Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ปี 2011

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 – วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2554

ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่วิกฤตที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจลุกลามใหญ่โตจนอาจเป็นสงครามในอนาคตได้ คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ปีที่แล้ว สหรัฐฯได้จุดประเด็นปัญหานี้ ในระหว่างการประชุม ARF ที่เวียดนาม ท่าทีของสหรัฐฯทำให้จีนไม่พอใจมาก หลังจากนั้น จีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ โดยเกิดความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม เรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯได้จอดเทียบท่าที่เมืองดานัง และเวียดนามได้ประณามจีนในการส่งเรือรบเข้าไปในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นของตน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาต่อมา จีนและอาเซียนได้พยายามคลี่คลายให้ปัญหาลดความร้อนแรงลง ด้วยการหันกลับมาเจรจา แต่ล่าสุด ก็เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง และวิกฤตครั้งใหม่ขึ้นอีก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

เวียดนาม

วิกฤตได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเร็วๆนี้ โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม ได้ออกมากล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า เรือประมงจีนและเรือรบของจีนอีก 2 ลำ ได้ทำความเสียหายแก่สายเคเบิลเรือสำรวจก๊าซและน้ำมันของบริษัทพลังงานเวียดนาม ที่มีชื่อว่า Petro Vietnam และต่อมาได้มีการเดินขบวนของชาวเวียดนามนับพันคน ทั้งที่ฮานอย และโฮจิมินห์ ซิตี้ เพื่อประท้วงการกระทำของจีน และล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เวียดนามได้ทำการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งเวียดนาม

ส่วนจีนได้ตอบโต้กลับไป โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้กล่าวว่า เรือประมงของจีนได้ลอยลำอยู่ในเขตหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเป็นเขตน่านน้ำของจีน และกล่าวว่า ลูกเรือเพียงพยายามป้องกันตนเอง เพราะกำลังถูกเรือสำรวจน้ำมันของเวียดนามและ เรือรบของเวียดนามไล่ล่า การกล่าวอ้างของเวียดนามจึงไม่เป็นความจริง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนย้ำถึงอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ดังนั้น ในการสำรวจน้ำมันอย่างผิดกฎหมาย เวียดนามจึงละเมิดอธิปไตยของจีนอย่างรุนแรง จีนจึงขอให้เวียดนาม ยุติการกระทำดังกล่าว

ฟิลิปปินส์

และในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากเวียดนามแล้ว ฟิลิปปินส์ก็ได้ออกแถลงการณ์โจมตีจีนอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า จีนได้ทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ด้วยการส่งเรือรบเข้ามาข่มขู่ประเทศต่างๆในทะเลจีนใต้ โดยทางฟิลิปปินส์ได้ประท้วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีเหตุการณ์ที่เรือรบของจีนได้ยิงปืนเข้าใส่เรือประมงของฟิลิปปินส์ ข่มขู่เรือสำรวจน้ำมันของฟิลิปปินส์ กระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ได้กล่าวว่า การกระทำของจีนในน่านน้ำของฟิลิปปินส์ ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์ โดยเหตุการณ์ที่ถือว่ารุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เมื่อเรือรบของจีน ได้ยิงปืนเข้าใส่เรือประมงฟิลิปปินส์ ในบริเวณเกาะ Jackson Atoll ซึ่งฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นของตน นอกจากนี้ ในวันที่ 2 มีนาคม เรือรบจีน 2 ลำ ได้ข่มขู่เรือสำรวจน้ำมันของฟิลิปปินส์ และ จีนกำลังทำการก่อสร้างเพิ่มเติมในบริเวณเกาะที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นของฟิลิปปินส์ ที่มีชื่อเรียกว่า Amy Douglas Bank

อย่างไรก็ตาม ทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยตอกย้ำว่า จีนต้องการสันติภาพ และได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการสำรวจทรัพยากรในเขตน่านน้ำของจีน เขากล่าวว่า จีนจะไม่ใช้กำลัง นอกจากจะถูกโจมตีก่อน

