกมาก
สหรัฐฯนั้น มี soft power อย่างครบเครื่อง โดยออกมาในรูปแบบของวัฒนธรรมอเมริกัน ที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมไปทั่วโลก อาทิ รายการทีวี หนังฮอลลีวูด เพลง แฟชั่นการแต่งกาย วิถีชีวิตแบบอเมริกัน วัฒนธรรมการกินแบบอเมริกัน ภาษาอังกฤษ การครอบงำ internet การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และการศึกษาของโลก ทุนนิยมอเมริกัน คือ ตัวแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ทั่วโลกเลียนแบบ (ฉันทามติวอชิงตัน) หลักการบริหารจัดการทางธุรกิจของอเมริกัน ก็เป็นตัวแบบการทำธุรกิจของทั่วโลก สุดท้าย คือ ระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ก็เป็นตัวแบบที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ในทางกลับกัน เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ จีนไม่สามารถที่จะแข่งกับอเมริกาได้เลย ในมิติทางด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ภาพยนตร์ เพลง แฟชั่น วิถีชีวิต ภาษาจีนก็ไม่สามารถแข่งกับภาษาอังกฤษได้ จีนไม่สามารถแข่งกับอเมริกาได้ในโลก internet สถาบันการศึกษาจีนก็ไม่สามารถแข่งกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาได้ เช่นเดียวกับตัวแบบเศรษฐกิจ และการบริหารธุรกิจ จีนก็ไม่สามารถท้าทายตัวแบบอเมริกันได้เลย
สุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน คือ ระบบการเมือง จีนยังมีระบบเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นแกะดำในสังคมโลก ประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก ในขณะนี้ ระบบการเมืองก็ได้เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยไปเกือบหมดแล้ว แต่จีนยังมีระบบการเมืองที่ล้าหลัง
ทั้งหมดนี้คือ จุดอ่อนทางด้าน soft power ของจีน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในอนาคตได้
ผมยังมองด้วยว่า มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต จีนจะไม่สามารถแข่งกับอเมริกาได้ เพราะในที่สุด วัฒนธรรมอเมริกันก็จะแทรกซึมเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว คนจีนรุ่นใหม่นิยมดูหนังฮอลลีวูด ฟังเพลงอเมริกัน ใส่กางเกงยีนส์และเสื้อยืด กินแมคโดนัลด์และสตาร์บัคส์ และนิยมไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่อเมริกา ดังนั้น ในที่สุดแล้ว จีนจะไม่สามารถท้าทายสหรัฐฯได้ และอาจจะแพ้สหรัฐฯ ตรงที่จีนมีจุดอ่อนมากที่สุด ก็คือ ด้านวัฒนธรรมนี่เอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น