ต่อมา เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “ทะเลจีนใต้” (South China Sea) เป็น “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” (West Philippines Sea) โดยโฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้บอกว่า ทางกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” อย่างเป็นทางการแล้ว และอ้างว่า เวียดนาม ก็ได้เปลี่ยนชื่อทะเลจีนใต้มาเป็น “ทะเลตะวันออก” (East Sea) แล้วเหมือนกัน

ไต้หวัน

ไต้หวันก็เป็นอีกคู่กรณีหนึ่งที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมดเหมือนจีน โดยล่าสุด โฆษกกระทรวงกลาโหมของไต้หวันได้ออกมาประกาศว่า ไต้หวันมีแผนที่จะส่งเรือรบเข้ามาในเขตทะเลจีนใต้ และส่งรถถังไปประจำการบนเกาะที่ไต้หวันครอบครองอยู่ โดยช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ไต้หวันประกาศตอกย้ำความเป็นเจ้าของหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด โดยไต้หวันได้ส่งทหารจำนวน 130 นาย เข้าไปประจำการอยู่บนเกาะ Taiping ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลจีนใต้ ซึ่งไต้หวันครอบครองอยู่

อาเซียน

สำหรับบทบาทของอาเซียนนั้น ในปี 2002 ได้มีการทำปฏิญญาระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธี และหลังจากนั้น ได้มีความพยายามที่จะเจรจา Code of Conduct แต่การเจรจาก็สะดุด ติดขัด มาโดยตลอด เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเรื่องนี้กับอาเซียนที่เมืองคุนหมิง แต่ก็ประสบความล้มเหลว ไม่คืบหน้า โดยมีการวิเคราะห์กันว่า อาเซียนเองก็เสียงแตก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศอาเซียนบางประเทศก็ถือหางจีน โดยเฉพาะ พม่า ลาว และกัมพูชา ประเทศที่เป็นคู่กรณีกับจีนในเรื่องนี้โดยตรง มีเพียง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ส่วนไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง คือ ไม่ได้ ไม่เสียอะไร ฉะนั้น อาเซียนจึงไม่มีเอกภาพในการเจรจากับจีน

สหรัฐฯ

ตัวแปรสำคัญและผู้ที่อยู่เบื้องหลังฉากของความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ คือ สหรัฐฯ โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯในภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ดังนั้น การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และทำให้จีนกับประเทศอาเซียนทะเลาะกัน จึงเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหารด้วย เห็นได้ชัดว่า จากการที่สหรัฐฯจุดชนวนเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว เป็นการแสดงให้เห็นท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้อย่างชัดเจน และทำให้ประเทศเล็กๆในอาเซียนพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น เพราะรู้ดีว่ามีสหรัฐฯถือหางอยู่เบื้องหลัง ปัจจัยนี้ น่าจะอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมเวียดนามกับฟิลิปปินส์ถึงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับจีนในครั้งนี้

โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ Robert Willard ผู้บัญชาการกองทัพเรือของสหรัฐฯในภูมิภาคแปซิฟิก ได้กล่าวในการประชุมสัมมนาที่มาเลเซียว่า กองทัพเรือของสหรัฐฯมีเป้าหมายที่จะคงบทบาททางทหารในทะเลจีนใต้ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มบทบาทมากขึ้นในอนาคต

จีน

การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆในภูมิภาค ทั้งกับมหาอำนาจ และกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกรณีปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ จีนตกอยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ในแง่หนึ่ง จีนก็ต้องการที่จะชูสโลแกน “การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ” (peaceful rise) โดยไม่ต้องการมีปัญหาขัดแย้งกับใคร โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ต้องการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ และการครอบครองทะเลจีนใต้ ก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม อาจสรุปได้ว่า จีนกำลังประสบกับทางแพร่งที่สำคัญทางด้านนโยบายต่างประเทศ คือ จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านหวั่นวิตก มหาอำนาจทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มเพิ่มบทบาททางทหารมากขึ้นเพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็มีแนวโน้มจะใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯมาถ่วงดุลทางทหารกับจีน และที่สำคัญ คือ สโลแกน “การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ” หรือ peaceful rise กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ไม่มีความคิดเห็น: